xs
xsm
sm
md
lg

งบ ’67 ดีเลย์ คมนาคมกางแผนเร่งเบิกจ่าย 2.29 แสนล้านบาท ทล.-ทช.โหมประมูลกว่า 6,600 โครงการ เซ็นรับเหมาใน พ.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ่านฉลุยวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงินกว่า 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากปีงบประมาณที่แล้ว 9.3% โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 ลงมติด้วยคะแนน เห็นด้วย 311 คน ไม่เห็นด้วย 177 คน งดออกเสียง 4 คน โดยมีผู้แสดงตนทั้งหมด 492 คน และเข้าสู่ขั้นตอนคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 โดยใช้เวลาในการแปรญัตติ 30 วัน และพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 วันที่ 3-4 เม.ย. 2567 โดยคาดว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.งบปี 2567 ทูลเกล้าฯ วันที่ 17 เม.ย. 2567

โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ได้จัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งกระทรวงคมนาคม ติดอันดับท็อป 5  กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดทุกปี


กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณฯ ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 229,433.8539 ล้านบาท
มีส่วนราชการ 9 หน่วยงาน ได้รับงบประมาณวงเงินรวม 183,635.0399 ล้านบาท ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) จำนวน 121,827.3559 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 47,926.3593 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4,624.1804 ล้านบาท กรมเจ้าท่า (จท.) จำนวน 4,364.6429 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จำนวน 3,509.4083 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม จำนวน 635.0409 ล้านบาท สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) จำนวน 381.7964 ล้านบาท กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จำนวน 115.3823 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จำนวน 250.8735 ล้านบาท

หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน ได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 45,798.8140 ล้านบาท ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 21,092.6810 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 20,045.0349 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 3,249.6410 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จำนวน 1,251.1939 ล้านบาท และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) จำนวน 160.2632 ล้านบาท

โดยจำแนกตามโหมดการเดินทาง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการขนส่งทางบก ร้อยละ 77.48 ด้านการขนส่งทางราง ร้อยละ 18.15 ด้านการขนส่งทางอากาศ ร้อยละ 2.09 ด้านการขนส่งทางน้ำ ร้อยละ 1.90 และด้านนโยบาย ร้อยละ 0.39


“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานจัดลำดับความสำคัญของโครงการ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้ตรงตามความต้องการของประชาชน รวมทั้งดำเนินโครงการตามขั้นตอนและถูกต้องตามหลักของกฎหมาย และมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การนำงบประมาณไปพัฒนางานด้านคมนาคมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

คาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2567 จะผ่านสภาฯ และประกาศใช้ได้ประมาณเดือน พ.ค. 2567 ซึ่งล่าช้ากว่าปกติ ส่งผลทำให้เหลือเวลาเบิกจ่ายงบประมาณอีก 5-6 เดือนเท่านั้น ซึ่งตนได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทมั้งหมดให้เตรียมความพร้อมทั้งการออกแบบ การจัดทำทีโออาร์ เพื่อให้ความพร้อมสำหรับการเปิดประมูลได้เร็วที่สุดหลัง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2567 เริ่มใช้

“ต้องยอมรับว่าโครงการก่อสร้างต่างๆ จะเกิดการจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง เกิดการจ้างแรงงาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย”


สำหรับกรมทางหลวง (ทล.) ได้รับงบประมาณมากสุดนั้นในปี 2567 ได้รับจำนวน 121,827.3559 ล้านบาท ตามด้วยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับจำนวน 47,926.3593 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน ได้เตรียมแนวทางในการปฏิบัติราชการ ด้านการจัดซื้อจัดจ้างโครงการในปีงบประมาณ 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับ เวลาในการดำเนินการงาน และการก่อสร้าง รวมไปถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่เหลือเพียง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนโครงการให้มีประสิทธิภาพที่สุด

@ทล.เทกระจาดโหมประมูล 3,600 โครงการ กว่า 6 หมื่นล้านบาท

“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมทางหลวงมีงบลงทุนรายการผูกพันใหม่ ทั้งโครงการเล็ก โครงการใหญ่ ในปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 3,600 โครงการ วงเงินรวมกว่า 60,000 ล้านบาท ข้อกังวลเรื่องการดำเนินโครงการ จะทำได้ภายในระยะเวลาที่เหลือหรือไม่นั้น ต้องบอกว่า เหตุการณ์ งบประมาณในปี 2567 ที่ล่าช้า ซ้ำรอยงบประมาณปี 2563 ที่กว่าจะประกาศใช้ได้เป็นช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 แล้ว กว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้จริงเป็นช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 มีระยะเวลาใช้จ่ายราว 7 เดือน


ส่วนไทม์ไลน์ งบประมาณปี 2567 จะแล้วเสร็จวันที่ 17 เม.ย. 2567 ซึ่งกรมทางหลวงมีแนวทางปฏิบัติจากประสบการณ์ในปี 2563 โดยใช้ช่วงระหว่างรองบปี 2567 ประกาศใช้ ได้เตรียมการออกแบบ จัดเตรียมรายละเอียด คำนวณราคากลาง เตรียมพร้อมจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าอนุกรรมาธิการงบประมาณกลั่นกรองฯ จะสรุปงบหน่วยงานได้ข้อยุติช่วงต้นเดือนมี.ค. 2567 ซึ่งกรมบัญชีกลางจะมีคำสั่งให้หน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนของโครงการใหม่รอได้ไว้ก่อน

คาดว่าประมาณเดือน มี.ค. 2567 จะเริ่มทยอยประกวดราคา 3,600 โครงการ และเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ประกาศใช้ จึงดำเนินการลงนามสัญญาผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยให้งานไม่ล่าช้า ประเมินว่างบประมาณจะออกปลายเดือน เม.ย. 2567 เป้าหมายลงนามสัญญาทั้งหมดในเดือน พ.ค. 2567

@งานใหญ่ 64 โครงการ กว่า 4.9 หมื่นล้านบาท ปีแรกเบิก 15% ไม่มีค้างท่อ

“กรมฯ มีความพร้อมประกวดราคา เมื่อปี 2566 งบประมาณใช้ปกติ มีงาน 3,200 โครงการ กรมฯ ได้เริ่มประมูลรอตั้งแต่ก.ย. 65 สามารถลงนามสัญญาครบในเดือน ธ.ค. 2565 และทำงานได้ตามเป้า งานขนาดเล็ก ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6-7 เดือน ภาพรวมเบิกจ่ายงบปี 2566 ได้ถึง 96% ส่วนปี 2567 เริ่มงานขนาดใหญ่ 64 โครงการ วงเงินรวม 49,683.755 ล้านบาท เสนอขอตั้งงบดำเนินการปีแรก 15-20% รวม 7,452.56 ล้านบาท ซึ่งเมื่อลงนามสัญญาผู้รับจ้างจะเบิกจ่ายงวดแรก 15% นี้ โครงการเกิน 1,000 ล้านบาท ประมูลเสร็จต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีขั้นตอนกว่าจะลงนามสัญญาอาจจะเดือน ส.ค. 2567 ซึ่งจะขอความร่วมมือผู้รับเหมาเร่งเบิกจ่ายเงินงวดแรก ดังนั้น แม้จะมีเวลาเบิกจ่ายน้อยแต่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบได้ไม่ต่ำกว่า 90% แน่นอน และไม่มีงบค้างท่อ

สำหรับข้อกังวล งบปี 367 และปี 2568 ที่เตรียมจัดทำกรอบวงเงินแล้วจะมีช่วงใช้ทับซ้อนกันนั้น และอาจมีผลกระทบต่อการประมูลและการทำงานของผู้รับเหมา อธิบดีกรมทางหลวงประเมินว่า แม้ช่วงงบปี 67 และปี 68 จะออกมาซ้อนกันเชื่อว่าไม่กระทบหรือเกิดภาวะผู้รับเหมางานล้นมือ ผู้รับเหมากรมทางหลวงทั่วประเทศมีเกือบ 1,000 ราย ช่วงที่ผ่านมางานรัฐไม่ค่อยมาก ผู้รับเหมามีเวลาเตรียมความพร้อม ทั้งการซ่อมบำรุงเครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงเตรียมสต๊อกวัสดุ อุปกรณ์ แหล่งดิน แหล่งหินทราย และเชื่อว่าเมื่อต้องเริ่มงาน จะไม่เสียเวลา ตอนนี้ทุกรายเห็นอยู่แล้วว่างบประมาณจะออก มีโครงการอะไร งบเท่าไร น่าจะเตรียมพร้อมประมูลจำนวนมาก


@ทช.เตรียมประมูล 14 โครงการใหญ่ 3,000 โครงการย่อย

“อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ปี 2567 ทช.ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 47,926.3593 ล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่จำนวน 14 โครงการ และโครงการขนาดเล็กกว่า 3,000 โครงการ เป็นการก่อสร้าง บำรุงรักษาอำนวยความปลอดภัยของถนนและสะพานทั่วประเทศรองรับการเดินทางของประชาชนและสนับสนุนการขนส่งสินค้า ได้เน้นเรื่องการบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณ การบริหารสัญญา ให้วางแผนล่วงหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการทำงานที่สั้นลงของงบปี 2567 ซึ่งปี 2566 ได้รับงบ 47,108.9146 ล้านบาทเบิกจ่ายได้ 90.44%

สำหรับโครงการใหญ่ในปี 2567 ได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (แห่งที่ 2) ระยะทาง 43.485 กม., โครงการก่อสร้างถนนสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ระยะทาง 3.510 กม., โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.11-ทล.1 อ.เมือง จ.ลำปาง (ตอนที่ 1) ระยะทาง 5.400 กม. เป็นต้น

2 หน่วยใหญ่ "คมนาคม" ที่มีงบรวมกันกว่า 1.69 แสนล้านบาท ต้องลุ้นกันหนักกับเวลาที่มีเพียง 5 เดือน จะติดเทอร์โบ ประมูลงานขนาดกลาง-เล็กกว่า 6,600 โครงการและงานใหญ่อีก 78 โครงการได้เรียบร้อยตามที่คาดหวังหรือไม่ เพราะงานก่อสร้าง เป็นเซกเตอร์สำคัญในการลงทุนของภาครัฐอัดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแต่หากมีอุทรธณ์ร้องเรียนเกิดติดล็อก ก็อาจจะเสี่ยงที่จะเกิดงบค้างท่อได้!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น