xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.จับมือ กยท.พัฒนาอุตฯ ยางพารา ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อม

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ.
กล่าวแสดงความยินดีภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการ และความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่า MOU ฉบับนี้เกิดจากเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของ กนอ.และ กยท.ในการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับยางพาราในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ศักยภาพด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ร่วมกับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของ กยท.เพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อม

“ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ประสบความสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรมได้” ประธานกรรมการ กนอ.กล่าว

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท.เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร และมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราโลก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตร ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด และการประกอบธุรกิจ เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนสอดคล้องกับแนวทางบริหารด้านยางพารา “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน”

ที่มีนโยบายส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยเฉพาะล้อยาง ซึ่งจะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาดได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 400,000 ตัน พร้อมส่งเสริมงานด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้พัฒนาศักยภาพ สามารถต่อยอดสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เน้นการทำตลาดแบบจริงจัง สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กยท.และ กนอ.ต่างเป็นองค์กรที่มีศักยภาพ และพร้อมประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับยางพาราในภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของไทย ควบคู่ไปกับการจัดการและรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยต่อไป สามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยางพาราให้ดียิ่งขึ้น

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.เล็งเห็นว่า กยท.เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ ทั้งนี้ แนวโน้มของอุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมปี 2567-2568 คาดว่ายังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องทั้งด้านผลผลิตและความต้องการใช้ จากภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ เช่น กลุ่มยานยนต์ ถุงมือยาง อุปกรณ์การแพทย์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มในการใช้ยางในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการของภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายาง ดังนั้น กนอ. และ กยท.จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้เกี่ยวกับยางพาราในภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศอย่างยั่งยืน

“การลงนาม MOU ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ กนอ.และ กยท.จะได้ทำงานร่วมกันในการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพาราในระยะต่อไป รวมถึงการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารา และในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ประสบความสำเร็จ และบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม” นายวีริศกล่าว

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานมีความตั้งใจในการผสานศักยภาพองค์ความรู้เฉพาะทาง ทั้งความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยางพาราของ กยท.และด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ซึ่ง กยท.พร้อมร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนา การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง โดยมุ่งเน้นการแปรรูปจากผลผลิตยางที่มาจากเกษตรกรชาวสวนยาง และสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในพื้นที่ของ กยท.และ กนอ. รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจยางพาราครบวงจรทั้งกระบวนการ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมยางจะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนา เพิ่มรายได้ และสร้างความยั่งยืนทางอาชีพให้ชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และเพื่อประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจยางพารา และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นต่อผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของงานยางพาราต่อไป” นายณกรณ์กล่าว

สำหรับบันทึกความเข้าใจระหว่าง กนอ.กับ กยท.ครั้งนี้ มีกรอบและแนวทางการดำเนินงาน คือ 1. ส่งเสริม สนับสนุน การศึกษา วิจัย พัฒนา หรือการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา 2. สนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 3. สนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา และอุตสาหกรรมยางพารา ผ่านการส่งเสริมการลงทุน โดย MOU ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น