ไทยออยล์ชี้ปีหน้าภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นนังไปได้ดี ค่าการกลั่นยังสูงอยู่ แต่มาร์จินถูกกดดันจากกำลังการกลั่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาด พร้อมอัดงบลงทุน540ล้านเหรียญสหรัฐในปี67 ใช้ในโครงการCFP และเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น
นางสาวทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน)หรือTOP เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นในปี 2567 จะมีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด กดดันส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันดิบ( Crack spread) แต่มีปัจจัยหนุนจากค่าการกลั่น GRM ที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะทีบริษัทฯ วางเป้าหมายกำลังการผลิตเต็มที่แม้ว่าจะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในบางหน่วย ทำให้ Utilization rate ยังคงอยู่ในระดับสูง
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการบริษัทในไตรมาส 4/2566 คาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากค่าการกลั่นในตลาดสิงคโปร์ (GRM) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 3/2566 แม้ภาพรวมยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และไม่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันเหมือนในช่วงไตรมาสก่อน
งบการลงทุนในปีหน้า บริษัทฯตั้งไว้ที่ 540 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 จำนวน 430 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีกกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐจะใช้ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่น
ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ มูลค่า 7,000 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดในอีก 1 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะใช้วิธีการออกหุ้นกู้ หรือ กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ย ไม่ได้ส่งผลกระทบกับค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยรวมของไทยออยล์
ด้านนายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ TOP กล่าวว่า ในปีหน้าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโลกคาดว่า จะเพิ่มขึ้นได้ไม่มากแล้ว ซึ่งการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสนำโดยซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย ร่วมกันลดกำลังการผลิตไปจนถึงปีหน้า ทำให้อุปทาน (Supply)น้ำมันดิบน่าจะตึงตัวขึ้นในไตรมาส 1/2567 ขณะที่อุปสงค์(Demand)ในปีหน้ามองว่ายังเติบโตเฉลี่ยราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างไรก็ตามในภาพรวมน้ำมันก็จะเห็นการขาดดุลเล็กน้อยในไตรมาส 1/2567 ทำให้ปริมาณน้ำมันสำรองคงคลังปรับตัวลดลง แต่ในครึ่งหลังปี2567 ภาพรวมตลาดน้ำมันจะเข้าสู่ภาวะสมดุล หนุนให้ราคาน้ำมันดิบน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 75-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนธุรกิจโรงกลั่น ในปี 2567 ความต้องการใช้น้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามาหนุนภาพรวมตลาดโรงกลั่น โดยเฉพาะอุปสงค์น้ำมันอากาศยาน คาดเติบโตราว 5 แสนบาร์เรลต่อวัน และกลุ่มของน้ำมันเบนซินและดีเซล ก็ยังเติบโตอยู่เช่นกัน ขณะที่ระดับสต็อกทั่วโลก ในกลุ่มของน้ำมันชนิดกลาง (Middle Distillate Stock) ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ก็จะเป็นปัจจัยหนุนธุรกิจโรงกลั่น แต่เนื่องจากมีกำลังการกลั่นใหม่เข้าสู่ตลาดรวม 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน กดดันมาร์จินการกลั่น แต่เชื่อว่าหลังจากปี 2568 การลงทุนในโรงกลั่นใหม่จะทยอยลดลง จะทำให้อัตราการใช้กำลังการกลั่นอยู่ในระดับสูง หรือ 85% ส่งผลดีต่อ GRM
อย่างไรก็ตามในปีหน้ายังต้องจับตามองโรงกลั่นขนาดใหญ่ อย่างประเทศแอลจีเรีย แม็กซิโก ว่าจะสามารถเปิดดำเนินการๆได้ตามเป้าหรือไม่ หากไม่ได้ตามเป้าจะส่งผลให้ตลาดยังคงตึงตัวอยู่
ด้านตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ คาดน้ำมันเบนซิน ยังโตได้ 4% ตามยอดขายรถ และน้ำมันอากาศยานที่มีการเติบโตในระดับสูง 24% ส่วนน้ำมันดีเซล ทรงตัวจากปีนี้ เนื่องจากปีนี้ยังมีดีมานด์สำหรับผลิตไฟฟ้าอยู่ แต่ปัจจุบันราคาก๊าซฯธรรมชาติเหลว(LNG) ปรับลงมาอยู่ในระดับปกติ ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลสำหรับผลิตไฟฟ้าลดลง
นายณัฐพล กล่าวถึงธุรกิจปิโตรเคมี โดยเฉพาะสายอะโรเมติกส์ทั้งพาราไซลีน( PX )และเบนซิน ว่า ในปีหน้าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวจากวัฎจักรขาลง เนื่องจากอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการใช้ปรับตัวขึ้น ส่งผลให้มาร์จินของกลุ่มนี้มีทิศทางดีขึ้น
ส่วนสายโอเลฟินส์ ยังท้าทายอยู่ เนื่องจากมีอุปทานใหม่เข้ามาทั้ง PE , PP คาดว่าตลาดน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในปี 2568 เป็นต้นไป