กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ส.อ.ท. เกาะติดการผลิตรถ EV ในไทยปีนี้และส่งออกได้เพิ่มจะมีส่วนสำคัญดันยอดการผลิตปี’67 มีลุ้นจะแตะ 2 ล้านคันได้หากเศรษฐกิจโลกและไทยยังเติบโตต่อเนื่องไม่สะดุด แต่รับยังกังวลความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ แรงซื้อหลังหนี้ครัวเรือนไทยยังสูง มองEVยังไม่อาจตีแตกICE ได้ยังใช้เวลาอย่างต่ำ 6-10 ปี
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการผลิตรถยนต์ในไทยปี 2567 มีโอกาสที่จะแตะระดับ 2,000,000 คันหากมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ภายในประเทศและทำการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกและไทยยังมีทิศทางที่ขยายตัวจากปี 2566 อย่างไรก็ตามยอมรับว่ายังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด
“ การผลิตรถยนต์ปี 2566 ที่เราตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,850,000 คันแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คันและผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 800,000 คันเท่าที่ดูขณะนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้โดยมาจากการผลิตเพื่อส่งออกที่เกินเป้าเลยไปชดเชยส่วนที่จำหน่ายในประเทศที่ลดลง ดังนั้นภาพรวมปี 2567 น่าจะเติบโตขึ้นอีกเล็กน้อยส่วนจะถึง 2,000,000 คันไหมก็มีโอกาสถ้า EV มีการผลิตและส่งออกมากขึ้น”นายสุรพงษ์กล่าว
สำหรับประเด็นที่ยังคงกังวลและต้องติดตามมี 2 ปัจจัยสำคัญคือ ปัจจัยภายนอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบต่อการส่งออกที่ปัจจุบันมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หลายด้านโดยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยังคงอยู่ และยังมีการสู้รบอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ความขัดแย้งที่ลามไปยังทะเลแดง ในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งจีน-ฟิลิปปินส์ เกาหลีเหนือและใต้ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตาม ขณะที่ปัจจัยภายในคือเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบางจากภาวะหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยที่สูง ฯลฯ ทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซื้อรถยนต์
ทั้งนี้ยานยนต์ไฟฟ้ายังคงมาแรงและหลายฝ่ายมองว่าเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งโดยปีนี้จะมีค่ายรถยนต์เริ่มผลิตEV ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 1 (EV3.0) จากรัฐบาลและล่าสุดยังมีมาตรการส่งเสริมระยะ 2 หรือ EV3.5 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและจะเข้ามามีส่วนแชร์การตลาดของรถยนต์สันดาปภายใน(ICE)ให้ปรับตัวลดลง แต่กระนั้นสัดส่วนของ ICE โดยรวมก็ยังคงสูงกว่าEV อยู่พอสมควร
นายสุรพงษ์กล่าวว่า หากประเมินว่าการเข้ามาของEV ที่จะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดของ ICE ได้ทั้งหมดนั้นมองว่าในไทยยังอาจใช้ระยะเวลาอีกอย่างต่ำ 6-10 ปีเนื่องจากก่อนหน้าสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยประเมินกันว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีซึ่งมาถึงปัจจุบันก็จะเห็นว่าเลยเวลาแล้วแต่การมาก็ไม่ได้เร็วอย่างที่คาดไว้ด้วยหลายปัจจัยทั้ง ด้านราคารถ สถานีชาร์จ เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนเร็วและที่สำคัญคือค่าครองชีพประชาชน ฯลฯ
“ ผมคิดว่ารัฐบาลได้เดินมาถูกทางในการส่งเสริมEV ควบคู่ไปกับรถ ICE เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค(ฮับ) เพราะหลายประเทศโดยเฉพาะแถบเพื่อนบ้านยังไม่พร้อมที่จะใช้ EV ก็มีอยู่ไม่น้อย ไทยเองก็สามารถจะส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้ ส่วนประเทศใดที่วางเป้าใช้EVทั้งหมดไทยเองก็จะส่งออกได้เช่นกัน “นายสุรพงษ์กล่าว
นายภิญโญ ธนวัชรภรณ์ อดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วและผู้ก่อตั้งบริษัท โยรัชดา จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรม EV มาแรงตามเทรนด์ของโลกแต่คงไม่ได้ส่งผลให้ตลาดรถยนต์สันดาปภายในหายไปจากตลาดได้อย่างรวดเร็วเพราะตลาด EV ยังมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆรองรับ โดยเฉพาะสถานีชาร์จ ประกอบกับเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“ สิ่งที่น่ากลัวคือเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วจะเหมือนกับมือถือที่จะตกรุ่นเร็ว รถเมื่อซื้อแล้วก็จะทำให้ราคาลดลงเร็วเช่นกัน และที่ต้องติดตามคือเริ่มพบว่ากลุ่มวัยที่ทำงานเริ่มมีการถูกยึดรถอีวีแล้วเหมือนกันจะเห็นสัญญาณชัดๆ น่าจะช่วงกลางปีนี้เพราะเริ่มผ่อนไม่ไหลดอกเบี้ยแพง และตลาดมือ 2 อีวีเองก็ไม่มีใครกล้ามาจับเพราะไม่รู้ว่าราคาและเทคโนโลยีจะไปหยุดตรงไหน”นายภิญโญกล่าว