ผู้จัดการรายวัน 360 – แดรี่ควีนรุกหนักครั้งใหญ่ วางเป้าอีก 5 ปีผุดเพิ่ม 500 สาขารวมเป็น 1,000 สาขาภายในปี 2572 ตอบรับไทยเป็นตลาดเมนฮับของเอเชีย พร้อมผุดโมเดลเลานจ์แห่งแรกในไทย ขยายรถอีวีทรัคเจาะทุกชุมชน
นายธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด บริษัทในเครือ ไมเนอร์ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจร้านไอศกรีม "แดรี่ควีน“ เปิดเผยว่า บริษัทฯวางแผนขยายธุรกิจแดรี่ควีนครั้งใหญ่ในเชิงรุก โดยวางเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีจากนี้จะมีแดรี่ควีนในไทยเพิ่มอีกอย่างน้อย 500 สาขา เพื่อให้มีสาขารวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 สาขา ภายในปี2572โดยจะขยายไปในทุกทำเลนอกจากศูนย์การค้าที่เป็นทำเลหลักที่ผ่านมา และยังมีโมเดลใหม่ๆเกิดขึ้นอีกด้วย
ปัจจุบัน แดรี่ควีนมีสาขารวมประมาณ 520 สาขา แบ่งเป็นของบริษัท 230 สาขา และของแฟรนไชส์ 290 สาขา ซึ่งเป็นการถือสิทธิ์แฟรนไชส์ลักษณะดูแลเป็นจังหวัด โดยขาดจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เดียวเท่านั้นที่ไม่มีแดรี่ควีนเปิดบริการ ซึ่งปีนี้จะขยายใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 10 สาขา แบ่งครึ่งๆระหว่างบริษัทกับแฟรนไชส์ แต่จะเน้นไปเปิดในตลาดต่างจังหวัดที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมากและตลาดยังเปิดกว้างด้วย อีกทั้งจะมีการรีโนเวทสาขาเดิมด้วยเป็นของบริษทกับแฟรนไชส์อย่างละครึ่ง
ทั้่งนี้การขยายธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากบริษัทแม่มองเห็นศักยภาพของตลาดประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียรองจากจีน ซึ่งจีนมีประมาณ 1,500 สาขา และไทยมี 520 สาขาในช่วง 28 ปีที่ดำเนินธุรกิจในไทย อีกทั้งไทยก็เป็นเมนฮับของแดรี่ควีน ที่มีเพียง 2ประเทศเท่านั้นคือไทยกับจีน ในตลาดเอเชียเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วเป็นศูนย์กลางทุกอย่างของเอเชีย ทั้งเรื่องการพัฒนาเมนูใหม่ การทำการตลาด การบริหารจัดการ เป็นต้น
“การที่เราปรับตัวครั้งใหญ่นี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับที่การมีผู้ประกอบการจากจีนหลายรายเ่ข้ามาทำตลาดซอฟท์เสิร์ฟและเครื่องดื่ม เพราะเป็นคนละตลาดกันอยู่แล้ว เนื่องจากซอฟท์เสิร์ฟของแดรี่ควีนผลิตมาจากนมเป็นหลัก เราใช้วัตถุดิบที่ไม่เหมือนเขา เราแตกต่าวจกาคู่แข่ง อีกอย่าง ซอฟท์เสิร์ฟและบลิซซาร์ดของเราเป็นคอร์บิสซิเนสเลยทำรายได้หลักสัดส่วน 65% นอกนั้นก็เป็นเครื่องดื่ม 10% เองเรายังไม่ได้เน้นแต่จากนี้จะเน้นมากขึ้น และ 20% คือเค้ก คู่แข่งไม่มี และเราทำหน้าร้าน 100% หรือการมีโมเดลร้านใหม่ที่เรียกว่า เลานจ์ ของเราก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจัดการและทำการศึกษาและจัดการไม่น้อยกว่า1ปี กว่าที่บริษัทแม่จะอนุมัติ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมาทำกันตอนนี้” นายธนกฤต กล่าว
สำหรับโมเดลใหม่ที่เปิดคือ คอนเซปต์ “DQ Lounge Concept” ที่มาในบรรยากาศสุดโมเดิร์นพร้อมพื้นที่รองรับการให้บริการที่มากขึ้น มาพร้อมเมนูพิเศษที่มีจำหน่ายเฉพาะที่ DQ Lounge เท่านั้น อาทิ เบเกอรี่ และ พาร์เฟต์ โดยนำร่องให้บริการสาขาแรกที่ร้านแดรี่ควีน ชั้น 1 เซ็นทรัลเวสต์เกต และสาขาต่อไปที่สเปลล์ โดยม่ึุงเปิดเป็นสาขาที่สองในศูนย์การค้าเดิม วางเป้าหมายที่จะเปิดโมเดลใหม่นี้ประมาณ 50 สาขาโดยรวม ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีบ้างแล้วไม่กี่แห่ง และมีแผนขยายสาขาเข้าไปยังอาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย และร้านขายส่งเพิ่มเติมเข่น โกโฮลเซลล์ และ แม็คโคร เป็นต้น เพื่อเข้าถึงและใกล้ชิดกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มศักยภาพการบริการในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค
นอกจากนั้นเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแบรนด์ด้วยการสั่งเมนูผ่าน QR code พร้อมชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ เพื่อความสะดวกเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ การให้บริการในรูปแบบ EV truck อีกหนึ่งบริการความอร่อยเคลื่อนที่ พร้อมให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งนอกจากจะใช้รถไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้แบรนด์และสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่เป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น
“ปี 2567 แดรี่ควีนตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็น “The playground for a sweet pause” หรือ ที่ที่ให้คุณได้แวะพัก เติมพลังให้กับชีวิต ผ่านการปรับโฉมแบรนด์ครั้งใหม่ ภายใต้คาแรกเตอร์ ทันสมัย รักสนุก และมีพลัง (Modern, fun-loving, energetic) ควบคู่กับการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลาย”
สำหรับการดำเนินงานของแดรี่ควีนในปี 2566ภาพรวมมีการเติบโตอยู่ที่ 70% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ฟื้นจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการเติบโตเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ในขณะที่ตั้งแต่ปี 2564-2566 ภาพรวมมีการเติบโตขึ้นกว่า 30% ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นการตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยเมนูแปลกใหม่และรสชาติที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น เมนูบลิซซาร์ดข้าวเหนียวมะม่วงน้ำกะทิ รสชาติเข้มข้นสร้างการจดจำ เมนูบลิซซาร์ดโอวันตินภูเขาไฟ ที่สร้างยอดขายในประเทศไทยได้มากกว่า 1 ล้านถ้วยภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน และเมนูบลิซซาร์ดปังกรอบชาไทย ที่ได้รับกระแสตอบรับแบบถล่มทลายจนสามารถทำยอดขายนิวไฮ นำไปสู่กระแสเรียกร้องจากผู้บริโภคให้นำกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง รวมถึงการออกโปรโมชันส่งเสริมการขายเพื่อขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคหน้าใหม่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดไอศกรีมโดยรวม มีมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มไอศกรีมที่มีแพคเกจจิ้ง ในช่องทางรีเทล ประมาณ 15,000 ล้านบาท และไอศรีมที่ไม่มีแพคเกจจิ้ง คือซื้อทานหน้าร้าน มูลค่า 10.000 ล้านบาท ซึ่งแดรี่ควีนอยู่ในกลุ่มหลัวง 10,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 30% -40%