โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา (เชียงใหม่แห่งที่ 2) และท่าอากาศยานอันดามัน (ภูเก็ต แห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานพังงา) นั้นอยู่ในแผนการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานของ บริษัท ท่าอากาศยายไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ซึ่งได้รับการผลักดันจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มเส้นทางการบินในอนาคต และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินเชิงพาณิชย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทุกมิติ ซึ่งจากการลงพื้นที่ทั้งเชียงใหม่และภูเก็ต นอกจากเร่งรัดแผนพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่แล้ว ยังให้ทำโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งทางบกที่จะเชื่อมต่อสนามบินให้ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกมากที่สุดด้วย
สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ตนั้น ถือเป็นเกตเวย์สำคัญรองรับการเดินทาง โดยมีจุดขายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างพัฒนาขยายสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 โดยหลังจากขยายเสร็จจะมีขีดความสามารถรองรับการให้บริการทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคนต่อปี
@สร้าง "สนามบินอันดามัน" รับบินตรงอินเตอร์ ปรับภูเก็ตรับในประเทศเป็นหลัก
ในขณะเดียวกัน ทอท.มีแผนก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่จังหวัดพังงาหรือท่าอากาศยานอันดามัน (Andaman International Airport) โดยเมื่อท่าอากาศยานอันดามันก่อสร้างแล้วเสร็จมีแนวคิดที่จะปรับรูปแบบการให้บริการ ระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ตกับท่าอากาศยานอันดามันใหม่เพื่อให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยให้ท่าอากาศยานภูเก็ตรองรับเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศเส้นทางระยะสั้นในภูมิภาค ส่วน ท่าอากาศยานอันดามันจะรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศระยะทางไกลที่เป็นเส้นทางบินตรงเป็นหลัก โดยจะยังมีเที่ยวบินภายในประเทศบางส่วนอยู่ด้วยเพื่อใช้ในการเชื่อมต่อกับเส้นทางระหว่างประเทศ
ส่วนการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา) ซึ่งกำหนดพื้นที่ไว้ที่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ปัจจุบันที่ปรึกษาอยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบรายละเอียดรวมไปถึงขอบเขตในการเวนคืนที่ดิน โดยได้เร่งรัดให้สรุปผลการศึกษาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2567
นายสุริยะกล่าวว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีการขยายบริการเป็น 24 ชม. เพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่ม ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายทางผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ กรณีมีเที่ยวบินในเวลากลางคืน และ ทอท.ได้มีการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ได้ให้นโยบาย ทอท.เร่งรัดการปรับปรุงสภาพท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่ทรุดโทรม ให้มีความสะดวก และสะอาดมากขึ้น เช่น ปรับปรุงฝ้าเพดาน พื้นห้องน้ำ โดยจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 2567
@ทอท.รับนโยบาย ใช้งานผสมผสาน "ภูเก็ต-อันดามัน"
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.รับนโยบายรมว.คมนาคมมาดำเนินการ โดยวางแผนรูปแบบการบริหารจัดการท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 23.4 กม. โดยใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 15-20 นาที ผ่านสะพานสารสินที่เชื่อมจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา นอกจากนี้จะจัดระบบขนส่งเชื่อมระหว่าง 2 สนามบินนี้ให้ผู้โดยสารมีความสะดวกมากที่สุดอีกด้วย
ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 12.5 ล้านคนต่อปี มี 1 ทางวิ่ง (รันเวย์) รองรับได้ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และมี 25 หลุดจอด โดย ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการขยายรันเวย์เพื่อเพิ่มการรองรับเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากพื้นที่ท่าอากาศยานภูเก็ตมีข้อจำกัดจึงไม่สามารถขยาย รันเวย์เส้นที่ 2 ได้ ทำให้ขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินจำกัดได้ไม่เกิน 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินเกือบเต็มขีดการรองรับของรันเวย์แล้ว
การก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน จังหวัดพังงาจึงตอบโจทย์ โดยในระยะยาวเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะย้ายบริการผู้โดยสารระหว่างประเทศในส่วนของเที่ยวบินตรง (Direct Flight) แบบ long-haul flight จากท่าอากาศยานภูเก็ตไปท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบินเชื่อมเส้นทางระยะไกล และยังมีเที่ยวบินภายในประเทศด้วยแต่ไม่มาก สำหรับรองรับผู้โดยสาร เชื่อมต่อกับเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศ ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตก็ยังคงมีเที่ยวบินระหว่างประเทศ แต่จะเป็นในรูปแบบ Point to Point แบบเส้นทางในภูมิภาค (regional) โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้ศึกษา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
"สนามบินภูเก็ตและสนามบินอันดามันจะใช้งานร่วมกัน แต่สนามบินมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน โดยสนามบินอันดามันรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นหลัก ส่วนสนามบินภูเก็ตใช้ภายในประเทศเป็นหลัก และเที่ยวบิน Point to Po ระหว่างประเทศ เป็นนโยบายใช้งานผสมผสาน หรือมิกซ์ยูส ปรับสลับได้เพื่อนำขีดความสามารถที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด"
ทั้งนี้ การก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน มีวัตถุประสงค์ให้เป็นฮับรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งที่ตั้งของสนามบินยังถือเป็นพื้นที่มีศักยภาพ สามารถก่อสร้างรันเวย์ได้ 2 เส้น สามารถจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์และแข่งขันกับอากาศยานสิงคโปร์ได้แน่นอน ขณะที่ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.พังงา จ.ภูเก็ต จะเป็นส่วนดึงดูดในด้านการท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางเข้ามายังสนามบินพังงาและภูเก็ตได้เป็นอย่างดี
@ศึกษาจบปีนี้ เร่งชง "กพท.และคมนาคม" ไฟเขียว
สำหรับท่าอากาศยานอันดามันมีพื้นที่ 7,300 ไร่ ประเมินวงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท ประกอบด้วยงานในเขตการบิน วงเงิน 28,000 ล้านบาท งานอาคารผู้โดยสารวงเงิน 25,000 ล้านบาท งานสนับสนุน และสาธารณูปโภค วงเงิน 15,000 ล้านบาท สำรองราคาและภาษี 12,000 ล้านบาท ก่อสร้างทางวิ่ง 2 เส้นรองรับ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี มี 44 หลุมจอด
วางกรอบไทม์ไลน์ ดำเนินการ 7 ปี (84 เดือน) ตั้งแต่ พ.ค. 2567-เม.ย. 2574 โดยคณะกรรมการ ทอท.เห็นชอบงบประมาณจ้างที่ปรึกษาเพื่อการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนเบื้องต้น (Preliminary Feasibility Study) วงเงิน 18 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำ TOR จ้างที่ปรึกษา ระยะเวลาศึกษา 6 เดือน จากนั้นนำเสนอบอร์ด ทอท. กระทรวงคมนาคม และ กพท.เพื่อเสนอคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พิจารณา คาดเสนอ ครม.ได้ในไตรมาส 3 ปี 2568 จากนั้นช่วงปี 2569 เป็นขั้นตอนการศึกษา ออกแบบรายละเอียดและเสนอ พ.ร.ฎ.และเวนคืน ระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน และเสนอ ครม.ขออนุมติก่อสร้างในช่วงไตรมาส 3 ปี 2570 เปิดประมูลช่วงไตรมาส 4 ปี 2570 ดำเนินการก่อสร้าง 42 เดือน (ปี 2571-2574)
@ลงทุน 6,000 ล้านบาท ขยายภูเก็ตเฟส 2 รับ 18 ล้านคนต่อปี
นายกีรติกล่าวว่า ข้อจำกัดพื้นที่ของท่าอากาศยานภูเก็ต สิ่งที่ ทอท.ทำได้ตอนนี้คือ เร่งพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2 (ปี 2566-2572) เพื่อลดความแออัดโดยขยายพื้นที่เทอร์มินัลเพิ่มการรองรับผู้โดยสารเป็น 18 ล้านคนต่อปี เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย โดยมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ลานจอดอากาศยานและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคแต่ท่าอากาศยานภูเก็ต ก็จะรองรับได้ไม่เกิน 18 ล้านคนต่อปี ในขณะที่มีความต้องการในการเดินทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวทั้งจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา
การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดหาผู้รับจ้าง มีการออกแบบช่วงเดือน มี.ค. 2567-เดือน ก.พ.2568 กรอบวงเงิน 202 ล้านบาท พร้อมกับดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จในเดือนก.พ. 2569 จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเดือน เม.ย. 2569 และดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง เริ่มก่อสร้างเดือน ต.ค. 2569 แล้วเสร็จเดือน มี.ค. 2572 ประเมินค่าลงทุนก่อสร้างที่ 5,800 ล้านบาท
@ผุด Seaplane & Ferry Terminal รับผู้โดยสารกลุ่มใหม่
นอกจากนี้ ในแผนลงทุนพัฒนาขยายขีดความสามารถสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 จะมีการศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal ซึ่งคาดว่า จะใช้งบประมาณลงทุนไม่มาก มีการพัฒนาพื้นที่จอดอากาศยานขึ้น-ลงในทะเลเป็นการลงทุนที่สร้างโอกาสทางการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารได้อีกมาก เนื่องจากจะรองรับผู้โดยสารกลุ่มใหม่ ขณะที่ ระยะเวลาทางเรือ จากท่าอากาศยานภูเก็ตไปยัง หาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะตะ กะรน เขาหลัก ใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าถนน โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 370,000 คนต่อปี
“ทอท.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโครงการ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี2567 หลังจากนั้นจะเปิดประมูลสร้าง Seaplane Terminal ได้ในช่วงต้นปี 2568 มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการสายการบิน และผู้โดยสาร เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการสายการบินประเภท Seaplane ได้ติดต่อมาสอบถามรายละเอียดโครงการแล้ว”
@ ปักหมุดท่าอากาศยานล้านนา ใช้ที่ดิน 5,875 แปลง ค่าเวนคืน 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานล้านนา (เชียงใหม่ แห่งที่ 2) อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม เบื้องต้น วงเงิน 19 ล้านบาท กำหนดที่ตั้งใน อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน มีระยะทางห่างจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ 22 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 32 นาที มีพื้นที่ 8,050 ไร่ เนื้อที่รวม 12.88 ตร.กม. กว้าง 2.3 กม. ยาว 5.6 กม. จำนวนที่ดิน 5,875 แปลง ค่าเวนคืนประมาณ 20,000 ล้านบาท วงเงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยมี 2 ทางวิ่ง กว้าง 45 เมตร ยาว 3,800 เมตร รองรับ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง อาคารผู้โดยสารขนาด 100,000 ตร.ม. รองรับ 21 ล้านคนต่อปี สามารถขยายได้ถึง 24 ล้านคนต่อปี รองรับสินค้าได้ 29,000 ตันต่อปี มี 38 หลุมจอด เป้าหมายเปิดให้บริการปี 2576
@ระยะสั้น เร่งแก้ปัญหาสนามบินเชียงใหม่ "ทรุดโทรม-แออัด"
ส่วนท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 8 ล้านคนต่อปี โดยมี 1 รันเวย์ รองรับได้ 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารเมื่อปี 2562 มีถึง 11.5 ล้านคน นับเป็นสนามบินลำดับที่ 4 ที่มีปริมาณเที่ยวบินมากที่สุด รองจากสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต แม้ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบผู้โดยสารลดลง แต่ปัจจุบันผู้โดยสารฟื้นตัว โดยปี 2566 มีผู้โดยสาร 7.71 ล้านคน ปี 2567 คาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 11.07 ล้านคน และเติบโตขึ้น ปี 2573 คาดว่าจะมี 15.26-19.34 ล้านคน ปี 2578 เพิ่มเป็น 17.83-21.9 ล้านคนและปี 2583 จะเพิ่มเป็น 20-24.75 ล้านคน
ดังนั้น ทอท.จึงมีแผนระยะเร่งด่วนภายในปี 2567 เพื่อลดความแออัดภายในอาคารผู้โดยสาร โดยมีการปรับปรุงกายภาพ เปลี่ยนวัสดุพื้น ฝ้าเพดานที่มีสภาพเก่าทรุดโทรม งบลงทุนประมาณ 50-60 ล้านบาท
@ ขยายระยะที่ 1 รองรับเพิ่ม 16.5 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ ทอท.อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 1 ขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่ 70,100 ตร.ม. เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 7 ล้านคนต่อปี, ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม ขยายพื้นที่จาก 35,480 ตร.ม.เป็น 48,300 ตร.ม.รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ, เพิ่มพื้นที่โถงพักคอยขึ้นเครื่องเป็น 10,000 ตร.ม., ติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบินเพิ่มเป็น 12 ชุด, สร้างทางยกระดับหน้าอาคารหลังใหม่ แยกผู้โดยสารขาเข้า/ขาออก, เพิ่มที่จอดรถจาก 2,340 คัน เป็น 3,940 คัน, เพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอินภายในประเทศ จากปัจจุบัน 28 เคาน์เตอร์และระหว่างประเทศ 25 เคาน์เตอร์ อีกไม่ต่ำกว่า 3 เท่าตัว มีทั้งแบบพนักงานและแบบบริการตัวเอง (Salf Service Check-in, Self Bag Drop) และมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ จากปัจจุบัน 2,300 ตร.ม.เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 3 เท่าตัว คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 3 ปี และเปิดใช้งานได้ภายในปี 2572
@ทุ่มอีก 6.6 พันล้านบาท พัฒนา 3 สนามบินรับโอนจาก ทย.
ส่วนความคืบหน้าในการรับโอน 3 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอาอากาศยานบุรีรัมย์ จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นั้น ทอท.มีแผนลงทุนรวมประมาณ 6,660 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร ประกอบด้วย ท่าอากาศยานกระบี่ วงเงินลงทุน 2,700 ล้านบาท พัฒนาระยะที่ 2 ขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 4 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี และรองรับ 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ท่าอากาศยานอุดรธานี มีวงเงินลงทุน 3,500 ล้านบาท เพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 3.4 ล้านคนต่อปี เป็น 6.5 ล้านคนต่อปี และรองรับ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ มีวงเงินลงทุน 460 ล้านบาท เพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 0.78 ล้านคนต่อปี เป็น 2.8 ล้านคนต่อปี และรองรับ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยคาดว่า ทอท.จะเข้าบริหารอย่างเป็นทางการช่วงไตรมาส 3 ปี 2567
ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมไปถึงความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นจุดดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ซึ่งท่าอากาศยานถือเป็นประตูบานแรก และเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นแม้ต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการและจะเป็นส่วนสำคัญเพื่อผลักดันให้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย คาดหวังสร้างเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ไทยเป็นฮับการคมนาคมขนส่งทางอากาศอย่างแท้จริง