xs
xsm
sm
md
lg

ปิดจ๊อบ ปี 66 ชู 10 ผลงานเด่นด้านพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อเศรษฐกิจ-สังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมาวงการอวกาศไทยตื่นตัวอย่างสุดๆ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเกิดผลงานขึ้นมากมายทั้งระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและระดับสากล ซึ่งมีหน่วยงานอย่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง จะมีอะไรเด่นๆบ้างมาดูกัน

1.ดาวเทียม THEOS-2
ถ้าไม่พูดถึงเรื่องนี้คงไม่ได้ ดาวเทียม THEOS-2 ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในทุกสื่อและทุกช่องทางรวมไปถึงช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าคนไทยกำลังให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ซึ่งถือเป็นวันประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้
ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมรายละเอียดสูงมากดวงแรกของไทย และเป็นหนึ่งในสองดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา มีศักยภาพในการถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 ซม. สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตร.กม./วัน มีภารกิจหลักคือการบันทึกภาพพื้นผิวโลกทั้งในประเทศไทยและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดการเกษตร บริหารจัดการน้ำ จัดการภัยธรรมชาติ จัดการเมืองและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศอีกด้วย

2.งาน Thailand Space Week 2023
จบลงไปอย่างสวยงามกับงานสัปดาห์อวกาศในระดับนานาชาติ งานนี้องค์การอวกาศจากนานาชาติให้ความสนใจเข้าร่วมงานนี้กันมากมาย อาทิ NASA , JAXA เป็นต้น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 27 ตุลาคม 2566 ณ Plenary hall ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยวัตถุประสงค์ของงานนี้คือเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมุ่งแสวงหาโอกาสและเปิดรับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านอวกาศในภูมิภาคอาเซียน และไปสู่การเป็นประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศระดับโลกในอนาคต

3.ประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก 2023 หรือ CEOS 2023
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (CEOS) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อใช้ดาวเทียมสำรวจโลกในการปฏิบัติภารกิจต่างๆเพื่อโลก โดยในกลุ่มนี้จะมีองค์กรด้านอวกาศชั้นนำของโลกจากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกันและในแต่ละปีจะมีประเทศสมาชิกที่ในกลุ่มมีการเล็งเห็นแล้วว่ามีศักยภาพให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งปี 2566 ประเทศไทย โดย GISTDA ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ดำรงตำแหน่งในฐานะผู้อำนวยการ GISTDA ในปีนี้ได้ผลักดันวาระการใช้เทคโนโลยีอวกาศ ลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อนำไปสู่การบรรเทาปัญหาโลกร้อน โดยหน่วยงานด้านอวกาศจะร่วมกันส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถเกี่ยวกับการใช้ดาวเทียมสำรวจโลกทั้งด้านการตรวจสอบปริมาณคาร์บอนสะสมของป่าไม้ การติดตามและการวัดการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณที่ปกคลุม หรือการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและยังช่วยสนับสนุนพร้อมขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนภายในประเทศต่อไปอีกด้วย

4.ระบบพยากรณ์อวกาศ (Thailand Space Weather Forecast System )
อีกเรื่องราวที่น่าสนใจมากหากใครเคยได้ยินชื่อของพายุสุริยะจะพอสามารถคาดการณ์ได้ว่าถ้าโลกได้รับผลกระทบจะเกิดผลกระทบต่อการสื่อสารมากมาย ซึ่ง GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ (S-TREC) ได้พัฒนาระบบพยากรณ์สภาพอวกาศของประเทศไทยซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โครงการนี้ถือเป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าที่จะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถสูงขึ้น สามารถแข่งขันด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงทัดเทียมประเทศที่ก้าวหน้าในเอเชีย โดยในปี 2567 นี้มีการคาดการณ์ว่าพายุสุริยะจะมีความรุนแรงมากขึ้นในรอบ 11 ปี การให้ข้อมูลข่าวสารทางด้านสภาพอวกาศของประเทศสู่ประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบ Application เช่น การปฏิบัติการดาวเทียมของประเทศไทย (satellite operations) การใช้ห้วงอากาศบิน (air space) ระบบโรงงานไฟ้ฟ้า ผู้ที่ใช้ระบบ GPS และ smart technology (smart farming, smart vehicle และอื่นๆ) จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นและสามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางคล้ายกับการพยากรณ์อากาศที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน

5.ระบบพิทักษ์ทะเลและชายฝั่ง
เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ GISTDA ร่วมกันพัฒนาระบบปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อค้นหาพื้นที่บุกรุกป่าชายเลนในลักษณะพร้อมใช้งานในเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่บุกรุกป่าชายเลนรวมถึงการติดตามการเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนอีกด้วย โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงเวลาใกล้เคียงปัจจุบัน และนำมาคัดกรองร่วมกับชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มีการแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบได้เข้าปฏิบัติงานและรายงานผลการตรวจสอบ ระบบนี้จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทวงคืนผืนป่าชายเลนจากการบุกรุกทำลายในพื้นที่รับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้มีฐานข้อมูลการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนอย่างเป็นรูปธรรม

