xs
xsm
sm
md
lg

AWC เร่งเพิ่มมูลค่าพอร์ต ผุด 18 โครงการใหม่ร่วม 2 หมื่นล้านปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - AWC สร้างนิวไฮทั้งหมด 5 ด้านในปี 2566 โชว์กำไรการดำเนินงานและกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 5,105 ล้านบาท พร้อมสร้างการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินกว่า 20,000 ล้านบาท แผนปี 2567 จะสร้างมูลค่าทรัพย์สินกว่า 36,000 ล้านบาท จากแผนการปูพรมเปิดโครงการใหม่ 18 โครงการ มูลค่ากว่า 19,000 ล้านบาท และโครงการอยู่ระหว่างการขออนุมัติการลงทุนอีกกว่า 17,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มมูลค่าพอร์ตทรัพย์สินกว่าสองเท่า ด้วยงบลงทุนกว่า 126,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี


นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า AWC ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์การเติบโต (GROWTH-LED Strategy) เพื่อร่วมสร้างจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่โดดเด่น สนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืนของไทยอย่างต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของบริษัทฯ ด้วยงบประมาณการลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท

“เรามีความสามารถในการจัดหาเงินทุน (Debt Capacity) ที่แข็งแกร่งพร้อมสนับสนุนการลงทุนของทางบริษัทฯ ได้โดยไม่ต้องทำการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น เพื่อเร่งขยายพอร์ตทรัพย์สินคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 เท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปี ในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย” นางวัลลภากล่าว

ทั้งนี้ กลยุทธ์การเติบโต (GROWTH-LED Strategy) ของ AWC มีการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1. NEAR-TERM Growth การเติบโตจากทรัพย์สินดำเนินงานใหม่ในช่วงระยะเวลาอันใกล้ 2. MEDIUM-TERM Growth การเติบโตจากทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นทรัพย์สินดำเนินงาน 3. LONG-TERM Growth การเติบโตจากการลงทุนในแผนพัฒนาสำหรับการเติบโตระยะยาว ด้วยการเร่งแปลงทรัพย์สินระหว่างพัฒนามาเป็นทรัพย์สินดำเนินงาน ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของทรัพย์สินช่วงดำเนินงานเริ่มต้น (Ramp Up) มาสู่ระดับดำเนินงานปกติ (Mature) เพื่อสร้างกระแสเงินสดและเพิ่มศักยภาพในการสร้างกำไรจากการดำเนินงานอย่างยั่งยืน


นางวัลลภากล่าวถึงผลประกอบการปี 2566 ว่ามีความแข็งแกร่ง ด้วยรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 19,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.9% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (YoY) และเหนือกว่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562

รวมถึงมีผลการดำเนินงานที่ทำนิวไฮสูงสุดใน 5 ด้านด้วย คือ 1) กำไรสุทธิเติบโตก้าวกระโดดถึง 5,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.2% (YoY), 2) มีกำไรจากการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจ (BU EBITDA) สูงถึง 10,639 ล้านบาท ตามงบการเงินซึ่งรวมมูลค่ายุติธรรม เพิ่มขึ้น 26.6% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (YoY) โดยรักษาอัตราการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจตามงบการเงินได้อย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยสี่ปีย้อนหลัง (2563-2566) อยู่ที่ 74% ต่อปี สะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งด้วยความสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายสร้างสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการสามารถทำผลงานได้อย่างโดดเด่น 

3) รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) เติบโตสูงสุดที่ 3,658 บาท เพิ่มขึ้น 54.8% และ 4) มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate: ADR) เท่ากับ 5,661 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้น 17.4% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (YoY) และ 5) ปี 2566 เป็นปีที่บริษัทฯ ได้สร้างการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยทรัพย์สินดำเนินงานใหม่ประมาณ 6,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติกว่า 14,000 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินดำเนินงานใหม่ 9 โครงการ ประกอบไปด้วยโรงแรม 3 แห่ง และห้องอาหาร 6 แห่ง เพื่อสร้างกระแสเงินสดและเพิ่มศักยภาพในการสร้างกำไรจากการดำเนินงานอย่างยั่งยืน และทรัพย์สินที่ได้รับการอนุมัติให้ลงทุน อาทิ การลงทุนในโรงแรมพลาซ่า แอทธินี นิวยอร์ก รวมมูลค่าพอร์ตทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ที่ 146,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 โดยคิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินดำเนินงานอยู่ที่ 108,202 ล้านบาท


*** ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในปี 2566

นางวัลลภากล่าวด้วยว่า ปี 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ยอดเยี่ยมของ AWC ที่สามารถสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการที่มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นจากทั้งกลุ่มโรงแรมในกรุงเทพฯ โรงแรมอื่นๆ นอกกรุงเทพฯ และโรงแรมรีสอร์ตระดับลักชัวรี เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่ม FIT (Free Individual Traveler) ที่มีศักยภาพและใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสูง (High-to-Luxury)

ทำให้โรงแรมในเครือ AWC สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) และรายได้เฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate: ADR) อย่างโดดเด่นในระดับนิวไฮ โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy Rate) เติบโตมาอยู่ที่ 64.6%
โดยดัชนีการสร้างรายได้ (Revenue Generation Index หรือ RGI) ในภาพรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับโรงแรมในกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น โรงแรมคอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ ซึ่งได้รับความนิยมสูง มีค่า RGI เท่ากับ 213.5 โรงแรมแบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ มีค่า RGI เท่ากับ 188.7 และโรงแรมบันยันทรี กระบี่ มีค่า RGI เท่ากับ 146.4

บริษัทฯ ยังคงมุ่งพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มศักยภาพให้กับทรัพย์สินคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มทรัพย์สินดำเนินงานผ่านการเปิดโรงแรมและห้องอาหารชั้นนำระดับโลกในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ อาทิ การเปิดโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล ซึ่งเป็นโรงแรมระดับลักชัวรีภายใต้แบรนด์อินเตอร์คอนติเนนตัลแห่งแรกของภาคเหนือ การเปิดโรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกระดับพรีเมียมที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ MICE ในภูมิภาค และการเปิดโรงแรมอินน์ไซด์ บาย มีเลีย กรุงเทพ สุขุมวิท แห่งแรกในประเทศไทย
รวมถึงการเปิดห้องอาหาร เดอะ คริสตัลล์ กริลล์ เฮาส์ ห้องอาหารเดอะ สยาม ที รูมท์ ห้องอาหารเอเชียทีค แอนเชี่ยนท์ ที เฮ้าส์ ห้องอาหาร คิสซึอิเซน ห้องอาหาร เย่ว เรสเทอรองท์ แอนด์ บาร์ และร้าน Cafe Pittore


รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นกิจการ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี นิวยอร์ก เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นโรงแรมระดับลักชัวรี พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา นิวยอร์ก ที่จะเชื่อมกับโครงการโรงแรม เดอะ พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา แบงคอก ในประเทศไทย อีกด้วย รวมจนถึงสิ้นปี 2566 AWC มีจำนวนโรงแรมที่เปิดดำเนินการทั้งหมด 22 โรงแรม รวมจำนวน 6,029 ห้อง และห้องอาหาร (Restaurant Outlet) อีกหลากหลายแห่งในโรงแรมและจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทย

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ได้มีการเสริมศักยภาพให้กับศูนย์การค้าในเครือด้วยการเสริมกลยุทธ์การตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมระดับโลก Disney100 Village at Asiatique เพื่อดึงดูดผู้เช่าและลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้บริการกลับเข้ามาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ธุรกิจอาคารสำนักงานได้มีการเดินหน้าเสริมศักยภาพเพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ การเปิด “The Empire Residence” พื้นที่ Co-Living Space กว่า 1,500 ตร.ม. ที่มีขนาดใหญ่และไม่เหมือนที่ไหนในอุตสาหกรรมอาคารสำนักงานในประเทศไทยที่อาคาร “เอ็มไพร์” รวมถึงการลงนามความร่วมมือกับ 3 เชฟมิชลินสตาร์ระดับโลกเพื่อพัฒนา 3 ห้องอาหารที่ “EA CHEF’S TABLE” ชั้น 56 ในฐานะส่วนหนึ่งของ “EA Rooftop at the Empire” สู่การสนับสนุนกรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก

โดยธุรกิจอาคารสำนักงานยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทฯ อย่างต่อเนื่องจากสำนักงานเกรด A ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ


** * เดินหน้ากลยุทธ์การเติบโต (GROWTH-LED Strategy)
AWC ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์การเติบโต (GROWTH-LED Strategy) ภายใต้แนวทางในการดำเนินงานที่ประกอบด้วย การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ระดับแฟลกชิปในรูปแบบของ AWC’s Lifestyle & Workplace Destinations ที่เชื่อมต่อประสบการณ์ของทั้ง โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตีมอลล์ เข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างครอบคลุมทั้งในด้าน Attraction, Food & Beverage และ Lifestyle Market ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก ด้วยการผสานจุดแข็งของ AWC กับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจชั้นนำจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น โครงการ Weng Chinatown Destination โครงการ Aquatique Destination โครงการ Asiatique District และโครงการ Lannatique Destination

*** แผนขยายเครือข่ายปี 2567
ในปี 2567 ทางบริษัทฯ มีแผนที่จะเสริมศักยภาพและเปิดให้บริการโครงการในทุกกลุ่มธุรกิจรวมกว่า 18 โครงการ โดยมีโครงการสำคัญของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ เช่น โรงแรม แฟร์มอนท์ แบงคอก สุขุมวิท โรงแรมพัทยา แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา และโรงแรมระดับลักชัวรี ไลฟ์สไตล์ ในพัทยา รวมถึงการเปิดตัว “The Journey of A River ” by The Okura Prestige Bangkok ที่จะมาร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ของการรับประทานอาหารอันมีเอกลักษณ์บนสายน้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่อประสบการณ์ภายใต้แนวคิด “The Journey of A River”

รวมถึงมีโครงการสำคัญของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ อาทิ โครงการ EA Rooftop at The Empire จุดหมายปลายทางด้านอาหารและเครื่องดื่มบนรูฟท็อปที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ประกอบไปด้วย EA Gallery แหล่งรวมร้านอาหารนานาชาติชั้นนำมากมายกับทัศนียภาพที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ EA CHEF'S TABLE แหล่งรวมร้านอาหารโดยเชฟระดับมิชลินสตาร์จำนวน 3 แห่ง และห้องอาหาร Nobu Bangkok แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และยังเป็นห้องอาหาร Nobu ที่สูงและใหญ่ที่สุดในโลก การเปิดโครงการ THE PANTIP LIFESTYLE HUB ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ภายใต้แนวคิด “EVERY HAPPINESS FOR EVERYONE” เพื่อสร้างแลนด์มาร์กสำหรับกิจกรรมความสนุกหลากหลาย ศูนย์รวม Food Lounge ในบรรยากาศธรรมชาติ และแหล่งไลฟ์สไตล์สำหรับครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Lannatique Destination ที่จังหวัดเชียงใหม่ การเปิดโครงการ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM และการพัฒนาเพื่อเสริมจุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์ให้กับกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน

“ล่าสุด AWC ได้เริ่มเดินหน้าตามกลยุทธ์การเติบโตในปี 2567 เพื่อสร้างการเติบโตของทรัพย์สินผ่าน 3 โครงการใหญ่ โดยคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ เพื่อเข้าลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์คุณภาพบนพื้นที่ระดับไพรม์โลเกชันใน 2 จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ และเชียงใหม่” ประกอบไปด้วยการเข้าลงทุนในโครงการโอพี การ์เด้น ย่านบางรัก เพื่อเชื่อมกับโครงการแฟลกชิป โรงแรม เดอะ พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา แบงคอก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งเสริมจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวริมสายน้ำ คาดว่าจะเปิดดำเนินการประมาณไตรมาสที่ 4 ปี 2570 และโครงการโรงแรมในพื้นที่ถนนสุขุมวิท 38 ซึ่งเป็นย่านไลฟ์สไตล์สุดเทรนดี้ของกรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาโครงการโรงแรมด้านเวลเนส คาดว่าจะเปิดดำเนินการประมาณไตรมาสที่ 3 ในปี 2571 รวมถึงการเข้าลงทุนเพิ่มในพื้นที่ช้างคลานใจกลางจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะได้รับการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Lannatique Destination” ระดับเมกะโปรเจกต์ในอนาคตของทางบริษัทฯ เพื่อร่วมสร้างคุณค่าและสนับสนุนจังหวัดเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก รวมมูลค่าการลงทุนและเข้าพัฒนาโครงการทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น และเมื่อรวมกับโครงการที่จะเปิดดำเนินงานในปีนี้จะเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น