“คีรี” เปิดศูนย์ซ่อม "สีเหลือง" แจงปมล้อหลุด ขอโทษผู้โดยสาร ยันระบบปลอดภัย เป็นเหตุที่ไม่ควรเกิด "อัลสตรอม" รับเปลี่ยนให้ใหม่หมด ชี้ยื่นประมูลโมโนเรลตามรัฐศึกษาและกำหนดยุค รมต.คมนาคม "โสภณ ซารัมย์" ขณะที่หนุน "สุริยะ" ออกกฎ "แบล็กลิสต์"
วันที่ 4 ม.ค. 67 นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท อิสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง พร้อมคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ, นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการ, ดร.ชัยศักดิ์ ศรีเศรษฐนิล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายโทบี้ ไทเบอเกียน กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก บริษัท อัลสตอม ประเทศไทย (Alstom Thailand) ตรวจความพร้อมรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ณ อาคารซ่อมบำรุง (Main Workshop) รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หลังจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เกิดเหตุล้อประคอง (Guide Wheel) หลุดร่วงลงมาด้านล่างบริเวณถนนเทพารักษ์ ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) ฝั่งขาขึ้น (ปลายทางสถานีลาดพร้าว) ) เมื่อเวลา 18.21 น. วันที่ 2 ม.ค. 2567 และโดนรถแท็กซี่สีเขียวเหลืองได้รับความเสียหาย
นายคีรี กาญจนพาสน์ กล่าวว่า ถึงวันเกิดเหตุตนอยู่ต่างประเทศ วันนี้เร่งมาติดตามงาน โดยต้องขอโทษผู้โดยสารและประชาชนไม่คิดว่าจะเกิดเหตุขึ้น ซึ่งในฐานะที่ได้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสมา 30 ปี เน้นความปลอดภัยอย่างมาก ไม่เช่นนั้น บริษัทฯ คงไม่ได้รับรางวัลมาหลายปี
สำหรับสาเหตุคงทราบกันเบื้องต้นแล้ว วันนี้ตนอยากอธิบายว่า ล้อที่หล่น ไม่ใช่ล้อหลัก เป็นล้อประคองที่ให้รถวิ่งไปได้มั่นคง ซึ่ง 1 ขบวนมี 48 ล้อ (ล้อจะอยู่ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 24 ล้อ) ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าล้อประคับประคองนี้จะเกิดปัญหาได้ จึงตกใจมากเพราะรถโมโนเรลนี้เพิ่งใช้มา 2 เดือน ซึ่งบริษัทฯ เน้นการซ่อมบำรุง เป็นสำคัญเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ปัจจุบันบริษัทอัลสตรอม ซึ่งเป็นผู้ผลิตเป็นผู้ดูแลการซ่อมบำรุงทั้งหมด รวมถึงยังเป็นช่วงที่รับประกัน เราไม่ได้ทำเอง หรือซ่อมเอง จนกว่าจะมั่นใจ ซึ่งอาจจะอีก 5 ปี หรือ 10 ปี ตนมาวันนี้เพื่อตามว่าสิ่งที่ควรทำ เราทำแล้วหรือยัง ทราบว่าทางผู้ผลิตร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บริษัทฯ อย่างดีในการนำรถทุกขบวนที่ใช้งาน คือ 21 ขบวนมาตรวจสอบล้อประคองทุกล้อ แม้เป็นรถใหม่ แต่ต้องตรวจสอบใหม่หมด เพื่อความมั่นใจ และสามารถรายงานผู้โดยสารให้มั่นใจได้
“ตอนนี้มีล้อประคองทั้งหมด 1,080 ล้อ ทราบว่าได้ตรวจสอบผ่านพร้อมใช้ 624 ล้อ หรือประมาณ 60% แล้ว ผมคิดว่าในเร็วๆ นี้ทุกล้อที่อยู่ในสายสีเหลืองพร้อมกลับไปสู่การให้บริการ ประชาชน ด้วยความมั่นใจจากบริษัทและวิศวกรทุกคน เรื่องสำคัญตอนนี้เอาของเดิมออกก่อน ทางอัลสตรอม ผู้ผลิตจะส่งอะไหล่ลูกปืนมาเปลี่ยนให้ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้การบริการเป็นปกติโดยเร็ว คาดช่วงเย็นนี้ระบบรถจะเพิ่มเกิน 10 ขบวน ความถี่ต่อขบวนจะสั้นลง และจะกลับสู่ปกติเร็วๆ นี้ ซึ่งการตรวจสอบแบบนี้จะรวมถึงรถไฟฟ้าสายสีชมพูด้วย เพราะมาจากบริษัทเดียวกัน”