6.แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง”
แพลตฟอร์มสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เป็นแพลตฟอร์มฯ ที่มีการพัฒนาแบบจำลองการสร้างดัชนีภัยแล้งและดัชนีความเสียหายของพืชแบบอัตโนมัติ ด้วยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา ผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล ให้บริการผ่านเว็บแอปพลิเคชัน http://cropsdrought.gistda.or.th สำหรับให้หน่วยงานระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในด้านการช่วยเหลือเกษตรกรและการบริหารจัดการภัยแล้ง และโมบายแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” เหมาะสำหรับเป็นข้อมูลให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมรับมือ และการวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหลักๆจะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการเพาะปลูกพืชโดยมีดัชนีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและดัชนีประเมินความเสียหายของพืช 4 ชนิดคือ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังและอ้อย อนาคตจะมีแนวทางในการพัฒนาแบบจำลองเพื่อการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งล่วงหน้ารายฤดูกาล 3-6 เดือนที่จะช่วยเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกได้ล่วงหน้า

7. แอปพลิเคชัน “Dragonfly”
“Dragonfly” แพลตฟอร์มเกษตรเชิงพื้นที่รายแปลง แอปพลิเคชันสำหรับภาคการเกษตรน้องใหม่ที่น่าจับตาซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ทุกปัญหาของเกษตรกรในระดับรายแปลงที่แม่นยำ และทันสมัย ช่วยให้เกษตรกรสามารถติดตาม เฝ้าระวัง และคาดการณ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนและบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งขายผลผลิต นอกจากเข้าถึงง่าย ใช้งานได้สะดวกแล้ว ยังติดตามและเฝ้าระวังความสมบูรณ์ของพืชได้ทุกสัปดาห์ ไม่ให้พืชเสียหายหนักจนเกินแก้ไข พร้อมแจ้งเตือนการเฝ้าระวัง สภาพอากาศ บอกพื้นที่น้ำท่วม ภัยแล้งในแปลงและข้างเคียงได้ บอกราคารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นปัจจุบัน แนะนำการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี รวมถึงมีเครื่องมือช่วยให้เกษตรกรจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย และผลผลิตในแต่ละวงรอบการเพาะปลูกได้ด้วย

8. sphere
สำหรับธุรกิจยุคใหม่ต้องถูกใจอย่างแน่นอน โดย GISTDA ได้พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ที่พัฒนาโดยฝืมือคนไทยใช้ชื่อว่า “sphere” มาให้บริการเป็นเครื่องมือและข้อมูลเชิงพื้นที่ผ่าน API เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถนำข้อมูลเชิงพื้นที่ไปสร้างแผนที่หรือนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างอิสระ โดยมีฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน ทั้งด้าน Base Map แผนที่ฐานที่ใช้ร่วมกับ Map APIs และแพลตฟอร์มอื่นๆได้ Data as a Services ข้อมูลออนไลน์ที่ใช้ร่วมกับแผนที่ Where แผนที่นำทางและแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่สุดล้ำ Data Cube ข้อมูลที่จะนำไปวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ชั้นสูงได้ Map Maker พื้นที่สำหรับสร้างแอปพลิเคชัน และ Map APIs ชุดคำสั่งใหม่ที่ใช้ในการพัฒนาข้อมูลเชิงพื้นที่ ที่สำคัญใช้งานง่ายมาก สำหรับใครที่อยากสร้างแอปพลิเคชัน แนะนำ sphere เลย สามารถใช้ทำงาน ใช้สร้างได้ทุกเพศทุกวัย เพื่อธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับโลกแห่งนวัตกรรมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง ครบ จบ ในแพลตฟอร์มเดียว

9. School Satellite
อีกหนึ่งโครงการดีๆสำหรับเยาวชน ซึ่งก็คือโครงการดาวเทียม School Satellite ที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาดาวเทียม เพื่อสร้างบุคลากรด้านกิจการอวกาศ ให้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษามหาวิทยาลัย ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงด้วยดาวเทียม School Satellite โดยเลือกใช้อุปกรณ์บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาดาวเทียมให้แก่ผู้สนใจ ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากเยาวชนและโครงการนี้ยังต่อยอดไปสู่การพัฒนาดาวเทียมสำหรับเยาวชนในปี 2567 อีกด้วย

10. อบรมฟรี หลักสูตร “การพัฒนาดาวเทียม”
สำหรับเรื่องสุดท้าย ต้องบอกว่าปีนี้เรื่องของดาวเทียมถูกพูดถึงมากๆ อีกเรื่องที่หลายๆภาคส่วนให้ความสนใจและอยากเข้าร่วมด้วยคือการสร้างดาวเทียมโดยฝีมือคนไทย GISTDA เลยผลักดันการพัฒนาดาวเทียมโดยการจัดหลักสูตรอบรมฟรี..!! แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการออกแบบดาวเทียม องค์ประกอบของดาวเทียม รวมถึงโครงสร้างกลไกการทำงานของดาวเทียมเพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดในสายงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เรียนจะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากวิศวกรดาวเทียมของไทยภายใต้โครงการ THEOS-2 ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างบริษัท เซอร์เรย์ แซทเทิลไลท์ เทคโนโลยี จำกัด จากประเทศอังกฤษ ทั้งการออกแบบ พัฒนา สร้าง ทดสอบ และประกอบดาวเทียม อนาคตเราจะได้เห็นคนไทยสร้างดาวเทียมได้เองอย่างเต็มรูปแบบแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น