“พลังงาน”ไม่เพียงเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วโลกแต่ยังคงมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะน้ำมันและไฟฟ้า ซึ่งตลอดปี 2566 ราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่ลดลงจากปี 2565 แต่ภาพรวมครึ่งปีแรกยังทรงตัวระดับสูงและเริ่มอ่อนตัวลงในช่วงท้ายปี… โดยรัฐบาลไทยและกระทรวงพลังงานได้มีการดูแลราคาพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพประชาชนต่อเนื่อง
ปี 2567 นโยบายด้านพลังงานจึงยังคงเป็นประเด็นท้าทายท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ดูจะไม่มีทีท่าสงบลง หากแต่จะส่อไปในทิศทางที่หลายคนกังวลว่าอาจจะลุกลามหรือไม่ ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างพลังงานของไทยเองก็มีเงื่อนปมรอให้สะสาง จึงต้องติดตามใกล้ชิดว่าปี 2567 จะเป็นปีมังกรทองสำหรับผู้บริโภค หรือ ผู้ผลิตน้ำมันและไฟฟ้ากันแน่ ..... โดยมีประเด็นที่ต้องจับตาหลักๆ ดังนี้
กองทุนน้ำมันกับหนี้8หมื่นล.ถึงเวลาคืนเงินต้น
อันดับแรกเลยหนีไม่พ้น “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานในการเป็นกไลไกดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)มายาวนานโดยประเมินกันว่าสิ้นปี 2566 กองทุนน้ำมันฯจะมีฐานะสุทธิติดลบราว 80,000 ล้านบาทจากหลักๆที่ตรึงดีเซลไว้ที่ 29.94 บาท/ลิตรซึ่งล่าสุด”ครม.”เศรษฐาได้เห็นชอบขยายเวลาตรึงยาวไปถึงมี.ค.67 โดยอาศัยการปรับลดภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลังเข้าไปสนับสนุนอีกทาง และ LPG ก็ตรึงที่ 423 บาท/ถัง15กิโลกรัม(กก.) จนถึงมี.ค. 67 เช่นกัน
กองทุนน้ำมันฯภายใต้การบริหารของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.)ที่ผ่านมาได้มีการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯตามมติครม.เห็นชอบกรอบเพดานการกู้ที่ 1.5 แสนล้านบาทและบรรจุเป็นหนี้สาธารณะไว้ทั้งสิ้น 1.1 แสนล้านบาทโดยมีการทยอยกู้เงินมาใช้ต่อเนื่องและล่าสุดเหลือวงเงินบริหารราว 4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือในเดือนพ.ย.67 ถึงเวลาที่ต้องชำระหนี้คืนเงินต้นราว 3 หมื่นล้านบาทก้อนแรก ....
เงินดังกล่าวจะมาจากทางใดท่ามกลางสถานะกองทุนฯที่ยังมีรายได้อยู่ในแดนลบ แต่หากราคาน้ำมันโลกอ่อนตัวลงแบบแรงๆ ก็พอจะมีหวังให้เก็บเงินเข้ากองทุนฯได้บ้างโดยเฉพาะกลุ่มเบนซินที่คนกลุ่มนี้ต้องแบกภาระโดยรวมไว้ แต่คงไม่แฟร์นัก ตรงกันข้ามหากน้ำมันโลกสวิงตัวในช่วงขาขึ้น ดีเซลอาจต้องขยับเพดานการปรับราคาขายปลีกขึ้นหรือไม่ เช่นเดียวกับ LPG … เหล่านี้ยังเป็นประเด็นท้าทายที่กระทรวงพลังงานควรจะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า...เพราะหากจะตั้งหน้าตั้งตาให้กองทุนฯตรึงราคาอย่างเดียว...แล้วไปกู้เพิ่มคงจะไม่ใช่คำตอบของการบริหารที่ดี
อุ้มค่าไฟกว่าแสนล.ภาระใครถ้าไม่ใช่ปชช.
