xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” เร่งรัฐเปิดเสรีไฟฟ้ารับ RE 100% หลังไม่ตอบโจทย์ธุรกิจหวั่นกระทบห่วงโซ่ผลิตไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานกลุ่มอุตฯ พลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.เร่งรัฐเปิดตลาดเสรีไฟฟ้าเร่งด่วนปี 2567 หลังโครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ ESB ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิตและส่งออกที่ต้องการพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) มากขึ้น หวั่นก้าวไม่ทันโลกกระทบห่วงโซ่การผลิตไทยทั้งระบบและคำสั่งซื้อโดยเฉพาะ SME ไทย แนะ 3 การไฟฟ้าเปิด TPA Code เอกชนจับตา PDP ใหม่ยิ่งล่าช้ายิ่งฉุดเชื่อมั่น

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยกับ Manager Online ว่า ไทยมีความจำเป็นจะต้องเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีภายในปี 2567 เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ Enhanced Single Buyer (ESB) คือ การที่รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้นั้นทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องการพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) ที่มากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจคนไทยและกลุ่มใหญ่ที่เป็นทุนต่างชาติที่ลงทุนในไทย ซึ่งกังวลว่าที่สุดจะต้องกระทบต่อระบบห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs)

"แม้ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะได้ทดสอบกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) แต่ก็ยังมีปริมาณที่ไม่ได้เพียงพอ ขณะเดียวกันโจทย์ใหญ่คือบริษัทข้ามชาติหลายรายต่างมีเป้าหมายที่จะใช้ RE 100 เช่นปี ค.ศ. 2035 เพื่อเป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกแล้ว SMEs ไทยจะทำอย่างไร ซึ่งล่าสุดหลัง ค.ศ. 2035 ไม่อาจใช้คาร์บอนเครดิตมาเคลมบริษัทจะต้องลดเองและเป็น RE100% แต่ปัญหาของไทยขณะนี้ระบบสายส่งยังคงเป็นไฟจากฟอสซิล 70-80% กว่าจะปลดโรงไฟฟ้าเดิมต้องใช้เวลา" นายนทีกล่าว

ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และฝ่ายจำหน่ายเองสามารถเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access Code : TPA Code เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าแบบเสรีโดยคิดค่าสายส่งเพื่อทำให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวหรือ RE100% ได้โดยตรง ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีการหารือมานานนับ 10 ปีแล้วแต่ก็ยังคงไม่มีความชัดเจนนัก และล่าสุด กกพ.เองได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาเรื่องนี้อยู่ก็คงจะต้องติดตาม

“โลกเขามองไปที่เรื่องของการใช้พลังงานสะอาดไปจนสุดปลายทางผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกตอบโจทย์เทรนด์ของโลกโดยเฉพาะกลุ่มทุนต่างชาติขนาดใหญ่ในทางยุโรปและตะวันตก รวมถึงที่เข้ามาลงทุนในไทยซึ่งแน่นอนเขาลงทุนหลายประเทศ และต้องเชื่อมโยงกับซัปพลายเชนที่เป็นชิ้นส่วนของไทยที่ก็ต้องใช้ RE 100% ทั้งระบบ เราก็กังวลนะเพราะถ้าเราไม่ชัดเจนในแผนพลังงานเขาก็อาจจะย้ายคำสั่งซื้อหรือออเดอร์ไปยังประเทศอื่นแทนได้เช่นกัน” นายนทีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องการเห็นความชัดเจนของแผนพลังงานชาติ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ที่ขณะนี้กระทรวงพลังงานยังคงไม่ได้มีการเปิดประชาพิจารณ์ได้ตามแผนที่กำหนดไว้และล่าช้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง ทำให้นักลงทุนเองกำลังติดตามใกล้ชิด เพราะหากแผนนี้ออกมาจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการในไทยถึงแนวทางการส่งเสริมพลังงานสะอาดต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น