xs
xsm
sm
md
lg

"หาดทิพย์" สู่ที่มั่น เป้า 1.5 หมื่นล้านปี 75 โอกาสให้แตกไลน์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC ผู้รับสิทธิ์การผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเครือ โคคา-โคลา คัมปะนี อเมริกา หรือเครื่องดื่มน้ำอัดลม โค้ก ที่เรารู้จักกันดี ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น หรือรวมตั้งแต่ช่วงแรกในปี 2512 ที่ก่อตั้งยังเป็นชื่อ บริษัท นครทิพย์ จำกัด รับลิขสิทธิ์การผลิตและจำหน่ายใน 3 จังหวัดคือ สงขลา สตูล และยะลา ก็มีอายุนานกว่า 55 แล้วนั้น เป็นที่รับรู้กันว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มในเครือโคคา-โคลาเป็นธุรกิจหลัก หรือที่เรียกกันในวงการว่าเป็น บอทเลอร์ นั่นเอง

ทว่า การเคลื่อนทัพทางธุรกิจของ หาดทิพย์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามานี้ถือได้ว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง กับการแตกไลน์ธุรกิจออกไป ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม และที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย


*** แตกแถวน้ำอัดลม สู่ธุรกิจใหม่
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ การสวมบทบาทเป็นผู้พัฒนาที่ดินในตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้ ด้วยการก่อตั้ง บริษัท หาดทิพย์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกที่ชื่ื่อว่า โครงการ เดอะ เฮเว่น กาญจนวนิช ตั้งอยู่ใกล้ที่ตั้งบริษัทแม่ ถ.คลองยาเหนือ ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ จำนวน 65 หลัง มูลค่ารวม 320 ล้านบาท โครงการแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรกจำนวน 13 หลัง คาดว่าจะขายได้หมดในปี 2565

ตัวโครงการมีให้เลือก 4 แบบ คือ บ้านเดี่ยว Harrington ราคาเริ่มต้น 5,800,000 บาท เนื้อที่เริ่มต้น 75.1 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอยประมาณ 195 ตร.ม. 4 ห้องนอน, 4 ห้องน้ำ, 3 ที่จอดรถ, บ้านเดี่ยว Hampton ราคาเริ่มต้น 4,850,000 บาท เนื้อที่เริ่มต้น 54.2 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอยประมาณ 160 ตร.ม. 3 ห้องนอน, 3 ห้องน้ำ, 1 ห้องอเนกประสงค์, 2 ที่จอดรถ, บ้านเดี่ยว Hudson (ฮัดสัน) ราคาเริ่มต้น 4,360,000 บาท เนื้อที่เริ่มต้น 51.7 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอยประมาณ 150 ตร.ม. 3 ห้องนอน, 2 ห้องน้ำ, 2 ที่จอดรถ และบ้านแฝด Harris (แฮร์ริส) ราคาเริ่มต้น 3,890,000 บาท เนื้อที่เริ่มต้น 43.1 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอยประมาณ 148 ตร.ม. 3 ห้องนอน, 2 ห้องน้ำ, 2 ที่จอดรถ

การเริ่มเพียงโครงการแรกก็ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขายเฟสที่สองแล้ว


จุดเริ่มของการทำบ้านจัดสรร พลตรี พัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า หาดทิพย์เราอยู่ภาคใต้มานานมากกว่าห้าสิบปีแล้ว เรามีความผูกพันกับชุมชน และผู้บริโภคก็รู้จักชื่อเสียงเราดี เราเลยมองว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีก และเราเองก็มีที่ดินหรือแลนด์แบงก์ของบริษัทมากพอสมควร น่าจะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเดิม จึงคิดทำบ้านขายเพราะบ้านเป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้ว ตลาดก็ยังมีความต้องการมาก แต่เราก็ยังไม่ได้ทำใหญ่โต เริ่มต้นทำเล็กๆ ไปก่อน
จากโครงการแรกจะมีโครงการสองหรือสามตามมาหรือไม่นั้น ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากเรามีแลนด์แบงก์จำนวนมาก บางแปลงก็หลายไร่ ทำเลดี เอื้อต่อการลงทุนเช่นกัน และนอกเหนือจากสงขลาแล้วก็ยังมองไปที่อื่น เช่น กระบี่ ภูเก็ต เป็นต้น

ไม่ใช่แค่เรื่องบ้าน แต่เรื่องอาหารก็อยู่ในความคิดด้วยเช่นกัน เพราะทั้งบ้านและอาหารก็ล้วนเป็น 1 ในปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งนั้น

โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจอาหาร เมื่อปี 2563 ที่หาดทิพย์เองก็มองว่าเป็นสิ่งที่คู่กันกับเครื่องดื่มอยู่แล้วไม่น่าจะยากเกินไป อีกทั้งไม่ได้ลุยเดี่ยวเพียงลำพัง เพราะเป็นการร่วมมือกับทางผู้ประกอบการธุรกิจอาหารอยู่แล้วด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุนกับทางกลุ่มเซ็นกรุ๊ป เพื่อตั้งบริษัท กินดีอยู่ดี 2020 จำกัด โดยกลุ่มหาดทิพย์ถือหุ้น 75% และกลุ่มเซ็นถือหุ้น 25% ผ่านบริษัท เซ็น แอนด์ สไปซี่ จำกัด เพื่อร่วมกันขยายร้านเขียงใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งร้านเขียงเป็นสไตล์สตรีทฟูดชื่อดังของทางเซ็นกรุ๊ป


อย่างไรก็ตาม การกระโจนเข้าสู่สมรภูมิร้านอาหารนั้นก็ไม่ได้หวือหวาอะไรมากมายนัก

ใช่ว่าจะมีแต่ความสำเร็จกับการแตกธุรกิจใหม่ เพราะมีอีกหลายอย่างที่ หาดทิพย์ กระโดดเข้าไปในสนามรบใหม่ๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จก็มี ไม่ว่าจะเป็น บริษัท หาดทิพย์  คอมเมอร์เชียล จำกัด ที่เริ่มเป็นเจ้าของแบรนด์ตัวเองคือ “EMCA MIRACAL SERUM” และเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า 500 SKU ทั้งอาหารและขนมขบเคี้ยว เช่น ถั่วลันเตาอบกรอบตรากรีนนัท, ปลาสวรรค์ ตราทาโร, สมุนไพรทอดกรอบ หนังปลาแซลมอนทอดกรอบ คางกุ้งทอดกรอบ บริษัท โอยั๊วะ เทรดดิ้ง จำกัด, ปลากระป๋อง ไฮเชฟ บริษัท อนุสรณ์มหาชัย ซูริมิ จำกัด, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อินโดหมี่ บริษัท VCAN และเครื่องปรุงรส น้ำปลาร้าปรุงรส หม่ำ / แม่น้อย ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าอนามัย เอลิส, Modess, Carefree, กระดาษทิชชู Elleair, น้ำยาระงับกลิ่นปาก LISTERINE, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย Neutrogena, Clean&Clear, Johnson & Johnson, ไลฟ์บอย บริษัท VCAN ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก (Mom & Baby) ได้แก่ GOON, GOON Friend, Johnson's Baby ผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลและทำความสะอาดบ้าน (Home Care) ได้แก่ กระดาษชำระ Clean Care, Livi ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Health & Medicine) ได้แก่ TYLENOL, วู้ดส์ เม็ดอมสมุนไพร บริษัท กิตจิมาญา (ประเทศไทย) จำกัด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ สุราปรุงพิเศษ S88, S99, S99 Grande บริษัท CCM Spirits,

ยังมี บริษัท หาดทิพย์ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจเจส จำกัด ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งต่อมาก็ต้องพับตัวเองไปเช่นกัน

ทางหาดทิพย์ก็ต้องยกธงขาวบอกเลิกกับธุรกิจใหม่เหล่านี้ ด้วยเหตุผลการเลิกกิจการทั้ง 3 บริษัทที่แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ปี 2566 ว่า สืบเนื่องจากผลขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและภาวะการดำเนินงานไม่เอื้ออำนวย และจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนเลิกบริษัทย่อยดังกล่าว และชำระบัญชีให้เป็นขั้นตอนที่กฎหมายธุรกิจกำหนดต่อไป

แม้ว่าจะไม่สำเร็จในหลายธุรกิจที่กระจายออกไปก็ตาม แต่ซีอีโอของหาดทิพย์ก็มองว่าเรายังไม่ย่อท้อที่จะทำอะไรใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของโอกาส แต่ก็ต้องศึกษาและมีความพร้อมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็ขาดทุนไปหลายร้อยล้านบาทเหมือนกัน

ในอนาคตหาดทิพย์ก็อาจจะประสบความสำเร็จกับธุรกิจใหม่บ้าง เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าไปได้ดีระดับหนึ่ง


*** ธุรกิจหลักยังคงเป็นบอทเลอร์โค้ก
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลักของ หาดทิพย์ ก็ยังคงเป็นบอทเลอร์เครื่องดื่มของค่ายโคคา-โคลา เพราะซีอีโอกล่าวว่า แม้ว่าเราจะเป็นผู้นำตลาดในภาคใต้ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตที่ดีมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ด้วยประชากรจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน กับปริมาณการดื่มน้ำอัดลมที่ยังมีโอกาสในการที่จะขยายตัวได้อีกมาก

