ปัจจุบันการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้านั้นมีความสำคัญกับการวางแผนพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหากมีการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสมสามารถชะลอการเพิ่มของความต้องการใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของประเทศ อีกทั้งยังส่งผลทางอ้อมในการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย ทั้งนี้หลังวิกฤติจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งใหญ่ผ่านพ้น แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าสำหรับอนาคต โดยเฉพาะการมีแผนการผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งาน
เมื่อโลกเปลี่ยนไปพฤติกรรมการใช้พลังงานของประชาชนก็เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างเสถียร รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ ซึ่ง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. ในฐานะหน่วยงานทางนโยบายพลังงานของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงมีบทบาทขับเคลื่อนในเรื่องของ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ Power Development Plan (PDP) ซึ่งเดิมแผนพัฒนาพลังไฟฟ้าประเทศไทยมีการคาดการณ์ Reserve Margin อยู่ที่ 15-25% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เนื่องจากในตอนนั้น ระบบไฟฟ้า และเศรษฐกิจในประเทศไทยยังเติบโตไม่มาก แต่จากแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าของคนไทยในปัจจุบัน มีพฤติกรรม รูปแบบ หรือลักษณะการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไปจากอดีต ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ หรือวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป
ดังนั้น สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2566-2580 กระทรวงพลังงาน จึงมีการนำเกณฑ์วัดที่เรียกว่า "เกณฑ์ในการเกิดโอกาสไฟฟ้าดับ" หรือที่เราเรียกว่า LOLE มาประกอบกับเกณฑ์การวัดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve Margin ควบคู่กัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเริ่มมากขึ้นในอนาคต และเพื่อให้การประเมินและการวางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศมีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคประชาชนสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างเสถียร รวมทั้งในภาคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนประเทศที่ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเร่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ
LOLE หรือภาษาไทยเรียกว่า ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation) เป็นการพิจารณาในเชิงเทคนิคและเชิงวิชาการ ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในระดับสากล เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่มีการใช้เกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งสามารถวัดได้ทุกช่วงเวลา ทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดย LOLE เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในการวางแผนเชิงความน่าจะเป็น (Probabilistic Planning) โดยค่า LOLE คือค่าดัชนีที่แสดงถึงจำนวนวันที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าในรอบ 1 ปี ซึ่งจะคำนวณจากผลรวมของค่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละชั่วโมงตลอด 1 ปี โดยจะคำนึงถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งวิธีการตามแนวทาง LOLE ได้รับการยอมรับและนำมาใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 (พ.ศ. 2523) ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา กำหนดเกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 0.1 วัน/ปี เกาหลีใต้ กำหนดเกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 0.3 วัน/ปี หรือมาเลเซีย กำหนดเกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 1 วัน/ปี
ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับเป็นผลการศึกษาที่ทาง สนพ. ได้ร่วมกับทางสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ศึกษามาตั้งแต่ปี 2561 ศึกษาเกณฑ์ที่เหมาะสมในการมาใช้วางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าในอนาคต พบว่าควรใช้เกณฑ์ LOLE ในระดับไม่เกิน 0.7 วันต่อปี ซึ่งอาจจะต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาหรือเกาหลีใต้ แต่ก็สูงกว่าในบางประเทศ ซึ่งเกณฑ์ค่า 0.7 เป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย มีความสอดคล้องกับการลงทุนของระบบจำหน่ายที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยสามารถการันตีได้ว่าประเทศไทยจะมีกำลังไฟฟ้าใช้เพียงพอและไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ สามารถที่จะตอบสนองความต้อง การใช้ไฟฟ้า ของประเทศ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและคุณภาพในการบริการทุกชั่วโมงและตลอดทั้งปีอย่างแน่นอน