xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.แย้มค่าไฟ พ.ค.-ส.ค. 67 แตะ 4.25 บาท/หน่วย ยันข้อเสนอเอกชนทำได้ยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกพ.เผยแนวโน้มค่าไฟงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 67) จะอยู่ราว 4.25 บาท/หน่วย แต่ยังคงต้องอยู่ที่ปัจจัยต่างๆ อีกเพียบโดยเฉพาะนโยบายการเมือง โดยไม่รวมกับหนี้ค่าเชื้อเพลิง กฟผ.ราวแสนล้านบาท ย้ำข้อเสนอเอกชนที่ต้องการค่าไฟ 3.60 บาทต่อหน่วยระยะเร่งด่วนปีนี้ทำได้ยาก

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้ารอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 มีแนวโน้มที่ต้นทุนเฉลี่ยจะอยู่ราว 4.25 บาทต่อหน่วยจากงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 67) ที่ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.18 บาท/หน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าทั้งปีเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 4.20 บาท/หน่วย ทั้งนี้ยังไม่รวมหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต้นทุนให้ประชาชนไป ที่คาดว่าจะมีสูงถึงระดับ 1.1 แสนล้านบาท ดังนั้นข้อเสนอเอกชนที่ต้องการเห็นระยะเร่งด่วนปีนี้ที่ 3.60 บาท/หน่วยจึงเป็นไปได้ยาก

"ค่าไฟฟ้างวดใหม่จะไม่มีค่าปรับการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซฯ (Shortfall) จาก บมจ.ปตท.มาช่วย แต่ก็ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายการเมืองว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณจะมาหรือไม่มาตามข้อกำหนด 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในเดือนเมษายน 67 และปัญหาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาปริมาณจะลดลงจากคาดการณ์หรือไม่ รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ราคาจะเป็นเท่าใด ถ้ายังอยู่ในราคาปัจจุบันนี้จนถึงเดือนเมษายน ในปี 2567 มีความเป็นไปได้ที่ราคาค่าไฟฟ้าจะไม่สูงไปกว่านี้หรือบวกลบนิดหน่อย โดยราคาขณะนี้อยู่ที่ 10-11 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู” นายคมกฤชกล่าว

สำหรับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว นายคมฤชกล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะนำความเห็นที่ได้กลับมาพิจารณาที่ กกพ.อีกครั้ง ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่า Utility Green Tariff หรือ UGT คืออัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งจะมีการออกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC Certificate) ร่วมกับการให้บริการ โดยผู้ต้องการใช้พลังงานสีเขียวสามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก ผู้ใช้ไฟฟ้าจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวได้ (UGT 1) โดยผู้ใช้บริการกลุ่มนี้จะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3, 4 และ 5 สามารถใช้บริการไฟฟ้าสีเขียวได้จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงในราคาตามปกติ คาดว่าจะขายให้บริการได้ในเดือนพฤษภาคม 2567

ส่วนรูปแบบที่สอง คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ (UGT 2) กลุ่มนี้จะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 4 และ 5 โดยจะใช้บริการไฟฟ้าสีเขียวที่รับซื้อมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยคาดว่าจะมีราคาประมาณ 4.55 บาทต่อหน่วยซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดรับซื้อได้ 5,000 เมกะวัตต์ หากมีผู้สนใจมากขึ้นจะขยายการรับซื้ออีก 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถ้าเป็นไปตามความคาดหมายน่าจะเปิดขายให้ภาคเอกชนได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น