xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.หนุน GML ลุยโลจิสติกส์ ตั้งเป้าปีนี้โกยรายได้ขนส่งทางราง 1.5 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.รุกธุรกิจโลจิสติกส์ ตั้งเป้า GML ลุยโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าเกษตรและปศุสัตว์เพื่อส่งออกผ่านระบบรางในปีนี้ราว 5,000 ตู้ โกยรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาท

นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรในกลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ในปี 2567 GML มีเป้าหมายจะเพิ่มการขนส่งสินค้าปศุสัตว์ผ่านระบบขนส่งทางราง นอกเหนือจากการขนส่งสินค้าเกษตร แต่ยังติดปัญหาทางจีนไม่มีเครื่องมือตรวจสินค้าประเภทกุ้ง และไก่ จึงต้องมีการเจรจาจีนให้เตรียมพร้อมในเรื่องนี้ก่อน โดยวางเป้าหมายขนส่งสินค้าทางรางในปีนี้ราว 5,000 ตู้ คาดว่าจะสร้างรายได้จากการขนส่งประมาณ 1,500 ล้านบาท

ในปี 2566 GML เริ่มทดลองขนส่งทางรางสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน, ยาง, ข้าว และเม็ดพลาสติก ไปแล้วกว่า 400 ตู้ มีรายได้หลายร้อยล้านบาท และในปี 2567 มีเป้าหมายการส่งออกสินค้าทางราง 5,000 ตู้ เป็นการประเมินจากศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานสูงสุดที่ประเทศไทยรับได้ ขณะที่แผน 5 ปีนี้ตั้งเป้า GML มีรายได้จากการขนส่งสินค้าประมาณ 5,000 -6,000 ล้านบาท เฉพาะขนส่งทางราง แต่หากในอนาคตมีการขนส่งทางอากาศเข้ามาเพิ่มคาดว่ารายได้จะโตขึ้นเท่าตัว โดยสัดส่วนรายได้จากการขนส่งทางรางจะอยู่ที่ 40% และขนส่งทางอากาศจะอยู่ที่ 60% บนพื้นฐานที่ภาครัฐต้องขจัดอุปสรรคเปิดประตูสู่การขนส่งสินค้าทางอากาศให้แล้วเสร็จก่อน

“ปตท.ตั้งธงเข้าลงทุนโลจิสติกส์เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อให้ไทยใช้ศักยภาพโลจิสติกส์ที่ลงทุนไปแล้วสร้างรายได้กลับเข้ามา จึงตั้ง GML ขึ้น และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เข้าไปประเทศแรก คือ จีน เพราะจีนมีโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการจีนเชื่อมโลก ซึ่งมีเส้นทางหนึ่ง จะมีรถไฟวิ่งผ่านไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ แต่ยังติดปัญหาการเชื่อมต่อที่ไทย”


ดังนั้น GML จึงเริ่มมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนโลจิสติกส์ในจีนผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร คือ บริษัท แพน-เอเชีย ซิลด์ โรด จำกัด (PAS) บุกเบิกเส้นทางการค้าขยายตลาดสู่จีน โดยผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน เริ่มจากเมืองฉงชิ่ง โดยเซ็นเอ็มโอยูกับฉงชิ่งโลจิสติกส์ (ยูฉิงโหว) ซึ่งมี 5 หุ้นส่วนใหญ่ คือ รัฐบาลจีน-การรถไฟประจำเมืองฉงชิ่ง-การรถไฟรัสเซีย-การรถไฟคาซัคสถาน-การรถไฟเยอรมนี เชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟที่มีระยะทาง 10,000 กม. สามารถเชื่อมต่อกันไปสู่ยุโรป โดยจากเริ่มทดลองส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟในเดือนธ.ค.ปี 2566

ทาง GML ยังร่วมมือกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านระบบการขนส่งทางราง มุ่งสร้างเครือข่ายด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศ รวมทั้ง GML ได้หารือและทำความร่วมมือกับการบินไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และพันธมิตร เพื่อร่วมมือกัน ยกระดับ ‘แวร์เฮาส์’ การบินไทย ให้เป็นระบบออโตเมชัน 100% ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปแนวทางการร่วมลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบใด และต้องวางงบประมาณลงทุนเท่าไรก็จะเสนอ บอร์ด ปตท.พิจารณาต่อไป

ในปี 2565 คณะกรรมการบริษัท สยาม แมนเนจเมนท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้นทั้งหมด อนุมัติให้จัดตั้ง บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด โดย SMH ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศไทย รวมถึงระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ผ่านระบบทางราง ทางทะเล ทางบกและทางอากาศ การบริหารจัดการคลังสินค้าห้องเย็น รวมถึงการบริหารและให้เช่าทรัพย์สินสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์ หวังลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลง


กำลังโหลดความคิดเห็น