โคเวสโตรสร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญด้วยการนำเสนอกระบวนการผลิตสารอะนิลีนรูปแบบพิเศษโดยใช้สารชีวมวลจากพืชแทนการใช้ปิโตรเลียมทั้งหมดได้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งขณะนี้โคเวสโตรได้เริ่มนำร่องการผลิตแบบพิเศษนี้ที่โรงงานต้นแบบที่เมืองเลเวอร์คูเซนแล้ว โดยในขั้นต้นสารอะนิลีนชีวภาพปริมาณมากจะถูกผลิตขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่นี้ ให้สามารถพัฒนาและถ่ายทอดไปสู่ระดับอุตสาหกรรมต่อไป สำหรับในอุตสาหกรรมพลาสติก สารอะนิลีนเป็นวัตถุดิบในการผลิตเมทิลีนไดฟีนิลไดไอโซไซยาเนต (MDI) และวัสดุอื่น ๆ เพื่อนำไปใช้ผลิตฉนวนโฟมซึ่งช่วยประหยัดการใช้พลังงานภายในอาคารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โคเวสโตรเชื่อมั่นว่าหมุดหมายนี้จะช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทอย่างลงตัว
ในงานพิธีเปิดโรงงานต้นแบบนี้ มีผู้เข้าร่วมงานจากแวดวงการเมืองและวิทยาศาสตร์ได้แก่ โมนา นอยเบาวร์ (Mona Neubaur) รัฐมนตรีช่วยว่าการรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย และ ศาตราจารย์วอลเตอร์ ไลทเนอร์ (Walter Leitner) กรรมการผู้จัดการแห่งสถาบัน Max Planck Institute for Chemical Energy Conversion ณ เมืองมึลไฮม์อันแดร์รูว์ พร้อมด้วย ดร.ทอร์สเทน ไดร์เออร์ (Dr. Thorsten Dreier) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของโคเวสโตร ได้มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความสำคัญของวัตถุดิบชีวภาพเพื่อสร้างอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืนแห่งอนาคต
“สารอะนิลีนยังเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตโฟม ซึ่งใช้เป็นฉนวนกันความร้อนสำหรับอาคารและตู้เย็น” ดร. ไดรเออร์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญของสารเคมีพื้นฐานชนิดนี้ “จนถึงตอนนี้ อะนิลีนยังจำเป็นต้องผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากฟอสซิล เช่น น้ำมันดิบ แต่ด้วยกระบวนการผลิตใหม่ของเรา จะสามารถช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากที่ในวันนี้เราสามารถประสบความสำเร็จได้แบบก้าวกระโดดไปสู่อีกระดับของเทคโนโลยี”
กระบวนการผลิตที่พัฒนาโดยโคเวสโตรนี้ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรในแวดวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีทั่วไปแล้วนั้น กระบวนการผลิตนี้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการผลิตอะนิลีนให้ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยโคเวสโตรทุ่มงบลงทุนเป็นมูลค่ากว่าร้อยล้านบาทสำหรับโรงงานต้นแบบที่ Chempark Leverkusen
“นวัตกรรมที่ยั่งยืนนี้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเยอรมนีด้านการเป็นผู้นำด้านแหล่งผลิตสารเคมี โรงงานต้นแบบการผลิตอะนิลีนชีวภาพแห่งแรกของโลกนี้นับเป็นอีกตัวอย่างที่น่าประทับใจ” นอยเบาวร์ กล่าวในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การปกป้องสภาพภูมิอากาศและพลังงาน ยังเน้นย้ำอีกว่า “และเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ดำเนินไปบนเส้นทางสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องมีการวางแผนและสร้างความมั่นคงด้านการลงทุนเป็นอันดับแรก ซึ่งในฐานะรัฐบาล เราจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเมืองนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลียจะยังคงเป็นที่แหล่งธุรกิจที่น่าสนใจ และเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์แห่งแรกในยุโรป”
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ
โครงการนี้แสดงให้เห็นชัดถึงการส่งเสริมศักยภาพของเทคโนโลยีชีวภาพ (“White Biotechnology”) ในระดับอุตสาหกรรมต่อการผลิตพลาสติก ภายใต้กระบวนการผลิตใหม่นี้ จุลินทรีย์ที่ได้รับการปรับแต่งจะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในอุตสาหกรรมที่สกัดจากพืชให้เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสําเร็จรูป (Intermediate products) ผ่านการหมัก ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากระบวนการผลิตทั่วไป และในขั้นที่สอง ปฏิกิริยาทางเคมีของผลิตภัณฑ์กึ่งสําเร็จรูปจะสร้างอะนิลีนที่มาจากพืช 100%
การวิจัยเกี่ยวกับอะนิลีนชีวภาพยังคงได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันต่อไป โดยกระทรวงอาหารและการเกษตรของเยอรมนีมอบทุนสนับสนุนสำหรับโครงการติดตามผล (Bio4PURDemo) โดยโคเวสโตรและพันธมิตร ซึ่งได้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 และจะดำเนินไปจนถึงปี 2568 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัย RWTH Aachen ร่วมด้วยศูนย์ CAT Catalytic Center และมหาวิทยาลัยสตุทการ์ท ตลอดจนโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีการผลิตอะนิลีนทั่วโลกราว 6 ล้านตัน และมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3-5% ต่อปี ซึ่งด้วยกำลังการผลิตที่มากกว่าล้านตันต่อปี ทำให้โคเวสโตรเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตอะนิลีนของโลก