“สุริยะ” นั่งหัวโต๊ะเร่งเครื่อง 4 โปรเจกต์อีอีซี ปักธง ม.ค. 67 ออก NTP "ไฮสปีด 3 สนามบิน-อู่ตะเภา" เริ่มก่อสร้าง ดันเปิดปี 71 ด้านรฟท.หารืออัยการปมตัดเงื่อนไขบีโอไอ ลุยแก้สัญญาฯ ซี.พี.จ่ายค่า ARL 3 งวดแรกรวมกว่า 3.2 พันล้านบาท ส่วนแหลมฉบัง เฟส 3 หนักใจถมทะเลล่าช้า
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้ติดตามความก้าวหน้า พร้อมเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้ EEC Project Lists 4 โครงการ คือ
1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีแผนแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2571 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) แล้ว แต่การแจ้งให้เอกชนเริ่มการก่อสร้าง (Notice to Proceed : NTP) มีเงื่อนไขต้องให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญารับบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างส่งเอกสารเพิ่มเติม และมีการขยายเวลาล่าสุดจะสิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค. 2567 จึงมีมติให้รฟท.เร่งรัดเอกชนคู่สัญญาเพื่อให้ได้ข้อยุติภายใน ม.ค. 2567 พร้อมกับให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือช่วงพญาไท-บางซื่อให้เสร็จภายใน พ.ค. 2567 อีกด้วย
@หารือ อัยการ ปมตัดเงื่อนไขบีโอไอปักธงออก NTP ม.ค. 67
นายจุฬากล่าวว่า กรณีเอกชนยังไม่รับบัตรส่งเสริมการลงทุนและหากไม่มีการขยายเวลาหลังวันที่ 22 ม.ค. 2567 สิทธิ์จะหายไป งานจะยิ่งล่าช้า ดังนั้นเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 รฟท. ได้มีหนังสือหารือสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอความชัดเจนว่าหากเอกชนยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมและไม่ไปจดทะเบียนการเช่าพื้นที่ TOD รฟท.จะสามารถยกเว้นเงื่อนไข และออก NTP ได้หรือไม่ ซึ่งในสัญญาร่วมทุนฯ มีกำหนดว่าหากเงื่อนไขใดไม่สามารถปฏิบัติได้ คู่สัญญาสามารถขอยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวไม่นำมารวมในการออก NTP ได้ ดังนั้นหาก อัยการสูงสุดตอบว่าสามารถตัดเงื่อนไขบัตรส่งเสริมฯ ได้ รฟท.จะออก NTP ได้ใน ม.ค. 2567
นอกจากนี้ ให้ รฟท.หารือกับกองทัพเรือเพื่อประสานแผนโครงสร้างในการก่อสร้างบริเวณรันเวย์สนามบินอู่ตะเภา ที่จะมีอุโมงค์รถไฟลอดอยู่ด้านล่างให้จบใน ธ.ค. 2566 ด้วย
“ตอนนี้พื้นที่หลักส่งมอบก่อสร้าง คือ มักกะสัน-อู่ตะเภา ซึ่งพร้อมส่งมอบ ส่วนช่วงมักกะสัน-ดอนเมือง ที่มีประเด็นโครงสร้างร่วมกับรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. และช่วงพญาไท-บางซื่อ อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กบ้านราชวิถีและรอการรื้อย้ายท่อน้ำมัน (FPT) และท่อระบายน้ำซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในพฤษภาคม 2567 ซึ่งไม่กระทบการออก NTP” นายจุฬากล่าว
@แก้สัญญาร่วมทุนฯ เร่งชำระค่าแอร์พอร์ตลิงก์ 3 งวดแรก
สำหรับการแก้ไขสัญญาร่วมทุนเงื่อนไข "เหตุสุดวิสัย" กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรค หรือมีสงครามที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ และมีการตกลงเงื่อนไขให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาส ออกเป็น 7 งวด จำนวน 1,060.04 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,731.13 ล้านบาท โดยแบ่งชำระ ค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคมของแต่ละปี ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อ 27 มิถุนายน 2566 นั้น
โดยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ รฟท. สกพอ. และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จะหารือรอบสุดท้ายวันที่ 13 ธ.ค. 2566 จากนั้นจะส่งร่างสัญญาร่วมทุนฯ แก้ไขเพิ่มเติมให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจ หลังจากนั้นจะเสนอ กพอ. และเสนอ ครม.ต่อไป ซึ่งการแก้ไขสัญญาจะไม่กระทบการออก NTP เช่นกัน
และหลังลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ เอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 3 งวดแรก วงเงินรวม 3,201.33 ล้านบาท สำหรับปี 2564, 2565, 2566 ส่วนงวดที่ 4 จะชำระในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ตามเงื่อนไข
@ม.ค.67 วางศิลาฤกษ์สร้างสนามบินอู่ตะเภา
2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีมติให้เร่งรัดกองทัพเรือประกาศจัดซื้อจัดจ้าง งานก่อสร้างทางวิ่ง 2 และทางขับ ภายในกลาง ธ.ค. 2566 ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่สามารถออก NTP ให้บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด (UTA) เอกชนคู่สัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภา เริ่มก่อสร้างได้ภายใน ม.ค. 2567 โดยกำหนดพิธีวางศิลาฤกษ์ไว้เบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้ สกพอ. รฟท. และเอกชนคู่สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินและ เอกชนคู่สัญญาสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนการทำงานร่วมกันเรื่องอุโมงค์รถไฟลอดใต้รันเวย์ ซึ่งมีแนวทางให้เมืองการบินก่อสร้างโครงสร้างเผื่อไปก่อน และให้รฟท.จ่ายคืนภายหลัง เพื่อให้เงื่อนไขการเริ่มต้นโครงการครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดในสัญญา และโครงการสนามบินอู่ตะเภา
ทั้งนี้ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 การเตรียมให้บริการการเดินอากาศของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา สถาบันการบินพลเรือน โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โครงการพัฒนาการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดเพื่อเตรียมรองรับการให้บริการต่อไป
@สั่ง กทท.เร่งงานถมทะเล ‘แหลมฉบังเฟส 3’
3. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่มีการขยายเวลาตามสิทธิ์โควิด แต่ล่าสุดยังล่าช้ากว่าแผน 1.81% โดยมีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งรัดและกำกับการก่อสร้างงานถมทะเล
(Infrastructure) ซึ่งจะต้องมีการปรับความหนาแน่นของทรายถม ซึ่งมีค่าก่อสร้างเพิ่มประมาณ 600 ล้านบาท โดยให้ กทท.ไปพิจารณา กรณีใช้จากค่า VO สัญญาถมทะเล โดยจ้างผู้รับเหมาเดิมทำ (มีข้อกังวลเพราะงานปัจจุบันยังล่าช้าอยู่) กับแนวทางตั้งงบเพิ่ม เปิดประมูลใหม่ ซึ่งจะมีขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งใช้เวลาพอสมควร
โดยให้ กทท.เร่งแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาภายใน พ.ย. 2568 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนและคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือ (Superstructure) ในส่วนท่าเรือ F1 แล้วเสร็จและเปิดบริการปลายปี 2570
4. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีมติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยติดตามการถมทะเล (Infrastructure) ของเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จภายใน ธ.ค. 2567 (ปัจจุบันงานมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 69.64%) และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือก๊าซเสร็จและเปิดบริการต้นปี 2570