“ค่าไฟฟ้า”เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากการตรึงค่าไฟฟ้านับตั้งแต่งวดก.ย. 64- เม.ย.66 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไปก่อนรวมเป็นเงินสูงถึง 150,268 ล้านบาท ก่อนที่จะได้รับการทยอยจ่ายคืน โดยมติครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 66 ที่ให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นจาก 3.99 บาทต่อหน่วย เป็น 4.20 บาทต่อหน่วยซึ่งช่วยลดภาระหนี้ลงมาได้
ต่อมางวดม.ค.-เม.ย. 67คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 3.99 บาท/หน่วยเป็น 4.68 บาท/หน่วยโดยคำนึงถึงหนี้กฟผ.ที่ต้องจ่ายคืน 2 ปีแบ่งเป็น 6 งวดงวละ 15,963 ล้านบาทรวมเป็นเงิน 95,777 ล้านบาท แต่ฝ่ายการเมืองแตะเบรกเพราะมองว่าสูงเกินไป ...ต้องการให้ค่าไฟสำหรับผู้ใช้ไฟทั่วไปไม่เกิน4.20บ./หน่วย
สุดท้ายการตรึงค่าไฟฟ้าภาระเหล่านี้มีการประเมินว่าปี 2567 จะยังคงสูงระดับ 1.3 แสนล้านบาท นโยบายดูแลค่าไฟฟ้าเพื่อลดค่าครองชีพประชาชนของรัฐบาลจึงไม่ได้ทำให้ต้นทุนค่าไฟเหล่านี้หายไปไหนก็แค่รอวันจ่ายคืน .... หากงวดต่อไป(พ.ค.-ส.ค.67) ปัจจัยต่างๆทั้งก๊าซฯ ค่าเงินบาท น้ำมันฯ แพง ....การช่วยเหลือประชาชนด้วยการตรึงต่อแบบวิธีเดิมๆไม่ควรเป็นคำตอบสุดท้ายเพราะไม่เพียงโยนภาระไปให้ประชาชนในอนาคตที่บวกดอกเบี้ยเงินกู้ของกฟผ.แล้วยังมีส่วนทำให้กฟผ.อ่อนแอลงหรือไม่?
”กฟผ.”ปี’67หมดเวลาสุญญากาศขาดผู้นำ
เมื่อพูดถึงค่าไฟก็หนีไม่พ้นต้องมองไปถึงองค์กร”กฟผ.” เพราะนับตั้งแต่บอร์ดกฟผ.วันที่ 8 มี.ค. 66 เคาะผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ที่ครบวาระวันที่ 21 ส.ค. 66 โดยบอร์ดได้เลือกนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ แต่ต่อมามีการยุบสภาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
หลังจากมีรัฐบาลแล้วมีการหารือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ข้อสรุปว่า ตามขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ. ภายหลังการตั้งรัฐบาลใหม่ จะต้องส่งรายชื่อผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ กลับไปให้บอร์ด กฟผ. พิจารณาใหม่ หลังจากนั้น รมว.พลังงานจึงจะนำรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไปได้
ปัจจุบันกฟผ.เกิดสุญญากาศของการบริหารงานเพราะขาดผู้นำ แล้วระดับผู้บริหารรองๆ ก็ต้องรักษาการ ทำให้ระบบบริหารไม่มีประสิทธิภาพ ….เมื่อสอบถามไปยังเจ้ากระทรวงก็ยันเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องรอบอร์ดกฟผ.ใหม่ก่อน.... หลังจากที่บอร์ดบมจ.ปตท.เปลี่ยนแปลงประธานบอร์ดล่าสุด คิดว่าคงไม่นานบอร์ดกฟผ.ก็น่าจะย้ายมาจากฟากปตท. และน่าจะได้ฤฏษ์คลอดในไม่ช้า ปี 2567 กฟผ.ควรจะได้ผู้ว่าคนใหม่เสียทีเพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า ...แต่จะหวังเป็นรายชื่อเดิมนั้นคงจะต้องดูเวลาเพราะยิ่งตั้งช้าเงื่อนไขวาระที่เหลือต้องครบ2ปียิ่งตกไป ..