เพราะคนไทยในภาคใต้ดื่มน้ำอัดลมประมาณ 154 เสิร์ฟต่อคนต่อปี (ขวดขนาด 8 ออนซ์ต่อปีต่อคน) ยังมีโอกาสอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น เม็กซิโก ที่มากถึง 400 เสิร์ฟต่อคนต่อปี

“ธุรกิจหลักของ หาดทิพย์ ก็ยังคงเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มของโคคา-โคลา อยู่เหมือนเดิม” ซีอีโอหาดทิพย์ย้ำชัดเจน

ทุกวันนี้หาดทิพย์เป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่งตลาดในภาคใต้โดยรวมมากกว่า 80%
บทรุกของตลาดน้ำอัดลมจึงมีความดุดันและเข้มข้นมากกว่าธุรกิจอื่นแน่นอน


*** เปิดแผนรุกสู่รายได้ 15,000 ล้านบาท
พลตรี พัชรกล่าวว่า เป้าหมายระยะกลางจากนี้ถึงปี 2570 (ค.ศ. 2027) จะต้องสร้างยอดขายรวมไม่ต่ำกว่า 11,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดรวมภาคใต้ 30%

ส่วนแผนระยะยาว ภายในปี 2575 (ค.ศ. 2032) มีเป้าหมายต้องสร้างรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท พร้อมทั้งยึดครองส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 35% ให้ได้

ทั้งนี้ ปี 2567 นี้วางแผนลงทุนต่อเนื่องในการขยายกิจการ และการขยายตลาด โดยปกติแต่ละปีจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทอยู่แล้ว แต่ว่าปีนี้พิเศษเพิ่มเติมกับการลงทุนอีก 800 ล้านบาท ในการสร้างไลน์การผลิตใหม่ที่เป็นขวดแก้วแบบคืนขวด ที่โรงงานพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำลังผลิตประมาณ 800 ขวดแก้วต่อนาที คาดว่าจะเดินเครื่องการผลิตได้ไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของยอดขายในช่องทางโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร ที่ผลักดันให้มูลค่าตลาดรวมเพิ่มอีก

“เรามองว่าผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วชนิดคืนขวดยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในช่องทางโรงแรม ร้านอาหาร และภัตตาคาร ซึ่งมีความเหมาะสมกับบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ เนื่องจากผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มของเราภายในร้าน (on-premise consumption) และเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เรามีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ การมีธุรกิจขวดแก้วที่แข็งแกร่งจะทำให้เราสามารถบริหารต้นทุนบรรจุภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเราอีกด้วย” พลตรี พัชรกล่าว


ขณะเดียวกันยังลงทุนอีก 500 ล้านบาท เพื่อขยายคลังสินค้าเพิ่มเติมอีกประมาณ 10,000 ตารางเมตร จากเดิมที่มีพื้นที่รวมประมาณ 30,000 ตารางเมตร ที่สุราษฎร์ธานี

สำหรับกลยุทธ์หลักๆ ในการสร้างการเติบโตของหาดทิพย์นั้น ก็คือ
1. การขยายช่องทางการตลาดการจำหน่ายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
2. การขยายพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของโคคา-โคลา ที่บริษัทแม่มีมากกว่า 500 รายการ แต่ปัจจุบันหาดทิพย์นำเข้ามาทำตลาดในไทยเพียงแค่ 12 แบรนด์เท่านั้น นั่นหมายถึง โอกาสใหม่ๆ ยังเปิดกว้าง เพียงแต่รอจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องดื่มดให้พลังงาน, กาแฟ และอื่นๆ เช่น สนใจทำตลาดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์เช่น แบรนด์ แจ๊คโค้ก ที่มีขายแล้วในญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
3. การขยายกำลังผลิตต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาด

เป้าหมายรวมของปี 2567 ในทุกมิติของหาดทิพย์ คือรายได้รวมต้องเติบโต 6%-8%, ปริมาณการจำหน่ายในแง่จำนวนต้องเติบโต 4%-6%, กำไรเบื้องต้นต้องมากกว่า 40%, กลุ่มไม่มีน้ำตาลจะต้องเติบโต 43% และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 4.5%, รักษาสถานภาพผู้นำตลาดไว้, การขยายตลาด, การออกสินค้าใหม่ รสชาติใหม่ แบรนด์ใหม่ หรือกลุ่มอื่นๆ รวมไปถึงเป้าหมายในแบบคูลเลอร์ต้องโต 20-25% และที่สำคัญต้องเพิ่มช่องทางร้านค้าใหม่ๆอีก 10% หรือให้มากกว่าเดิม 50,000 จุดขาย และการขยายโอกาสในช่องทางดิจิทัลออนไลน์ด้วย


