สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ม.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัว 2.94% เทียบกับ ม.ค. 66 โดยปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์หลังรถในประเทศถูกยึดแล้ว 2.5 แสนคันสูงสุดในรอบ 5 ปีจากหนี้ครัวเรือน แบงก์คุมเข้มสินเชื่อ รถมือหนึ่งชะลอการซื้อ ส่งออกเจอเรือขนส่งพื้นที่ไม่พอ มั่นใจ MPI-GDP อุตสาหกรรมปี 2567 ยังโต 2-3% จากมาตรการกระตุ้นศก.รัฐ ท่องเที่ยวฟื้น ศก.โลกเริ่มทยอยดี งบปี 67 อาจเบิกจ่ายเร็วขึ้น
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม ปี 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนปีฐานการคำนวณใหม่ครั้งแรกเป็นปี 2564 จากเดิมปี 2559 เพื่อให้สอดรับกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยพบว่า MPI ของเดือนม.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัว 2.94% เมื่อเทียบกับ ม.ค. 66 ซึ่งอยู่ที่ 102.15 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (CAPU) อยู่ที่ 59.43% จาก ม.ค. 66 ซึ่งอยู่ที่ 62.65% โดยปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูงทำให้เป็นภาระต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการส่งผลให้เกิดการระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่ปี 2567 สศอ.ยังคงประมาณการ MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตคงเดิมที่ 2-3% เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกของไทย ม.ค.ขยายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เศรษฐกิจโลกเริ่มทยอยฟื้นตัว มาตรการกระตุ้น ศก.รัฐ ท่องเที่ยวขยายตัว งบประมาณปี 67 ที่อาจจะเบิกจ่ายเร็วขึ้น ฯลฯ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ส่งผลลบต่อ MPI ม.ค. 67 หลักๆ มาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งหดตัว 9.63% จาก ม.ค. 66 ซึ่งการรายงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พบว่ามีรถถูกยึดเฉลี่ย 2.5 แสนคันแล้วหรือเฉลี่ยเดือนละ 2 หมื่นคันเป็นยอดสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถกระบะเนื่องจากสภาพคล่องครัวเรือนไม่ดีไม่อาจผ่อนชำระ สถาบันเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ทำให้รถมือสองเต็มตลาดส่งผลให้รถมือหนึ่งคนชะลอซื้อลง ขณะที่การส่งออกรถยนต์ปัญหาเรือขนส่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอจึงกระทบต่อการส่งออกลดลง ซึ่งแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ยังอาจจะกดดันต่อ MPI ในระยะต่อไปอีก 2-3 เดือน
นอกจากนี้ยังมาจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมหดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.45% จากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของผู้ผลิตบางรายทำให้จำหน่ายน้ำมันในประเทศลดลง และ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.71% ตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากการหดตัวในปีก่อน
“อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อ MPI ม.ค. 67 ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ น้ำดื่ม ขยายตัวจากช่วง ม.ค. 66 ที่ 4.16% ปุ๋ยเคมี ขยายตัวจาก ม.ค. 66 ที่ 58.68% เนื่องจากราคาปุ๋ยปรับลดลงและสินค้าเกษตรราคาดี ส่งผลให้เกษตรกรมีกำลังซื้อปุ๋ยมากขึ้น และเครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจาก ม.ค. 66 ที่ 19% จากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น” นางวรวรรณกล่าว