ส่วนทางด้านอัลสตรอม ผู้ผลิตก็กำลังศึกษาเรื่องนี้เต็มที่ เพราะจากที่ผลิตมา เคยเกิดขึ้นครั้งเดียวที่ประเทศจีน ซึ่งมีคำถามว่าสาเหตุเป็นเพราะการผลิตล้อหรือไม่ นายคีรีกกล่าวว่า อันนี้ไม่ใช่ล้อหลักที่รับน้ำหนักแต่เป็นล้อประคองให้วิ่งไปได้ ตัวล้อหลักไม่มีทางหลุด แต่ล้อประคองที่อยู่ด้านข้าง 48 ล้อ จึงอย่าเพิ่งตื่นตระหนก หรือกังวลว่าตัวรถโมโนเรลจะมีปัญหาในการเดินทาง
“เรามั่นใจ เพราะว่าผู้ผลิตเป็นบริษัทมีชื่อเสียงมีศักยภาพ แต่ควรไปดูว่า เมื่อเปลี่ยนแล้ว ปลอดภัยหรือไม่ รถวิ่งได้มั่นคงปลอดภัยหรือไม่ ยืนยันแม้จะเกิดปัญหาอีก ก็ไม่ทำให้รถมีปัญหาจนเป็นอันตราย”
นายคีรีกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเหตุขึ้น ตอนนี้สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนผู้โดยสารมั่นใจ ว่าใช้โมโนเรลแล้วปลอดภัย ในโลกมีการใช้กันมาก มีผลิตที่ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และจีน ซึ่งในจีนมีการใช้กันอย่างกว้างขวางมาก เพราะระบบโมโนเรลมีข้อดีที่ระบบอื่นทำไม่ได้ โดยเฉพาะมุมโค้งการไต่ระดับ โมโนเรลทำได้ในมุมที่มากกว่าระบบอื่น และราคาโมโนเรลก็แพงกว่ารถไฟฟ้ารางเบา หรือไลต์เรล (light rail) สรุปคือระบบโมโนเรลไม่ใช่ผิด แต่เป็นระบบที่มีประโยชน์ในมุมต่างๆ กันไป
@เอกชนมีหน้าที่ประมูล ไม่ได้เลือกระบบ
นายคีรีกล่าวต่อว่า สายสีเหลืองใช้โมโนเรล ไม่ใช่เพราะเราประหยัด หรือซื้อเพราะสวย แต่เพราะเป็นระบบที่กำหนดอยู่ในทีโออาร์ที่รัฐบาลสมัยนั้น จำได้ว่ามีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นรมว.คมนาคม ให้แนวคิด ผ่านกระบวนการต่างๆ ศึกษาออกมาว่าใช้โมโนเรล บริษัทประมูลเลือกระบบไม่ได้ เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลช่วงนั้น ยืนยันโมโนเรลไม่ใช่ของใหม่ และเป็นทางเลือกหนึ่งของระบบราง ขนส่งมวลชน
“ในโลกนี้เคยเกิดเหตุที่ล้อครั้งเดียวที่จีน ซึ่งมาจากเหตุผลบางอย่าง อาจจะการผลิตหรือการก่อสร้าง เหตุทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เช่น ซื้อรถเก๋ง 1 คัน จะเป็นรถดีเซล รถไฟฟ้า ก็อาจมีปัญหาบกพร่องเกิดขึ้นได้”
นายคีรีกล่าวว่า ต่อจากนี้ตนไม่สามารถรับประกันว่าจะไม่เกิดอีก เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่คิดว่าไม่น่าเกิดอีกแล้ว เพราะได้ตรวจทุกขบวนใหม่หมด อะไหล่เปลี่ยนใหม่หมด ยืนยันรับผิดชอบแท็กซี่ที่เสียหาย ส่วนผลกระทบบริษัท เกิดเหตุกระทบรายได้ไม่มาก เพราะผู้โดยสารยังไม่มากแต่กระทบชื่อเสียง ความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร ผู้ถือหุ้น ซึ่งเชื่อว่าในนามบีทีเอสที่ให้บริการมาตลอด 30 ปีจะลบล้างในเรื่องนี้ได้
@หนุน "สุริยะ" ออกกฎ "แบล็กลิสต์"
ส่วนที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กำลังพิจารณาออกเกณฑ์ลงโทษกรณีเกิดเหตุบ่อย เช่นตัดคะแนนหรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์นั้น นายคีรีกล่าวว่า รมว.คมนาคมพูดด้วยความหวังดีกับผู้ประกอบการ หากคิดไม่ดี หรือจะประหยัดมากๆ ไม่ควรมาประมูล เพราะรถไฟฟ้ามีประชาชนใช้บริการเป็นล้านคน ต้องให้ความสำคัญ ต้องมีความจริงใจ มาตรการนี้ตนว่าดี และผู้ประกอบการจะมาให้บริการในธุรกิจนี้ ควรให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นระบบราง รถ เรือ หรือเครื่องบิน