xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” จ่อคุย CMA-CGM บิ๊กเนมฝรั่งเศส โรดโชว์แลนด์บริดจ์ ด้าน ทล.-รฟท.ลุ้นงบ 67 เร่งออกแบบมอเตอร์เวย์-รถไฟเชื่อม 2 ท่าเรือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” นำทีมคมนาคม พบบิ๊กเนมสายเรือฝรั่งเศส CMA-CGM และ Artelia โรดโชว์ แลนด์บริดจ์ 8 มี.ค.นี้ ด้านสนข.เร่งทำโมเดลธุรกิจร่าง RFP แจกงาน ทล.-รฟท. ศึกษาออกแบบรายละเอียด และ EIA มอเตอร์เวย์ ,รถไฟ 1.435 เมตร เชื่อมท่าเรือชุมพร-ระนอง ตั้งงบปี 67 จ้างที่ปรึกษาคาดเสร็จกลางปี 68  

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า   จากที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี ในการเดินทางเยือนประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ซึ่ง รมว.คมนาคม พร้อมด้วยปลัดกระทรวงคมนาคมและสนข.มีกำหนดที่จะพบกับนักลงทุนจากฝรั่งเศสแบบเฉพาะเจาะจง   ในวันที่ 8 มี.ค. 2567  โดยจะมีการประชุม” Road Show Land Bridge “เพื่อหารือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง)  หรือแลนด์บริดจ์ กับบริษัท CMA-CGM และบริษัท Artelia ซึ่งถือเป็นกลุ่มเดินเรือรายใหญ่ชั้นนำของโลก และให้บริการด้านขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ 

ทั้งนี้ สนข.ได้ดำเนินการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ และได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว โดยอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ศึกษาแผน  Business Model และจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) เพื่อคัดเลือกผู้ลงทุน โดยตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีวงเงินการศึกษาประมาณ 45 ล้านบาท 
ส่วนการเชื่อมโยงท่าเรือชุมพรฝั่งอ่าวไทย และท่าเรือระนองฝั่งอันดามัน ด้วยมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่สาย MR8 ช่วงชุมพร-ระนอง ตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองควบคู่กับระบบราง (MR-MAP) มีระยะทาง 89.35 กม.  กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเป็นผู้ศึกษาและออกแบบรายละเอียดรวมถึงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  ด้วย ซึ่งจะใช้งบประมาณปี 2567 ดำเนินการ โดยหลังจากงบประมาณผ่านสภาแล้ว จะมีกระบวนการจัดจ้างจัดจ้างประมาณ 1.5-2 เดือน จึงจะลงนามสัญญากับที่ปรึกษา โดยจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี คาดแล้วเสร็จประมาณ กลางปี 2568 

ซึ่งจะสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ…. หรือ ร่างกฎหมายแลนด์บริดจ์ ( SEC-Southern Economic Corridor ) ซึ่งจะเป็นกฎหมายเฉพาะในการรองรับการพัฒนา และจัดตั้งสำนักงานSEC เพื่อขับเคลื่อนเหมือนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) 

“สนข.ได้ศึกษาแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่สาย MR8 ช่วงชุมพร-ระนองไว้แล้ว และให้กรมทางหลวงและรฟท.ศึกษาออกแบบรายละเอียดทางเทคนิค กรอบวงเงินค่าก่อสร้าง เพื่อนำมากำหนดในเงื่อนไข RFP ประมูลหาผู้ลงทุน  ซึ่งในส่วนของ รฟท.จะมีการก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร จำนวน 1 คู่ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มการศึกษาออกแบบแล้ว ส่วนทางรถไฟขนาด 1.465 เมตร จำนวน 1 คู่ รฟท.จะของบปี 2567 ศึกษาออกแบบ และจะต้องไปดำเนินการศึกษา EHIA พร้อมกันด้วย


@ทล.ตั้งงบ 50 ล้านบาท ปี67 ออกแบบรายละเอียด’มอเตอร์เวย์’

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ตามที่สนข.มอบหมายให้ กรมทางหลวงดำเนินการศึกษาและออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) พร้อมจัดทำรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีรายละเอียดทางเทคนิค กรอบวงเงินค่าก่อสร้าง มอเตอร์เวย์”แลนด์บริดจ์”ช่วงชุมพร-ระนอง นั้น กรมทางหลวง ได้ตั้งงบประมาณปี 2567 วงเงิน 50 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา มีระยะเวลาศึกษา 1 ปึ
@รถไฟ เตรียมออกแบบทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน และสะพานเชื่อมถึงท่าเรือ

ด้านนายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการฯรฟท. กล่าวว่า เส้นทางรถไฟตามแนวเส้นทางแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง จะมี2 ส่วนคือ ทางรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร ซึ่งรฟท.ได้ทำการศึกษาออกแบบเสร็จแล้ว อีกส่วนคือ รถไฟทางคู่ ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งเสนอกรอบ วงเงินประมาณ 53 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับกรอบวงเงินใหม่ตามความเห็นของ สนข. มีระยะเวลารวม 12 เดือน โดยวางแผนงาน ดำเนินการงานออกแบบ Definitive ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และ สะพานข้ามไปถึง ท่าเรือระนองและท่าเรือชุมพร โจะแล้วเสร็จในช่วง 6 เดือนแรก ส่วนการศึกษา EIA จะทำต่อไปจนถึงเดือนที่ 12


@ไฮไลต์! มอเตอร์เวย์และรถไฟ”ชุมพร-ระนอง”เชื่อมขนส่งสองฝั่งทะเล

สำหรับแนวเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ออกแบบเป็นมอเตอร์เวย์ขนาด 6 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ทั้งรางขนาด 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร ซึ่งเป็นเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองควบคู่กับระบบราง (MR-MAP) มีระยะทาง 89.35 กม. แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ (อ.เมืองระนอง จ.ระนอง และ อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร) และมี ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กม.

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ได้ระบุถึงระยะเวลาของการพัฒนาโครงการไว้ 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะมีงานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร บริเวณแหลมริ่ว วงเงิน 118,519.50 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง (แหลมอ่าวอ่าง)วงเงิน 141,716.02 ล้านบาท ขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู

งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ประเมินวงเงิน 195,504.00 ล้านบาท, งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) วงเงิน 60,892.56 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพรมูลค่าลงทุน 38,113.45 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 22,779.11 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 6,212.00 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น