แผนพลังงานกับหมุดหมายRE-ลดชนิดน้ำมัน
ภาคเอกชนต่างเฝ้ารอแผนพลังงานชาติที่ประกอบด้วยแผนพลังงานย่อย 5 แผนที่คาดหมายว่าจะคลอดกันได้ในช่วงต้นปี 2567 โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP)ใหม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในแบบ Energy mixed โดยจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการไฟฟ้าสีเขียวในเฟสที่ 2 ที่ภาคเอกชนต่างเฝ้ารอ แต่ภาพรวมของพลังงานหนีไม่พ้นที่จะต้องตอบโจทย์กติกาสากลที่มุ่งดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นอกจากนี้ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเองก็จะมีการเปลี่ยนแปลงสู่มาตรฐานยูโร 5 วันที่ 1 ม.ค. 67 และภายใต้แผนบริหารน้ำมันเชื้อเพลิง(Oil Plan) ก็คงจะมีภาพที่ชัดเจนเรื่องประเภทน้ำมันซึ่งเบื้องต้นกรมธุรกิจพลังงานก็ส่งสัญญาในส่วนของดีเซลแล้วที่จะเหลือ 2 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาที่เป็นน้ำมันฐานของประเทศจะมีการผสมไบโอดีเซล (B100) อยู่ที่ร้อยละ 7 ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่สามารถใช้กับน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ค่ายรถยนต์ให้การยอมรับและไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 เป็นน้ำมันทางเลือก เริ่ม 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ส่วนฟากทางกลุ่มเบนซินก็น่าจะเห็นภาพต่อไป
ปรับโครงสร้างพลังงานรอพิสูจน์ฝีมือ”พีระพันธุ์”
ต้องจับตากันต่อไปหลังจากที่ ”พีระพันธุ์ สาลีสาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” ได้ก้าวเข้ามานั่งทำงานที่กระทรวงพลังงานโดยให้คำมั่นไว้ว่าหนึ่งในนโยบายที่จะมุ่งเน้นดำเนินงานนอกเหนือจากระยะสั้นที่จะดูแลราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้าไม่ให้กระทบประชาชนที่ทำไปแล้วนั่นคือ การปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบซึ่งท่านรับว่าอาจต้องใช้เวลา..แต่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรม
โดยล่าสุดครม.มีความเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.66 ถึงการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ คือปรับราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้า-ออกโรงแยกก๊าซจากเดิมใช้ราคา Gulf Gas (ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเท่านั้น) ให้เป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของก๊าซอ่าวไทย, พม่า และ LNG รวมกัน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 ส่วนประชาชนจะได้ใช้ก๊าซในราคาที่ถูก นี่น่าจะเป็นด่านแรกของการปรับโครงสร้าง ....
ทั้งนี้การประชุมรัฐสภา 21 ธ.ค.66 มีการตอบคำถามฝ่ายค้านถึงประเด็นดังกล่าวโดยนายพีระพันธุ์ได้ตอบกระทู้สดให้เห็นถึงแนวคิดว่าจะไม่ใช่เพียงแก้ไขปัญหาระยะสั้นแต่จะต้องทำให้เกิดความยั่งยืนคือต้องรื้อระบบพลังงานเพื่อไม่ปล่อยให้ราคาพลังงานของไทยถูกกดโดยราคาตลาดโลกเพื่อไม่ให้ประชาชนกลายเป็นผู้แบกปัญหาไว้ทั้งหมด .... ดังนั้นจึงต้องคอยติดตามผลงานชิ้นต่อไปโดยเฉพาะมีการส่งสัญญาณถึงการแก้ไขกฏหมายที่จะทำให้มีอำนาจไปกำกับด้านพลังงานเพิ่มขึ้น ..... คงจะต้องติดตามใกล้ชิดในประเด็นนี้
ราคาน้ำมันตลาดโลกปี’67ยังผันผวนสูง
ราคาน้ำมันตลาดโลกปี 2567 ยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อการชี้ชะตาอนาคตราคาน้ำมันของไทยซึ่งเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ยากเนื่องจากไทยยังคงเป็นผู้นำเข้า โดยแม้ในภาพรวมปี 2566 ราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลงพอสมควรโดยช่วงนี้น้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวระดับ 78-79 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยหากเทียบกับช่วงปลายปี 2565 เคลื่อนไหวที่ 91 เหรียญ/บาร์เรลนับว่าอ่อนตัวมาพอสมควร
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันโลกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องติดตามใกล้ชิดเพราะการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนได้ก่อวิกฤติด้านพลังงานมาแล้ว จึงไม่ควรประมาทท่ามกลางความคุกรุ่นของสมรภูมิรบอื่นๆ ทั้งระยะสั้น ที่มีการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดงของกลุ่มกบฏฮูตี อาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกได้รับผลกระทบ โดยเรือบรรทุกสินค้าบางส่วนได้เปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าการขนส่งที่สูงขึ้น ... และยังมีสมรภูมิอื่นๆ ทั้งในทะเลจีนใต้ ความขัดแย้งจีนกับไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ... ล้วนแล้วแต่ยังไว้ใจไม่ได้ทั้งสิ้น
นี่คือภาพรวมของสถานการณ์พลังงานที่มีประเด็นให้ต้องติดตามหลักๆ ในปี 2567 ดังนั้น ...ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า จะเป็นปีมังกรทองของผู้บริโภคหรือไม่ต้องฝากไว้กับทิศทางของตลาดโลก อีกส่วนหนึ่งคือ ฝีมือของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานในการเตรียมพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ ...แต่เหนือสิ่งอื่นใดสำคัญสุดคือ”คนไทย”ทุกคนต้องรู้จักใช้จ่าย ประหยัดทางรอดที่ไม่ต้องพึ่งใคร .... สุดท้ายขอให้ปีมังกรทองเป็นปีทองของคนไทยทุกคน