รฟท.เตรียมเปิดประมูลซ่อมใหญ่รถดีเซลรางปรับอากาศ แดวูจำนวน 39 คัน วงเงิน 975 ล้านบาทต้นปี 67 หลังนำร่างทีโออาร์ฉบับปรับปรุงรับฟังคำวิจารณ์ ปรับขยายเวลาเป็น 4 ปี 2 เดือนจากเดิม 3 ปี 7 เดือนส่วนซ่อมหัวจักรฮิตาชิ 21 คัน อยู่ระหว่างปรับแผนหลังไม่มีเอกชนยื่นประมูล
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เตรียมเปิดประกวดราคาโครงการประกวดราคาจ้างซ่อมปรับปรุงรถDAWOO จำนวน 39 คัน ด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 975 ล้านบาท โดยได้นำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference :TOR) ฉบับปรับปรุง เผยแพร่เพื่อรับฟังวิจารณ์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 22 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าฯ รฟท. เปิดเผยว่า ตามขั้นตอนหากไม่มีการวิจารณ์ร่างทีโออาร์ ที่เป็นสาระสำคัญและไม่ต้องแก้ไขทีโออาร์แล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลจ้างซ่อมปรับปรุงรถดีเซลราง DAWOO จำนวน 39 คัน ได้ในต้นปี 2567
ส่วนก่อนหน้านี้ ที่รฟท. ได้เปิดประกวดราคาจัดจ้างซ่อมปรับปรุงรถจักร ฮิตาชิ หรือ HID (HITACHI 8FA-36C) จำนวน 21 คัน ราคากลาง 777 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่ปรากฎว่า ไม่มีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอราคานั้น นายอนันต์กล่าวว่า คณะกรรมการประกวดราคาฯได้ประเมินสาเหตุปัจจัยที่มีผลทำให้ที่ไม่มีเอกชนยื่นเสนอราคา ทั้งเรื่อง ต้นทุนค่าวัสดุ ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น โดยขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างปรับแผนการดำเนินงาน ในเรื่องการบริหารจัดการหัวรถจักรเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อหารือกับฝ่ายนโยบายในการดำเนินการต่อไป
@เปิดทีโออาร์ ฉบับปรับปรุงใหม่”ซ่อมไป-ใช้งานไป” ทยอยส่งมอบ13 งวด ระยะเวลากว่า 4 ปี
โดยร่าง TOR จ้างซ่อมปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ DAWOO จำนวน 39 คัน ฉบับปรับปรุง กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานเช่น ซ่อมบำรุงปรับปรุง( Refurbish) รถดีเซลรางหรือซ่อมวาระหนักรถโดยสารหรือซ่อมหนักอุบัติเหตุรถโดยสารหรือซ่อมดัดแปลงรถโดยสารจะเฉพาะหรือซ่อมดัดแปลงรถโบกี้ไฟฟ้ากำลังในวงเงินไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทซึ่งผลงานดังกล่าวของผู้ยื่นเสนอต้องเป็นผลงานในสัญญาเดียวเท่านั้น และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่ รฟท.เชื่อถือโดยเป็นผลงานที่แล้วเสร็จซึ่งได้มีการส่งมอบงานและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว
กำหนดระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกิน 1,545 วันหรือ ประมาณ 4 ปี 2 เดือน (ทีโออาร์ฉบับแรกกำหนด 1,365 วัน) นับถัดจากวันที่ได้รับมอบรถดีเซลรางจากการรถไฟฯ ไปปรับปรุง โดยแบ่งงานออกเป็น 13 งวด ดังนี้ งวด 1 การรถไฟฯ ส่งมอบรถดีเซลรางจำนวน 2 คัน เพื่อให้ผู้รับจ้างนำไปดำเนินการจัดทำแผนทำงาน รวมถึงการออกแบบตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ภายใน 180 วัน และส่งมอบรถที่ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จในงวดที่ 1 นับจากวันที่ได้รับอนุมัติเห็นชอบการออกแบบจากการรถไฟฯ
งวดที่ 2 กำหนดส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน3 คันภายในระยะเวลา 120 วัน นับถัดจากวันที่การรถไฟส่งมอบรถคันสุดท้ายของแต่ละงวดให้ผู้รับจ้าง ,งวดที่ 3 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 120 วัน, งวดที่ 4 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน, งวดที่ 5 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน, งวดที่ 6 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน
งวดที่ 7 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน, งวดที่ 8 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน, งวดที่ 9 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน, งวดที่ 10 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน, งวดที่ 11 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน, งวดที่ 12 ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน งวดสุดท้าย ส่งมอบรถที่ดำเนินการซ่อมปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 4 คันภายในระยะเวลา 120 วัน
กรณีที่การรถไฟฯ ไม่สามารถส่งมอบรถที่ดำเนินการดัดแปลงให้กับผู้รับจ้างไปดำเนินการปรับปรุงได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้นผู้รับจ้างจะเรียกร้องค่าเสียหายใดใดจากการรถไฟไม่ได้ กรณีนี้การรถไฟจะขยายระยะเวลาการส่งมอบรถที่ดำเนินการปรับปรุงตามจำนวนวันที่ส่งมอบล่าช้าให้กับผู้รับจ้าง ,โดยหากวันครบกำหนดส่งมอบรถตามวันดังกล่าวของตนเป็นวันเสาร์/อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการให้ถือว่าวันทำการถัดไปเป็นวันครบกำหนดส่งมอบและหากส่งมากเลยเลยกำหนดนี้ไปให้ถือว่าผู้รับจ้างส่งมอบรถล่าช้า
โดยผู้รับจ้างจะต้องวางหลักประกันค่ารถที่นำออกไปซ่อมเป็นเงินคันละ 150,000 บาท และกรณีผู้รับจ้างนำงานไปจ้างช่วงให้ผู้อื่นทำอีกทอดหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟจะกำหนดค่าปรับฝ่าฝืนดังกล่าว 10% ของวงเงินค่าจ้างและกรณีผู้รับจ้างปฏิบัติผิดสัญญาจ้างมีค่าปรับเป็นรายวัน 0.10% ของราคาจ้างที่ยังไม่ได้ส่งมอบในแต่ละงวด
ทั้งนี้ผู้รับจ้างจะต้องรับประกันอายุการใช้งานเป็นระยะเวลาสามปีนับถัดจากวันที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้ตรวจรับงานเรียบร้อย
@ถึงเวลาซ่อมใหญ่ อายุใช้งานเฉลี่ย 25-27 ปี
สำหรับรถ DAWOO จำนวน 39 คัน
เป็นรถดีเซลรางปรับอากาศ ที่จัดหามาใช้ให้บริการตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันมีอายุใช้งานเฉลี่ย 25-27 ปี ปัจจุบัน รฟท.ให้บริการรถด่วนพิเศษ ในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
ซึ่งตามปกติเมื่อรถดีเซลรางมีอายุมากกว่า 25 ปีจะต้องทำการซ่อมฟื้นฟูสภาพโดยการปรับเปลี่ยนอะไรหลักเพื่อยืดอายุการใช้งานออกไปกรณีที่ไม่มีการซ่อมฟื้นฟูสภาพท รถจะมีสถิติความชำรุดระหว่างทำขบวนสูงและยังมีแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่สูงตามไปด้วยแต่หากมีการปรับปรุงส่วนประกอบหลักที่สำคัญเช่นเครื่องยนต์เมนหลักเครื่องถ่ายทอดกำลังโครงสร้างตัวรถท่อลมท่อไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าเป็นต้นจะทำให้การใช้งานเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 20 ปีและยังลดการชำรุดในระหว่างทำขบวนลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในอนาคต นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงสภาพภายในและภัยนอกเพื่อยกระดับการให้บริการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของการรถไฟ
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ภายในตู้โดยสาร อาทิ ติดตั้งระบบ Wifi ช่องเสียบ USB ติดตั้งระบบหน้าจอ Touchscreen ใช้ระบบ Infotainment เชื่อมต่อ Youtube Netflix กับขบวนรถดีเซลราง DAWOO จำนวน 39 คันด้วย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณปี 2567 และแล้วเสร็จในปี 2568