xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมจับตางาน "อิตาเลียนไทย" กว่า 6.5 หมื่นล้าน เช็ก 'ทางด่วน-มอเตอร์เวย์-ทางคู่-ไฮสปีด' ยังสร้างตามแผน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผย "อิตาเลียนไทย" กำลังก่อสร้างโครงการงาน "คมนาคม" ทั้งทางด่วน-ถนน-รถไฟทางคู่-ไฮสปีดไทย-จีน มีมูลค่ารวมกว่า 6.5 หมื่นล้านบาทภาพรวมยังทำงานปกติตามแผน ประสานงานใกล้ชิดหลังเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง หวั่นมีปัญหากระทบภาพรวม 

รายงานข่าวเปิดเผยว่า จากกรณีที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก จากที่มีทรัพย์สินกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ก็มีหนี้สินกว่า 1 แสนล้านบาทเช่นกัน ล่าสุดสถานะการเงินย่ำแย่หนักถึงขั้นเงินไม่พอจ่ายผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรกต์) ซัปพลายเออร์และพนักงาน และคนงานก่อสร้าง ทำให้มีการจ่ายเงินล่าช้า ซึ่งสาเหตุทที่ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องมาจากการที่บริษัทไปลงทุนในต่างประเทศ แต่โครงการไม่เป็นไปตามแผน และประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ ถือเป็นผู้รับเหมารายใหญ่แถวหน้าของประเทศ และมีโครงการใหญ่ในมือจำนวนมาก โดยเฉพาะงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ทั้งถนน มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ซึ่งปัจจุบันยังมีอีกหลายงานที่กำลังก่อสร้าง หากบริษัทมีปัญหาสภาพคล่องอาจจะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของงานได้  

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่ากทพ.มีสัญญาก่อสร้างกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ ในโครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญา 3 (งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง) โดยดำเนินการในนามกิจการร่วมค้าไอทีดี-วีซีบี ร่วมกับ บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง มูลค่า 6,877 ล้านบาท 

ขณะนี้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนงาน ยังไม่พบปัญหาอะไรจากประเด็นที่ทางอิตาเลียนไทยฯ ขาดสภาพคล่อง ซึ่งในสัญญานี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรมว.คมนาคม ได้กำชับให้ กทพ.เร่งรัดการก่อสร้างในส่วนของทางขึ้นลงถนนสุขสวัสดิ์ ช่วงที่ต่อเชื่อมกับสัญญาที่ 4 ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เพื่อให้สามารถเปิดใช้สะพานคู่ขนานฯ ในกลางปี 2567 นี้ ซึ่งผู้รับเหมา สัญญาที่ 3 คือ อิตาเลียนไทยฯ และพันธมิตร ได้รับปากว่าจะเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วขึ้นได้ โดยจะมีการเพิ่มคานเหล็กขนาดใหญ่ในการก่อสร้างอีก 2 ตัว ซึ่งกำหนดจะทำให้เสร็จในเดือน มิ.ย. 2568

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทางอิตาเลียนไทยฯ มีปัญหาสภาพคล่องมากขึ้นจนกระทบการก่อสร้าง ทาง กทพ.มีแผนรองรับอย่างไรหรือไม่ นายสุรเชษฐ์กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีประเด็นที่จะเป็นปัญหาที่น่ากังวล 

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมทางหลวงรับทราบกรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ มีปัญหาสภาพคล่องแล้วซึ่งได้มีการติดตามตรวจสอบภายใน ซึ่งยังไม่พบความผิดปกติในการทำงานก่อสร้างหรือมีการแจ้งปัญหามาจากทางบริษัท โดยขณะนี้ทุกอย่างยังดำเนินการตามขั้นตอนและระยะเวลาตามสัญญา

โดยกรมทางหลวงมีสัญญาก่อสร้างกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน 3 ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย จ.สมุทรสาคร ช่วงกม.ที่ 18+642-กม.ที่ 20+295 ระยะทาง 1.65 กม. วงเงิน 2,491 ล้านบาท คืบหน้า 91.653% ล่าช้า 8.347% (แผนกำหนด 100%) เริ่มต้นสัญญาวันที่ 28 ส.ค. 2562 สิ้นสุดวันที่ 25 ต.ค. 2566 มีการขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 21 พ.ย. 2567 อุปสรรคที่ทำให้งานก่อสร้างล่าช้าเกิดจากการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินบางช่วงไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการก่อสร้างทางเลี้ยวเข้าถนนเอกชัยเพื่อไปยังมหาชัย ไม่สามารถทำได้เป็นระยะทาง 600 เมตร โดยเพิ่งแก้ไขได้เมื่อเดือน ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 7 ช่วง กม.ที่ 29+772-กม.ที่ 31+207 ระยะทาง 1.435 กม. วงเงิน 1,868 ล้านบาท ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้า 31.475% ล่าช้า 13.033% (แผนงานกำหนด 44.508%) เริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 สิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 อุปสรรคที่ทำให้ก่อสร้างล่าช้ามาจากติดปัญหาการก่อสร้างตอม่อในแม่น้ำท่าจีน อยู่ระหว่างขออนุญาตกรมเจ้าท่า (จท.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ โดยขออนุญาตไปเมื่อเดือน ส.ค. 2566

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟท.มีอิตาเลี่ยนไทยฯ เป็นคู่สัญญาก่อสร้าง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103.7 กิโลเมตร ผู้รับจ้างก่อสร้างคือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ มูลค่างาน  26,560 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน) เริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 มกราคม 2571 ซึ่งภาพรวมงานยังไม่มีปัญหา 

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรก ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2566  

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมามี  3 สัญญา ได้แก่ 

สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า มูลค่างาน 9,348,995,700 บาท, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท, สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มูลค่างาน 6,573 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างยังเดินหน้าตามแผน ซึ่ง รฟท.พยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายที่เกี่ยวกับโครงการนี้ใหม่เร็วขึ้น เพื่อพยุงการทำงานและไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องกระทบต่อการก่อสร้างในภาพรวมของโครงการ 


กำลังโหลดความคิดเห็น