“คมนาคม” สรุปปม "สายสีเหลือง" ล้อประคองหลุดร่วง พบบกพร่องจากโรงงานผลิต ระงับใช้ทั้งล็อต พร้อมไล่เช็กทุกล้อที่ผลิตในล็อตเดียวกันเปลี่ยนใหม่หมดใน 6 เดือน และให้ใช้ฟรี 3-6 ม.ค. 67 ชดเชยรอนาน สั่งตรวจละเอียดก่อนวิ่ง “สุริยะ” ย้ำเกิดซ้ำ เตรียมเพิ่มบทลงโทษแบล็กลิสต์
วันที่ 3 ม.ค. 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมร่วมกับ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้แทน บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง กรณีเหตุล้อประคอง (Guide Wheel) รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หลุดร่วงลงมาใส่รถแท็กซี่สีเขียวเหลือง บริเวณถนนเทพารักษ์ ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) ฝั่งขาขึ้น (ปลายทางสถานีลาดพร้าว) ) เมื่อเวลา 18.21 น. วันที่ 2 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทำให้รถแท็กซี่ได้รับความเสียหายบริเวณด้านหน้ารถ โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตรวจสอบเพิ่มเติมที่ศูนย์ซ่อมบำรุงพบว่าเป็นล้อประคอง (Guide Wheel) ด้านล่างฝั่งขวา (ด้านนอกของคานทางวิ่ง) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หมายเลข YM 17 (ตู้หมายเลข YA117) หลุดออกจากแคร่ล้อ (Bogie) จำนวน 1 ล้อ ได้หลุดร่วงลงมานั้น สาเหตุเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหาย ทำให้ล้อประคองหลุดร่วงลงมา ซึ่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ จากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่ามีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ (ประจำวัน ประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน) ปัจจุบัน บริษัท Alstom (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป
รฟม.และกรมราง รวมถึงบริษัท EBM จะต้องร่วมกันตรวจสอบหาสาเหตุเชิงลึก เพื่อป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น เบื้องต้นตั้งข้อสันนิษฐานในเรื่องอุณหภูมิความร้อนหรือไม่ หรือเป็นความบกพร่องอุปกรณ์ หรือการซ่อมบำรุงไม่ดี ต้องตรวจสอบเชิงลึกด้านวิศวกรรม กรณีประเทศไทยเป็นเมืองร้อน เชื่อว่าในการออกแบบ ระบบรถไฟฟ้า ผู้ผลิต บริษัทระดับโลกจะต้องคำนึงถึงทุกๆ ปัจจัย และมีการทดสอบจนมั่นใจในมาตรฐาน
“ในเรื่องอุบัติเหตุของระบบคมนาคมรวมถึงอุบัติเหตุในระหว่างการก่อสร้าง ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างทำมาตรการควบคุมการทำงาน โดยจะทำเป็นสมุดพกบันทึกการทำงาน หากทำงานมีปัญหาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดจะนำไปสู่การลงโทษ เช่น ตัดคะแนนหรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ ห้ามเข้าร่วมประมูลงานของกระทรวงฯ และจะมีการลดลำดับชั้นผู้รับเหมา เป็นต้น เพื่อสร้างมาตรฐานให้ผู้ประกอบการ โดยอยู่ระหว่างหารือกรมบัญชีกลาง คาดว่าจะกำหนดเกณฑ์ออกมาชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการอยากรักษาธุรกิจของตัวเอง ยิ่งเป็นรายใหญ่ที่มีประสบการณ์คงไม่อยากถูกแบล็กลิสต์ เพราะธุรกิจจะเสียหาย” นายสุริยะกล่าว
@เช็กระบบล้อทุกขบวนก่อนวิ่ง ผ่านแล้ว 6 ขบวน ให้ใช้ฟรี 3-6 ม.ค. 67
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อเจ้าหน้าที่พบสัญญาณแจ้งเตือนความผิดปกติบริเวณล้อจึงทำการขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟฟ้า YM17 ลงที่สถานี แล้วนำขบวนรถไฟฟ้าออกจากระบบ เพื่อไปตรวจสอบที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ศรีเอี่ยม และนำขบวนรถหมายเลข YM 08 ขึ้นให้บริการทดแทนที่สถานีศรีเอียม (YL17) โดยไม่มีส่วนโครงสร้างทางได้รับความเสียหาย จึงให้บริการจนถึงเวลา 24.00 น. ตามปกติ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ล้อประคองหลุด สรุปได้ว่าเกิดจากการผลิตที่โรงงาน ได้สั่งให้งดใช้ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ใช้ชุดแคร่ล้อ (Bogie) ในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุ และตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมกับผู้ผลิตว่าความบกพร่องในการผลิตและหลุด QC ออกมาได้อย่างไร เพื่อดำเนินการแก้ไขและป้องกันให้ถูกจุดต่อไป และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเบ้าลูกปืนของล้อต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจตามวาระปกติก่อนนำขบวนรถไฟฟ้าขึ้นมาให้บริการประชาชน
