“ผลิตไฟฟ้า” ยันปีนี้พลิกเป็นกำไร หลังปี 66 ขาดทุนกว่า 8 พันล้านบาท เหตุบันทึกด้อยค่าทางบัญชีโครงการพลังงานลม "หยุนหลิน" พร้อมอัดงบลงทุนปีนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาทเร่งเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 1,000 เมกะวัตต์ จ่อปิดดีล M&A 2-3 โครงการ
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการในปี 2567 จะพลิกกลับมามีกำไรอย่างแน่นอน เทียบกับปี 2566 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 8,384 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้ไม่มีบันทึกด้อยค่าจากการปรับโครงสร้างทางการเงินและการถือหุ้นของโครงการพลังงานลมหยุนหลินกว่า 9 พันล้านบาทเหมือนกับปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บริษัทรับรู้รายได้เต็มปีจากโครงการที่เข้าลงทุนในปี 2566 ได้แก่ โรงไฟฟ้า RISEC กลุ่มโรงไฟฟ้า Compass บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค CDI รวมถึงรับรู้รายได้เพิ่มจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย กำลังผลิตสุทธิ 74 เมกะวัตต์ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 การทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการหยุนหลิน และการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ การขายโครงการพลังงานหมุนเวียนภายใต้ APEX ตลอดจนผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Paju ที่มีแนวโน้มดีอย่างต่อเนื่อง
นายเทพรัตน์กล่าวว่า บริษัทยังมุ่งมั่นแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ “4S” ตั้งงบลงทุนในปีนี้ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 6,996 เมกะวัตต์ โดยมุ่งเน้นการลงทุนและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าเหล่านั้นตั้งอยู่ รวมทั้งการขยาย Portfolio พลังงานหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการลงทุนควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) คาดว่าบริษัทจะสามารถปิดดีลโครงการใหม่ในรูปแบบ M&A อีก 2-3 โครงการภายในปี 2567 และมีโอกาสสูงมากในการต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ ที่จะหมดสัญญาในเดือนพฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าจะทราบผลการเจรจาที่ชัดเจนเร็วๆ นี้
สำหรับความคืบหน้าของโครงการหยุนหลิน ปัจจุบันโครงการได้ติดตั้งเสากังหัน (Monopile) แล้วเสร็จรวม 45 ต้น ซึ่งเป็นกังหันลม (Wind Turbine Generator) ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 33 ต้น คิดเป็นกำลังผลิตรวม 264 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีอัตราการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) เฉลี่ยของโครงการสูงกว่า 40% ยืนยันศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2563-2564 โครงการเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ทำให้ไต้หวันมีมาตรการการเข้าออกประเทศที่เข้มงวดและมีการประกาศปิดประเทศ ทำให้โครงการล่าช้า โดยในปี 2566 จึงปรับโครงสร้างทางการเงินและการถือหุ้น เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องรับรู้ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างทางการเงินและการถือหุ้น รวมถึงการด้อยค่าของสินทรัพย์ จำนวน 9,103 ล้านบาท เป็นรายการใหญ่เพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นรายการทางบัญชีที่ไม่กระทบกระแสเงินสด ปัจจุบันโครงการมีความพร้อมทุกด้านในการผลักดันและเดินหน้าการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน โดยมั่นใจว่าปีนี้จะติดตั้งและจ่ายไฟครบ 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ซึ่งภายหลังจากโครงการนี้ COD จะมีกระแสเงินสดกลับเข้ามาเร็ว คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับผลประกอบการในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 56,983 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน 8,734 ล้านบาท โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากโรงไฟฟ้า Paju ES และ Linden Cogen ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างโดดเด่นต่อเนื่อง และโรงไฟฟ้า BLCP ที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีขาดทุนสุทธิ 8,384 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการปรับโครงสร้างทางการเงินและการถือหุ้นของโครงการหยุนหลิน ซึ่งเป็นรายการทางบัญชีที่ไม่กระทบกระแสเงินสดและไม่กระทบอัตราส่วนทางการเงินตามเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีเงินสด 28,862 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.31 เท่า
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติเรียกประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (AGM) ประจำปี 2567 ให้จ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2566 ในอัตรา 3.25 บาทต่อหุ้น หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม AGM ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 เมษายน 2567 จะทำให้ทั้งปี 2566 มียอดจ่ายปันผลทั้งหมดอยู่ที่ 6.50 บาทต่อหุ้น