GPSC ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม 5 หน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการ "คนมีไฟ" เพื่อติดตั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 105 กิโลวัตต์พีก ยันพร้อมหนุนต่อเนื่องรวม 5 ปี ภายใต้งบกว่า 20 ล้านบาท
เป็นเรื่องที่น่ายินดีกับองค์กรที่ได้รับคัดเลือกภายใต้โครงการ "คนมีไฟ" โครงการดีๆ ที่ทางบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ได้ร่วมมือกับกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก ล่าสุดได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อติดตั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 105 กิโลวัตต์พีก กับทั้ง 5 หน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการ ได้แก่ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์, โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เขตสุขภาพที่ 8 จ.อุดรธานี, สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อม วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง
นางปริญดา มาอิ่มใจ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า โครงการคนมีไฟเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ GPSC ในเรื่องของการส่งเสริมพลังงานสะอาด การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งวัตถุประสงค์ที่สำคัญของโครงการก็คือองค์กรผู้เสนอโครงการนำค่าไฟฟ้าที่ลดได้ไปใช้ประโยชน์กับชุมชนโดยรอบ โดยโครงการคนมีไฟได้เริ่มเปิดรับสมัครใน ส.ค. 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยเปิดรับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระ ด้านการศึกษา สาธารณสุข และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอโครงการ โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกโครงการจากความสามารถในการช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่ของหน่วยงานที่เสนอเข้ามาได้เป็นประโยชน์มากที่สุด
ทั้งนี้ GPSC มีเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ในปี 2603 และตั้งใจที่จะมีแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ในด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ถึง 50% ของแฟ้มสะสมผลงานทั้งหมด ที่สำคัญ โครงการนี้ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนกับในภาคธุรกิจ ภาคองค์กร และชุมชน ได้ใช้พลังงานสะอาดเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้วย ซึ่งทาง GPSC มีแนวทางที่จะสนับสนุนโครงการนี้ต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปี ภายใต้งบประมาณในการสนับสนุนโครงการมากกว่า 20 ล้านบาท
ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือกับ GPSC ต่อโครงการคนมีไฟว่า จากการที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนได้มีบทบาทในเรื่องพลังงานทดแทน ทำให้ได้เห็นภาพว่าประเทศไทยต้องมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบไฟฟ้าจากปัจจุบันที่มีเพียง 10% จะต้องไปถึง 80% ในระยะเวลา 10-20 ปีนี้ แต่ประเด็นสำคัญคือภาคครัวเรือน ชุมชน ยังมีพลังงานหมุนเวียนเข้าไปไม่มากพอ มีความรู้เรื่องเหล่านี้ค่อนข้างน้อย งบประมาณในการติดตั้งค่อนข้างต่ำ ทางสภาอุตสาหกรรมฯ เล็งเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก จึงดำริทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาโครงการแรก
โดยทางกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนได้ส่งตัวแทนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องของพลังงาน เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ เข้ามาในการคัดเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติ องค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 40 กว่าองค์กร ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่ตั้งไว้ โดยพิจารณาเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วน ผลกระทบของโครงการต่อชุมชน ชาวบ้านมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ตนคาดหวังว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อไปลดค่าไฟฟ้าจะทำให้ชุมชนละแวกใกล้เคียง โรงเรียน มหาวิทยาลัย ได้เห็นภาพของการทำงาน และได้เผยแพร่เรื่องดังกล่าวออกไปจนทำให้เป้าหมายของประเทศที่จะเป็นสภาวะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (NET Zero) ในอีก 20-30 ปีข้างหน้าเป็นไปได้จริง
นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการคนมีไฟ เปิดเผยว่า จริงๆ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก็มีแผนที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในโรงพยาบาลต่างจังหวัดซึ่งให้บริการประชาชนจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าในปริมาณค่อนข้างสูงจนกระทั่งได้สมัครเข้ากับโครงการนี้และได้รับการคัดเลือก ก็รู้สึกดีใจเพราะจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
ซึ่งทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้เสนอให้ติดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เขตสุขภาพที่ 8 จ.อุดรธานี ให้บริการด้านการเจ็บป่วยเรื้อรัง ปวดเรื้อรัง นอนไม่หลับ ตามศาสตร์แพทย์แผนไทย-จีน และบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด โดยจะนำงบประมาณในส่วนของค่าไฟที่ลดลงมาสนับสนุนการให้บริการประชาชน ทั้งค่ายารักษาโรค ค่าใช้จ่ายเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มขึ้น
ดร.ประชา คำภักดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จริงๆ ก็เป็นหนึ่งในนโยบายของ ม.อุบลราชธานี และโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ที่อยากจะผลักดันพลังงานสะอาด และในส่วนของโรงงานต้นแบบ ที่โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ก็มีการใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ จึงพยายามอยากหาวิธีประหยัดพลังงานโดยใช้พลังงานทดแทนให้สอดคล้องกับนโยบายสมาร์ท เอนเนอร์ยี กรีน ยูนิเวอร์ซิตี้ ซึ่งเมื่อได้รับการคัดเลือกจากโครงการคนมีไฟก็รู้สึกดีใจมาก เซอร์ไพรส์ เพราะทราบว่ามีผู้เสนอโครงการมากถึงเกือบ 50 ราย
ทั้งนี้ ในส่วนของโรงงานต้นแบบแปรรูปเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์บ่นเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อตอบสนองต่อเอกชน หรือผู้ประกอบการที่จะใช้ประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินงานมากว่า 3 ปี มีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าราว 50,000-60,000 บาท โดยคาดว่าโครงการนี้คงจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ประมาณเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งจะนำเงินส่วนหนึ่งไปเป็นคูปองส่วนลดค่าใช้บริการ แปรรูปองค์ความรู้ การศึกษาดูงาน ของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่เข้ามาศึกษาในโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์
นายทองอาบ บุญอาจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ตนรู้สึกดีใจ และขอบคุณ GPSC ที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการคนมีไฟเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากค่าไฟฟ้า ที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ เนื่องจากจำนวนนักศึกษาที่เรียนต่อมีน้อยลง จนกระทบต่อโอกาสในการได้รับงบประมาณจัดสรรอุดหนุนฝึกงานฟาร์มทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อุปกรณ์ทุกอย่าง และเมื่อต้องนำเงินงบประมาณไปจ่ายค่าไฟฟ้าจนหมดก็ทำให้นักศึกษาสามารถฝึกได้เพียง 1-2 ครั้ง จนอาจไม่มีทักษะความชำนาญ ทำให้การผลิตและพัฒนาคนไม่สอดคล้องกับสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพส่วนตัว
พอได้รับการพิจารณาคัดเลือกก็รู้สึกดีใจมาก เหมือนมีทางสว่าง โดยตนคิดว่าจะนำเงินส่วนที่เหลือจากค่าไฟฟ้าที่ลดลงไปใช้กับการพัฒนางานฟาร์ม นำไปซื้อปัจจัยการผลิตด้าน พืช สัตว์ ประมง เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกซ้ำหลายรอบ และเตรียมที่จะนำไปใช้ขยายโซลาร์ฟาร์ม ทำระบบการสูบน้ำเข้านาด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคโรงเรียนมัธยมศึกษาในเครือข่ายที่อยู่ห่างไกล นอกจากนี้ยังเชิญชวนให้องค์กรต่างๆ ยื่นใบสมัครโครงการคนมีไฟในปีถัดไปเพื่อให้ได้ใช้พลังงานสะอาดและได้ช่วยลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าอีกด้วย
(Advertorial)