*** ปี 2566 รายได้ทุบสถิติรอบ 5 ปี
ปีที่แล้วถือว่าเป็นปีที่หาดทิพย์ทำผลงานได้ดีอีกปีหนึ่งก็ว่าได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ค่อยดีมากนัก

นายอัมริท คุมาร์ เซรสธา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2566 หาดทิพย์มียอดขายรวม 7,806 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขายสูงสุดในรอบ 5 ปี และเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 13.6% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิรวม 598 ล้านบาท เติบโตจากปี 2565 ถึง 38.8% และส่งผลให้กินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 42.2% จากปี 2565 ที่มี 40.9%

โดยตัวที่ผลักดันการเติบโตมากคือ กลุ่มซีโรซูการ์หรือกลุ่มไม่มีน้ำตาล โตมากถึง 31% แม้ว่าจะเป็นสัดส่วนรายได้ที่น้อยเพียง 3.1% ก็ตาม ส่วนมาร์เกตแชร์ในกลุ่มเครื่องดื่มสปาร์กกลิ้ง มีส่วนแบ่งในภาคใต้รวม 24.9% ขณะที่น้ำดื่มน้ำทิพย์มีแชร์ในตลาดน้ำดื่มภาคใต้ 7.2% เพิ่มจากปีก่อนที่มี 6.8%

ส่วนช่องทางจำหน่ายของหาดทิพย์ที่เติบโตดีในปี 2566 ก็คือ ร้านคอนวีเนียนสโตร์ เติบโต 19% และช่องทางโฮเรกา เติบโต 46% 


ปี 2566 เป็นปีที่ยอดขายสูงที่สุดในรอบ 5 ปี หรือสูงกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ บริษัทฯ ประเมินว่ายอดขายที่เติบโตขึ้นเป็นอานิสงส์มาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้ที่มีการฟื้นตัวเร็วกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้มีการปรับราคาขายในบางขนาดในช่วงสิงหาคม 2565 และเมษายน 2566 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% และ 1.5% ตามลำดับ

“ในปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึงกว่า 28 ล้านคน หรือเติบโตจากปี 2565 ถึง 154% โดยถ้าดูจากสถิติการเข้าพักในโรงแรมและที่พักต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว จะพบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ภาคใต้สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ บริษัทฯ จึงใช้กลยุทธ์สร้างการเติบโตของรายได้ ผ่านการกำหนดขนาด รูปแบบผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่ายที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่องทางธุรกิจ โรงแรม ร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อที่มีการเติบโตของยอดขายสูงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็มีการปรับราคาขายขึ้นเล็กน้อย พร้อมทั้งเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตควบคู่กันไป ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตสูงถึง 38.8%”

ทั้งนี้ หาดทิพย์มีรายได้รวมที่ดีต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) เป็นต้นมา ตั้งแต่ 6,425 ล้านบาท เพิ่มมาเล็กน้อยเป็น 6,518 ล้านบาท เมื่อปี 2564 และปี 2565 เพิ่มขึ้นมากเป็น 6,873 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วปี 2566 ถือว่าทำรายได้ดีมาก ทะลุถึง 7,806 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมาถึงประมาณ 1,000 ล้านบาท มากกว่าปี 2565 ถึง 13.6%

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2562 (ค.ศ. 2019) ที่มีการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องมาถึงปี 2563 ที่ทำให้รายได้รวมลดลงไปจาก 6,776 ล้านบาท เหลือ 6,425 ล้านบาท แต่ก็เติบโตขึ้นมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563

สำหรับสัดส่วนรายได้ของหาดทิพย์เมื่อแยกเป็นแบรนด์เครื่องดื่ม แน่นอนที่สุดว่าย่อมจะต้องเป็น โค้ก 69%, แฟนต้า 17%, สไปร์ท 6%, น้ำทิพย์ 3%, ชเวปส์ 3%, มินิทเมด 1% และอื่นๆ 1% ที่เหลือคืออีก 6 แบรนด์รวมกัน

ขณะที่หากมองในมุมของบรรจุภัณฑ์ที่หาดทิพย์ทำตลาดนั้น มีสัดส่วนของการสร้างรายได้ที่แตกต่างกันไป คือ ขวด PET มากที่สุด 75%, รองลงมาแต่ทิ้งห่างกันมากคือ กระป๋อง 19%, RGB & Non RGB 3% และอื่นๆ อีก 3%














กำลังโหลดความคิดเห็น