บทบาทของผู้หญิงถือเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากในสังคมทั่วโลก นั่นจึงเป็นที่มาของ ‘วันสตรีสากล’ หรือ ‘International Women’s Day’ ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันที่ระลึกถึงพลังและความสามารถของผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และเป็นผู้ทรงอิทธิพลในหลากหลายวงการไม่ต่างจากผู้ชาย ในวันสำคัญดังกล่าวองค์กรสหประชาชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองกลุ่มสตรีจากประเทศต่างๆ ในทุกทวีปทั่วโลก ไม่ว่าจะแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจหรือการเมือง เพื่อร่วมรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและความยุติธรรมสำหรับผู้หญิง
นางสาวบุษบา วงศ์นภาไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำครอบครัว หรือผู้บริหารในองค์กรต่างๆ โดยภายใน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มีพนักงานผู้หญิงได้เข้ามาเป็นผู้บริหารในสัดส่วนที่มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงการมีพนักงานที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อายุ และเพศสภาพ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการทำงาน
นอกจากนี้ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงในภาคการเกษตร สะท้อนได้จากการเข้าร่วมเพื่อผลักดันและส่งเสริมการสนับสนุนเกษตรกรหญิงและเกษตรกรรุ่นใหม่ผ่านมูลนิธิเป๊ปซี่โค ภายใต้โครงการ She Feeds the World ประเทศไทย เพื่อช่วยจัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรหญิง และสร้างการเรียนรู้ให้เกษตรกรชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของหญิงชายในสังคมเกษตร ผ่านการอบรมภายใต้โครงการดังกล่าวด้วย โดยโครงการดังกล่าว สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ pep+ (PepsiCo Positive) ที่มุ่งปรับโฉมธุรกิจในทุกขั้นตอน ด้วยการนำเรื่องความยั่งยืนมาเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการเติบโต และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับผู้คนและโลกอีกด้วย
โครงการ “She Feeds the World” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง ที่มูลนิธิเป๊ปซี่โค ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ไทย ในการดำเนินโครงการ 3 ปี ระหว่างปี 2565 – 2567 เพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรแก่เกษตรกรหญิง และเยาวชนคนหนุ่มสาว หรือที่เรียกว่า เกษตรกรรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 17- 45 ปี ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน และพะเยา โดยเป็นสื่อกลางในการช่วยประสานภาคีเครือข่าย และเข้าสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรหญิงและเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดพัฒนาระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และทำงานร่วมกับองค์กรชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อให้คนในพื้นที่เข้าถึงโภชนาการที่ดี มีน้ำสะอาดเพียงพอ มีความมั่นคงด้านอาหารและมีรายได้ที่มั่นคง
นายภูมิใจ ไกรสินธุ์ ผู้แทนมูลนิธิเป๊ปซี่โคประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ถือได้ว่ามีบทบาทเป็นผู้นำและเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเจ้าของกิจการ หรือในฐานะผู้บริโภค ผู้หญิงเป็นเพศที่ทรงพลังอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบูรณาการและนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการเกษตร จะเห็นได้ชัดจากความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิเป๊ปซี่โคและมูลนิธิรักษ์ไทย รวมไปถึงหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุนเกษตรกรหญิงและเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ She Feeds the World ประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเป๊ปซี่โค ที่มุ่งสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม
นางหล้า กันทะปัน เกษตรกรหญิง สมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย สนับสนุนโดยมูลนิธิเป๊ปซี่โค และมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า ในอดีตหลายคนมักจะมองว่าบทบาทสำคัญของภาคการเกษตร คือ เพศชาย เนื่องจากมีกำลังแรงกายที่มากกว่า แต่ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวได้เปลี่ยนไป เนื่องจากผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเท่าเทียมกับผู้ชาย อีกทั้งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น จึงทำให้การทำงานในภาคการเกษตรสามารถพัฒนาได้ดีขึ้นไปอีกด้วย
“ครอบครัวของพี่ประกอบอาชีพเกษตรกรมาโดยตลอด แม้ว่าตอนแรกทางบ้านจะส่งเสียให้เรียนหนังสือจบแค่ชั้น ม.3 แต่หลังจากแต่งงานและมีครอบครัว จึงได้มีโอกาสเรียนการศึกษานอกโรงเรียน จนจบระดับ ปวส. ทางด้านการเกษตร ความหวังของพี่คือต้องการจะพัฒนาอาชีพนี้ให้ดียิ่งขึ้น และหากมีโอกาสก็อยากจะศึกษาเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม โดยเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาต่อยอดด้านการเกษตร พัฒนาในสิ่งใหม่ๆ จากเดิมเน้นปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ปลูกผักและผลไม้ ก็ขยายมาสู่การทำปุ๋ย เช่น ปุ๋ยอัดเม็ด ไปจนถึงการพัฒนาดินสำหรับการเพาะปลูก รวมไปถึงพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย”
จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ผู้หญิงมีความสำคัญในทุกๆ อาชีพ และในหลายบทบาท โดยเฉพาะกับการพัฒนาด้านการเกษตร เห็นได้จากโครงการ “She Feeds the World” ที่ช่วยมุ่งลดปัญหาในภาคการเกษตรหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงพื้นที่กรรมสิทธิ์ ปัญหาเกษตรบุกรุกที่ดินป่าสงวน การอบรมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แผนที่จีพีเอส การใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน มาสนับสนุนการเพาะปลูก การใช้เครื่องจักรทางการเกษตร การส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอ ไปจนถึงการเรียนรู้หลักการบริหารการเงินที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีอย่างมากกับการทำเกษตรกรรมในยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง