xs
xsm
sm
md
lg

ค้านขึ้นดีเซลซ้ำเติม ศก. แนะรัฐรื้อโครงสร้างน้ำมัน เน้นช่วยเฉพาะกลุ่ม ลดล้วงเงินจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอกชนและนักวิชาการค้านนโยบายรัฐบาลเตรียมขยับราคาดีเซลเกิน 30 บาท/ลิตรที่อาจไปสู่ระดับ 32 บาท/ลิตร ชี้ซ้ำเติมค่าครองชีพประชาชน แนะการลดภาษีฯ เพิ่มและขยับเพดานหากรัฐไม่กำกับดูแลส่วนอื่นก็ไร้ประโยชน์ มีแต่สูญเสียรายได้และหนี้ที่เพิ่มขึ้นที่อาจแตะระดับแสนล้านบาท สุดท้ายก็ล้วงกระเป๋าจากคนไทยจ่ายคืน หนุนปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน พึ่งพิงพลังงานในประเทศสู่พลังงานสะอาด ม็อบขนส่งขู่เคลื่อนไหว ด้านฐานะกองทุนฯ ติดลบแล้วทะลุ 9.1 หมื่นล้านบาทแล้ว เร่งถกคลังลดภาษีฯ-ขยับเพดานดีเซลเพิ่มหวังใช้คืนเงินต้นงวดแรก พ.ย.นี้

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานครและอนุกรรมการและคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า แนวทางการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มเติมและอาจขยับเพดานดีเซลเป็น 32 บาท/ลิตรเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นมองว่ารัฐกำลังจะซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ไปอีก ควรจะบริหารจัดการได้ดีกว่านี้ โดยควรมองทั้งระบบที่ควบคู่ไปกับการกำกับผู้ประกอบการค้าน้ำมันด้วย คือ 1. ค่าการตลาดที่เหมาะสม เช่นดีเซลไม่ควรเกิน 1.50 บาท/ลิตร กลุ่มเบนซินไม่ควรเกิน 2.00 บาท/ลิตรซึ่งบ่อยครั้งเกินไปมาก

2. ยกเลิกอ้างอิงนำเข้าจากสิงคโปร์ (หรือ Import Parity) ที่มีการบวกค่าขนส่ง ประกันภัย ฯลฯ ทั้งที่ขณะนี้โรงกลั่นไทยส่งออกไปเพื่อนบ้านได้แล้วจุดนี้จะลงได้อีกราว 1-1.50 บาท/ลิตร 3. ดูกลไกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลที่นำมาผสมราคาสูงเกินไปหรือไม่เพื่อช่วยลดภาระในส่วนนี้

“คลังเองควรเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลไม่ควรเกิน 1 บาท/ลิตรแล้วตรึงดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้ารัฐไม่ได้เข้ากำกับดูแลส่วนอื่นๆ ปล่อยให้ราคาเบนซินขยับสูง ดีเซลก็มีแต่อุดหนุนเพิ่มทั้งที่หลายครั้งตลาดโลกลด การลดภาษีฯดีเซลมันเป็นวิธีง่ายสุด รัฐสูญเสียรายได้ ถ้าขึ้นราคากลายเป็นงูกินหางสินค้าขยับประชาชนเดือดร้อน ที่สำคัญหนี้ที่ใกล้แตะระดับแสนล้านบาทคนไทยก็ต้องจ่ายย้อนหลังบวกด้วยดอกเบี้ย” น.ส.รสนากล่าว

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาไปสู่ระดับ 32 บาท/ลิตรจะยิ่งซ้ำเติมประชาชนที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูง จึงเห็นว่ารัฐควรจะพิจารณาแนวทางหลักๆ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ควรหามาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Target Group) ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและจะมีผลกระทบ เช่น กลุ่มรถขนส่ง รถรับจ้าง ฯลฯ เพื่อลดภาระการอุดหนุนลง 2. ควรหันมาพิจารณาการพึ่งพาพลังงานภายในประเทศให้มากขึ้น เช่น การพึ่งพาภาคการเกษตรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพผลิตได้ทั้งเอทานอล ไบโอดีเซลเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโดยบริหารการผลิตให้ลดต้นทุนลง 3. ลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ก้าวไปสู่พลังงานสะอาด เช่น ส่งเสริมติดโซลาร์เซลล์ ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะช่วยลดมลพิษแล้วยังจะช่วยการใช้ไฟที่เกินความต้องการซึ่งที่สุดจะไปลดค่าพร้อมจ่าย หรือ AP ที่ประชาชนต้องแบกรับ

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายในเดือนมีนาคมนี้ทางสหพันธ์การขนส่งฯ จะหารือถึงแนวทางในการนำเสนอรัฐบาลและกระทรวงพลังงานถึงการปรับราคาดีเซลที่รัฐเตรียมขยับราคาเพดานเกิน 30 บาท/ลิตรซึ่งเห็นว่าจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประชาชนมีแต่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเห็นว่าคลังควรจะลดภาษีฯ ดีเซลได้อีกมากกว่านี้ ซึ่งสหพันธ์ฯ พร้อมจะเคลื่อนไหวหากดำเนินการจริง
กองทุนน้ำมันฯ ติดลบปีนี้แล้ว 9.1 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เผยว่า ณ วันที่ 25 ก.พ. 67 ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบ 91,887 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 45,222 ล้านบาท บัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบ 46,665 ล้านบาทเนื่องจากกองทุนฯ ต้องอุดหนุนดีเซลเฉลี่ยราว 4 บาท/ลิตร (ณ วันที่ 29 ก.พ.) ที่ปรับลดจาก 4.35 บาท/ลิตรหลังดีเซลโลกลดลง เพื่อตรึงราคาขายปลีกอยู่ระดับ 29.94 บาท/ลิตร (ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร) ตามนโยบายรัฐที่จะสิ้นสุด 31 มี.ค.นี้ ดังนั้นภายใน มี.ค.นี้กระทรวงฯ คงต้องเร่งแก้ไขปัญหาสภาพคล่องโดยต้องหารือกับคลังในเรื่องของการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มเติมและอาจขยับเพดานดีเซลเป็น 32-33 บาท/ลิตร

“คงจะสรุป มี.ค. และการปรับขึ้นอาจเป็นช่วง พ.ค.หรือไม่คงอยู่ที่นโยบายรัฐอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นที่มองไว้คือ หากดีเซลตลาดโลก 100-105 เหรียญ/บาร์เรลจำเป็นจะต้องขอให้กรมสรรพสามิตช่วยลดภาษีฯดีเซลจาก 1 บาท/ลิตรเป็น 2 บาท/ลิตรและอาจต้องขยับเพดานราคาดีเซลเพิ่มเป็น 32-33 บาท/ลิตรเพื่อให้สามารถมีเงินบริหารสภาพคล่องได้มากขึ้น 2. ลดภาษีฯดีเซลเป็น 5 บาท/ลิตรและขยับเพดานดีเซลเป็น 32 บาท/ลิตรเพื่อให้กองทุนฯสามารถบริหารการจัดเก็บน้ำมันเข้ากองทุนฯเพื่อสะสมในการชำระหนี้เงินต้นในเดือน พ.ย.นี้ราว 3 หมื่นล้านบาทให้ได้ทันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินที่กู้ยืมมาเราก็หวังว่าดีเซลตลาดโลกจะลดลง” แหล่งข่าวระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น