โดยผู้ผลิตจะตรวจสอบและพิจารณาเปลี่ยนชุดล้อจากโรงงานใหม่ให้เล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยจากรายงาน ชั่วโมงการใช้งานของล้อประคองจะอยู่ที่ 320,000 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันการใช้งานอยู่ที่ 62,000 ชั่วโมงหรือประมาณ 20% ของชั่วโมงการใช้งานที่กำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ ได้ให้มอนิเตอร์ ติดตาม ตรวจสอบ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ด้วย ไม่มีการละเลย เพราะเป็นระบบโมโนเรลและใช้ผู้ผลิตรายเดียวกัน เพื่อความมั่นใจ
สำหรับการให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2567 จะเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบชุดล้อโดยละเอียดทุกขบวนก่อนนำออกวิ่ง คือ เช็กเรื่องค่าความร้อนไม่เกินมาตรฐาน และเช็กระยะห่างเบ้าลูกปืน จากมาตรฐานเดิมที่ 1 มิลลิเมตรต้องเปลี่ยนใหม่ เป็นไม่เกิน 0.5 มิลลิเมตร เพื่อความมั่นใจ ทำให้ในช่วงเช้ามีรถผ่านการตรวจสอบว่ามีความมั่นคงปลอดภัยออกมาให้บริการ 3 ขบวน และเพิ่มเป็น 6 ขบวน (ปกติวิ่ง 21 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน) โดยมีการปรับรูปแบบการให้บริการโดยมีความถี่ทุก 30 นาที จนถึงวันที่ 6 มกราคม 2567 และคาดว่าภายในวันที่ 8 มกราคม 2567 จะมีการตรวจสอบจนครบและทยอยปรับความถี่ในการให้บริการจนเป็นปกติ (ทุก 5-10 นาที)
ทั้งนี้ จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีโดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ถึง 6 มกราคม 2567 และหากเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บค่าโดยสารไปแล้วสามารถเรียกขอเงินคืนได้ทันที ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้ให้บริการและผู้ผลิตมีการประกันดูแล และยังเป็นรถใหม่ที่ยังอยู่ในระยะรับประกัน
“รถไฟฟ้าระบบโมโนเรลเป็นระบบที่มีมาตรฐานสากล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องตรวจสอบเชิงลึกอย่างละเอียดต่อไป กรณีอุบัติเหตุรถไฟฟ้าโมโนเรลนั้น พบว่าเคยเกิดที่ประเทศบราซิลเมื่อ 4 ปีก่อน และเกิดที่จีนเมื่อ 2 ปีก่อน สำหรับประเทศไทยเมื่อเกิดปัญหา ต้องตรวจสอบและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ระบบมีการสึกหรอ ซึ่งเสนอความคิดไปรองรับกรณีต่างๆ โดยเฉพาะการป้องกันการร่วงหล่นเพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตนในฐานะที่กำกับดูแลระบบราง เสียใจต่อเหตุการณ์ ทั้งสายสีชมพูและสีเหลือง ในขณะที่รัฐบาลพยายามให้ระบบรางเป็นที่ยอมรับเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงต้องขอโทษประชาชนแทนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบทลงโทษนั้น ในสัญญาสัมปทานไม่ได้เขียนไว้ ในเรื่องดังกล่าว โดยหากเกิดเหตุ ต่างๆ ที่จะเป็นอันตราย สามารถทำได้เพียงหยุดให้บริการและตรวจสอบแก้ไข ส่วนมาตรการระยะยาว คือ ต้องเร่งรัดการออกพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... เพื่อใช้ในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดบทลงโทษ และการชดเชยแก่ผู้โดยสารและผู้ได้รับผลกระทบ
ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีการทดลองการเดินรถเสมือนจริง (Trail Run) หลายเดือนแล้ว ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ และเปิดให้บริการมาแล้ว5-6 เดือน ซึ่งได้วิ่งให้บริการ ผ่านการทดสอบช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยมาแล้ว แต่ไม่เคยเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น และจากการตรวจสอบชิ้นส่วนเบ้าลูกปืน พบว่าอุณหภูมิไม่เกินขอบเขตของวัสดุที่ระบุไว้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงการนำรถไฟฟ้าโมโนเรลมาใช้ในประเทศไทย เหมาะสมหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าโมโนเรลเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งรถไฟฟ้าทุกระบบ มีจุดเปราะบาง รถไฟฟ้าระบบเฮฟวี่เรล เคยเกิดเหตุกับระบบอาณัติสัญญาณกรณีมีคลื่นรบกวน เมื่อเรารู้ว่า ระบบมีจุดเปราะบางตรงไหน เช่น โมโนเรลมีเรื่องชิ้นส่วน ซึ่งทางผู้ผลิตก็เรียกคืนทั้งหมด และเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น