“ส.อ.ท.” ค้านรัฐขยับดีเซลเกิน 30 บาท/ลิตรยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ประชาชนย่ำแย่อยู่แล้วจากค่าครองชีพที่สูง แนะ 3 ทาง ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเพื่อลดการอุดหนุน พึ่งพิงพลังงานในประเทศลดนำเข้าให้มากสุด ชี้การตรึงดีเซลทะลุ 9.1 หมื่นล้านสุดท้ายคนจ่ายคือ ปชช.อยู่ดี การตรึงดีเซลนานแก้ที่ปลายเหตุเหมือนแจกขนมจนประชาชนติด
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเพื่อดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 29.94 บาท/ลิตร (ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร) ที่ขณะนี้กองทุนฯ ต้องติดลบถึง 9.1 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเหมือนรัฐให้ขนมจนประชาชนติด ดังนั้นการปรับขึ้นราคาไปสู่ระดับ 32 บาท/ลิตรจะยิ่งซ้ำเติมประชาชนที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูง จึงเห็นว่ารัฐควรจะพิจารณาแนวทางหลักๆ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ควรหามาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Target Group) ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและจะมีผลกระทบ เช่น กลุ่มรถขนส่ง รถรับจ้าง ฯลฯเพื่อลดภาระการอุดหนุนลงเพราะสุดท้ายการอุดหนุนที่มากเมื่อราคาตลาดโลกลดผู้ที่จะต้องกลับมาใช้หนี้คือประชาชนอยู่ดี
2. ควรหันมาพิจารณาการพึ่งพาพลังงานภายในประเทศให้มากขึ้นเพราะราคาพลังงานตลาดโลกนั้นมีความผันผวนสูงและยังมีค่าเงินบาทที่หากอ่อนค่าก็จะยิ่งจ่ายแพงเพิ่มขึ้นอีก โดยควรหันมามองการพึ่งพาภาคการเกษตรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพผลิตได้ทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล หรือแม้กระทั่งการวิจัยด้านอื่นๆ ฯลฯเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งหากรัฐส่งเสริมและปรับโครงสร้างการผลิตให้ดีๆ ไม่ต้องเสียภาษีฯ ต้นทุนสามารถลดต่ำลงได้อย่างมากซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน
3. หาแนวทางการบริหารเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศให้ลดต่ำลง โดยควรมีแผนระยะกลางและระยะยาวในการกำหนดยุทธศาสตร์ซึ่งขณะนี้โลกกำลังก้าวไปสู่พลังงานสะอาดที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงควรมองมาที่พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เช่น ส่งเสริมติดโซลาร์เซลล์ ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะช่วยลดมลพิษแล้วยังจะช่วยการใช้ไฟที่เกินความต้องการ ซึ่งที่สุดจะไปลดค่าพร้อมจ่าย’ หรือ AP ที่ประชาชนต้องแบกรับ โดยค่าพร้อมจ่ายเป็นการจ่ายเงินให้โรงไฟฟ้าทุกโรงไฟฟ้าแม้ว่าจะไม่มีการเดินเครื่อง เป็นต้น