การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบ 2 ในเดือน เม.ย.นี้ตามเป้าหมายกระทรวงแรงงานล่าสุดสรุปการคำนวณสูตรได้ข้อยุติปรับอีก 1.5% จากเดิมที่ปรับขึ้นในวันที่ 1 ม.ค. 67 เฉลี่ย 2-16 บาท/วันหรือปรับขึ้นเฉลี่ยที่ 2.37% ซึ่งการปรับอีก 1.5% สูงสุดยังคงไม่ถึง 400 บาท/วัน นัดถก 26 มี.ค.นี้หลังยังไร้ข้อยุติกรณีจะปรับขึ้นเป็นรายเขตและประเภทกิจการ ส.อ.ท.ชี้รัฐขึ้นค่าจ้างซ้ำเติม SMEs หนัก
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า วันที่ 26 มีนาคม 2567 คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดเพื่อมาพิจารณาจัดทำสูตรในการคำนวณใหม่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงสำรวจข้อมูลที่จะมาประกอบสูตรใหม่ที่เหมาะสมเพื่อประกาศขึ้นค่าแรงในปี 2567 รอบที่ 2 ที่กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายที่จะประกาศให้ทันในเดือน เม.ย.นี้ โดยเบื้องต้นจากการประชุมเมื่อ 27 ก.พ.นี้ได้ข้อยุติในเรื่องของการคำนวณสูตรออกมาเบื้องต้นคือค่าแรงจะเป็นสูตรที่เพิ่มขึ้นอีก 1.5% จากการปรับขึ้นค่าแรงเมื่อ 1 ม.ค. 67 เฉลี่ยที่ขึ้น 2-16 บาท/วันหรือรวมขึ้นเฉลี่ย 2.37%
"การคำนวณสูตรใหม่จะอิงที่ประสิทธิภาพแรงงาน ใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายจังหวัด และอิงอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามสูตรที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานปี 2560 (ม.87) ซึ่งอัตราที่บวกเพิ่มจาก 2.37% อีก 1.5% นั้นจะปรับขึ้นบวกไปอีกเล็กน้อยจากเดิมแต่สูงสุดยังคงไม่ถึง 400 บาท/วัน ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างก็พอใจ" นายธนิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม การประชุมที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปถึงแนวทางที่กระทรวงแรงงานต้องการให้มีการปรับขึ้นเป็นรายเขตเทศบาล เช่น กทม. เช่น เขตปทุมวัน สงขลาก็เขตเทศบาลหาดใหญ่ ฯลฯ แต่ปัญหาคือ GDP รายเขต เทศบาลไม่มี ซึ่งอาจจะใช้สูตรผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) ขณะเดียวกันจะกำหนดประเภทกิจการที่จะพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ประเด็นดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นจึงจะมาสรุปในวันที่ 26 มี.ค.นี้อีกครั้ง
“การคำนวณสูตรค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตาม พ.ร.บ.ฯ ที่สมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกเอาไว้ซึ่งแตกต่างจากในปี 2557 ที่ไม่ได้ดำเนินการทำให้การขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทำได้ทันทีโดยไม่ต้องคำนึงถึงสูตร ซึ่งหากจะทำได้ต้องไปยกเลิกกฎหมายตัวนี้ ซึ่งเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวดีอยู่แล้วเพื่อป้องกันนักการเมืองในการใช้หาเสียง” นายธนิตกล่าว
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การทบทวนค่าแรงดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยที่ได้ตั้งเป้าหมายให้เห็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน แต่ภาพรวม 1 ม.ค. 67 ขึ้นได้เพียง 2-16 บาท/วัน มีเพียง จ.ภูเก็ตที่ได้ 370 บาท/วัน จึงสั่งให้ทบทวน อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นรอบ 2 ในเดือน เม.ย.นี้แม้ว่าจะดูไม่มากเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการสร้างกำลังซื้อให้คนไทยที่อยู่ในภาวะค่าครองชีพสูงแต่เป็นการควักเงินของผู้ประกอบการ แต่เมื่อหันมามองผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) กำลังลำบากทั้งต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง แรงซื้อประชาชนต่ำ แถมโดนสินค้าจีนทะลักเข้ามา ทำให้เอสเอ็มอีกำลังจะล้มกันจำนวนมาก รัฐเองควรจะมองในแง่มุมนี้ด้วย
“ผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะไปหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้คนไทยมากกว่าการจะไปขึ้นค่าจ้างรอบ 2 ที่จะยิ่งซ้ำเติมธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้แย่ไปกว่านี้ท่ามกลางหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพที่สูงและค่าแรงขึ้นสินค้าก็จะตามมาอีก ขณะที่แนวโน้มค่าพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าเองก็ยังคงสูงระดับ 4.18 บาท/หน่วยท่ามกลางฤดูร้อนที่รายจ่ายประชาชนยิ่งลำบาก” แหล่งข่าวกล่าว