xs
xsm
sm
md
lg

"รมช.คมนาคม" กล่าวถ้อยแถลงที่ประชุม IMO ย้ำไทยให้ความสำคัญ สิ่งแวดล้อมทางทะเล-ต่อต้านประมงผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมช.คมนาคม กล่าวถ้อยแถลงที่ประชุมสมัชชา ครั้งที่ 33 ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ เน้นย้ำความปลอดภัย และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล ชี้ไทยร่วมมือใกล้ชิดต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย นำเสนอ"แลนด์บริดจ์"เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาค

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 33 ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่ IMO กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก IMO จำนวน 175 ประเทศ นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ผู้แทนถาวรของไทยประจำ IMO นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า และนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม
ในการนี้ นางมนพร เจริญศรี ได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทยในการประชุมฯ


โดยมี สาระสำคัญดังนี้
1. ความสำคัญของความปลอดภัย ความมั่นคง และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการเดินเรือในภาคการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ และความสำคัญของ IMO ในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่กำกับดูแลกฎระเบียบด้านการเดินเรือและการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ

2. การดำเนินงานที่สำคัญของประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การจัดทำแผนกลยุทธ์การดำเนินการตามข้อกำหนดของ IMO การส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงรุกในเวที IMO ในฐานะสมาชิกคณะมนตรี และการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการตามแผนการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล และความปลอดภัยในการเดินเรือ

3. การนำเสนอโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยอันดามัน (Land bridge) ของประเทศไทย ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาค ลดระยะเวลาและความหนาแน่นของการจราจรผ่านช่องแคบมะละกา

4. เน้นย้ำการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทย - IMO ในปี 2566 และการทำหน้าที่ประเทศสมาชิกที่ดีในการให้ความร่วมมือกับ IMO และประเทศสมาชิกเพื่อยกระดับความมั่นคง ปลอดภัย และคุณภาพของท้องทะเลเพื่อคนรุ่นถัดไป


โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นางมนพร เจริญศรี ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรอง เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรี IMO ในกลุ่ม C สำหรับวาระปี ค.ศ. 2024 - 2025 ซึ่งมีกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนให้กับประเทศไทย เพื่อจะได้ทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO มาแล้ว 9 สมัย


สำหรับ IMO เป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 มีหน้าที่เป็นองค์กรกลาง เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ คนประจำเรือ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

สำหรับคณะมนตรี IMO เป็นองค์กรระดับบริหาร มีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับ ดูแล และติดตามงานของ IMO ประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมัชชา IMO จำนวน 40 ที่นั่ง ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่ม A ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในการให้บริการด้านการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ จำนวน 10 ประเทศ กลุ่ม B ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในด้านการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ จำนวน 10 ประเทศ และกลุ่ม C ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษในด้านการขนส่งทางทะเลหรือการเดินเรือ และเป็นตัวแทนจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จำนวน 20 ประเทศ






กำลังโหลดความคิดเห็น