xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! ขึ้นค่าแรงรอบ 2 พ.ค.ยังไร้ข้อสรุป เอกชนหนุนขึ้นตามทักษะฝีมือ-เพิ่มแรงซื้อดีสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาไตรภาคีตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดเร่งรีวิวสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำใหม่หวังขยับระลอก 2 พ.ค. ล่าสุดยังไร้ข้อสรุป สภาองค์การนายจ้างฯ หนุนปรับตามทักษะฝีมือแรงงานเน้นให้สอบเพิ่มทักษะ ผ่านออนไลน์ ชี้ยั่งยืนกว่า ชี้ช่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่เงินไหลกลับเพื่อนบ้านไม่ได้หมุนเวียนในไทยและต้องขยับทั้งกระดานซ้ำเติม ศก. ขณะที่ส.อ.ท.มองไม่ง่ายมี กม.เดิมล็อกไว้ แนะรัฐหามาตรการกระตุ้นแรงซื้อ ลดค่าครองชีพดีสุด หวั่นกระทบ SMEs หนัก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การพิจารณาทบทวนอัตราค่าแรงขั้นต่ำหลังจากที่มีการปรับขึ้นไปแล้วเมื่อ 1 ม.ค. 67 เฉลี่ย 2-16 บาท/วันนั้น นโยบายรัฐบาลได้กำหนดให้มีการทบทวน โดยขณะนี้ทางคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดเพื่อมาพิจารณาจัดทำสูตรในการคำนวณใหม่ รวมถึงสำรวจข้อมูลที่จะมาประกอบสูตรให้เหมาะสมซึ่งเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน จากนั้นก็จะต้องส่งให้ไตรภาคีพิจารณาอีกครั้ง

“การกำหนดสูตรในการคำนวณใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนักต้องรีวิวใหม่หมดเพราะมีตัวแปรหลายด้าน เช่น อัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ผลิตภาพแรงงาน ฯลฯ ซึ่งหากยึดเฉพาะปี 2566 เงินเฟ้อบวก 1.23% GDP โตแค่ 1.9% ถ้าแบบนี้ยิ่งต่ำไปใหญ่ แต่คาดว่าจะเป็นการนำตัวเลขทั้งหมดมาเฉลี่ย 5 ปีแต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะช่วงใด ก็คงจะต้องรอสรุป ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงรอบ 2 ในปีนี้จึงไม่มั่นใจว่าจะอยู่ในช่วงพ.ค.นี้หรือไม่คงเป็นเรื่องนโยบายจากรัฐเป็นสำคัญ” นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นนโยบายของกระทรวงแรงงานเองได้ย้ำว่าอาจมีบางสาขาอาชีพจะขึ้นถึง 400 บาท/วัน แต่ไม่ได้เป็นการประกาศทุกจังหวัดแต่อาจดูเป็นรายเขต อำเภอ แต่ปัญหาไทยก็มี GDP แค่รายจังหวัด ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงควรมุ่งไปที่ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพ 200 อาชีพที่ขณะนี้เฉลี่ยเกิน 400 บาท/วันอยู่แล้ว ดังนั้นเห็นว่ารัฐควรใช้เกณฑ์ดังกล่าวเช่นกันกับฝีมือแรงงานทักษะขั้นต่ำโดยการให้สอบทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งรัฐสามารถให้สอบผ่านทางออนไลน์ได้ซึ่งน่าจะเกิดความยั่งยืนและการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ดีกว่า

“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการทั่วไปส่วนใหญ่จะตกกับแรงงานเพื่อนบ้าน เงินบางส่วนถูกส่งกลับไม่ได้ไหลเวียนเต็มที่ในไทย ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ได้ค่าแรงที่สูงอยู่แล้วแต่พอขึ้นจะทำให้ต้องปรับขึ้นกันทั้งกระดานท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนโดยเฉพาะจีนเริ่มมีปัญหาระบบสถาบันการเงินต้องติดตามใกล้ชิด” นายธนิตกล่าว

นายธนิตกล่าวว่า ในเดือน มี.ค. 67 จะมีเด็กนักศึกษาจบใหม่ราว 4-5 แสนคนเพิ่มเติมเข้ามา แต่พบว่าระยะหลังมีการทำงานอิสระค่อนข้างเยอะ ทำให้ตัวเลขการว่างงานของไทยเสมือนว่ายังคงต่ำ และธุรกิจไทยส่วนใหญ่ก็ต้องการแรงงานไทยที่มีทักษะซึ่งขณะนี้ภาพรวมก็ถือว่าการจ้างงานยังทรงตัวอยู่

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การทบทวนค่าแรงดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยที่ได้ตั้งเป้าหมายให้เห็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วันอย่างน้อยก็บางส่วนในช่วง ม.ค. 67 แต่ภาพรวมขึ้นได้เพียง 2-16 บาท/วัน มีเพียงจ.ภูเก็ตที่ได้ 370 บาท/วัน จึงสั่งให้ทบทวน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามกฎหมายแล้วไม่ได้ทำได้ง่ายเหมือนปี 2557 ที่ขณะนั้นกฎหมายด้านแรงงานไม่ได้ระบุสูตรการคำนวณสูตรค่าแรงขั้นต่ำไว้ชัดเจนแต่อย่างใด แต่ต่อมาในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2560 ได้กำหนดให้มีการกำหนดสูตรการคำนวณเอาไว้อย่างละเอียด ดังนั้นจึงไม่ง่ายนักเพราะอาจจะต้องไปยกเลิกกฎหมายตัวนี้หรือไม่

“ผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะไปหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้คนไทยมากกว่าการจะไปขึ้นค่าจ้างรอบ 2 ที่จะยิ่งซ้ำเติมธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้แย่ไปกว่านี้ท่ามกลางหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพที่สูงและค่าแรงขึ้นสินค้าก็จะตามมาอีก ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันเองก็ยังคงสูง ต้นทุนต่างๆ ขึ้นหมด" แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น