xs
xsm
sm
md
lg

อานิสงส์EV ดันอุตฯยานยนต์ดาวรุ่งปี2567-เหล็กดาวร่วงต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเผย (สศอ.) เผย“อุตสาหกรรมยานยนต์” ดาวรุ่งสุดปี 2567 จากการเข้ามาของ รถ EV ขณะที่ “อุตสาหกรรมเหล็ก”เป็นดาวร่วงซ้ำอีกปี หลังโดนทุ่มตลาดจากเหล็กนำเข้าอาการหนักต่อเนื่อง เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 11 เดือนแรกปีนี้หดตัว 5.01% จากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า หนี้ครัวเรือนฉุดกำลังซื้อ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2567 ที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องโดยนับเป็นดาวรุ่ง คืออุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากจะเริ่มมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ (BEV) ตั้งแต่ไตรมาส 1/2567 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอาหารเฉพาะกลุ่มเพื่อสุขภาพที่กำลังมาแรง
สำหรับอุตสาหกรรมดาวร่วงเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก ผลจากการแข่งขันที่รุนแรงจากการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก ส่งผลให้มีการแข่งขันด้านราคาที่ส่งผลกระทบในปี 2566 อย่างมาก เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น HDD ซึ่งพบว่ามีการเติบโตที่ลดลงมาโดยตลอดจากการที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ความต้องการลดลงอย่างต่อเนื่อง

“ดาวรุ่งปีนี้ 2566 คือรถจักรยานยนต์ยอดขายดีมาก เพราะตลาดดีลิเวอรี่โต ตามมาด้วยเครื่องปรับอากาศ เราส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก กลุ่มอาหารโตจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ Functional Foods ส่วนดาวร่วง สิ่งทอหดตัวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และเหล็กที่ร่วงมาตลอดปี”นางวรวรรณกล่าว

นางวรวรรณ กล่าวถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 90.83 หดตัว 4.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 5.01% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 57.87% และ 11 เดือนแรกอยู่ที่เฉลี่ย 59.38%เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว เนื่องจากนโยบายการเงินของต่างประเทศยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง


อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์การกลั่นปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหาร สะท้อนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการส่งออกรวมขยายตัว 3.37% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมฟักทองขยายตัว 2.94% โดยคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้นในช่วงเวลาหลังจากนี้

นอกจากนี้ ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนธันวาคม 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น” จากปัจจัยภายในประเทศที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในทุกองค์ประกอบ โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลง จากความเชื่อมั่นที่ไม่ใช่ภาคการผลิตลดลง กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และภาคการก่อสร้างที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ส่งผลต่อการประมูลโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังกังวลต่อการขึ้นค่าแรง ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงหดตัว ส่วนสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังกังวลเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น