xs
xsm
sm
md
lg

OR อัดฉีด 5 ปี 8 พันล้านลุย ตปท. โหมลงทุน “กัมพูชา” สร้างคลัง LPG-น้ำมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การปักหมุดให้ “กัมพูชา” เป็นบ้านหลังที่สองรองจากไทยของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) พร้อมนำ Business Model ที่ประสบความสำเร็จจากไทยมาใช้กับกัมพูชาในการลงทุนขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอน ด้วยสูตร 80:20 โดย OR เป็นการลงทุนและบริหารเองคิดเป็นสัดส่วน 20% ส่วนอีก 80% เปิดให้ดีลเลอร์หรือนักลงทุนกัมพูชาเข้ามาลงทุนและบริหารจัดการ เพื่อให้นักลงทุนท้องถิ่นมาเป็นเจ้าของและโตไปพร้อมกับบริษัท

ปัจจุบันเศรษฐกิจในประเทศกัมพูชาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด GDP เติบโตสูงที่ 5% ในปีที่แล้ว การเมืองนิ่ง การค้าตลาดเสรี เปิดกว้างการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น โดยเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้า (FDI) กัมพูชาในปี 2565 เป็นวงเงิน 3.88 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าปี 2566 การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็เติบโต มีจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้เพิ่มขึ้น 201% มาอยู่ที่ 3.92 ล้านคน สะท้อนว่ากัมพูชามีการบริหารจัดการที่ดีกว่าบางประเทศในภูมิภาคนี้ที่กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อนค่าและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น

จึงไม่แปลกใจที่ OR เลือกกัมพูชาเป็นบ้านหลังที่สอง อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบคู่แข่งในด้านการขนส่งสินค้า รวมทั้งคนกัมพูชาก็นิยมดูทีวีไทย ชื่นชอบสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ไทย ทำให้ปัจจุบัน OR มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station มากถึง 172 แห่ง ครองส่วนแบ่งตลาดน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกัมพูชา และร้านคาเฟ่ อเมซอน 231 แห่งก็มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในกัมพูชา


นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ OR ไม่สามารถเติบโตในแง่ส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ธุรกิจน้ำมันในไทยได้มากกว่านี้แล้ว จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด 43-45% สูงสุดเป็นอันดับ 1 เพื่อไม่ให้เป็นการผูกขาดตลาด สิ่งที่ OR ทำได้เพียงรักษามาร์เกตแชร์อันดับ 1 เอาไว้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน น้ำมันหล่อลื่น ตลาด LPG ฯลฯ

ส่วนการเติบโตในกลุ่มธุรกิจ Mobility จำเป็นต้องขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน เช่น ลาว กัมพูชา ซึ่งจะเป็นช่องทางรองรับน้ำมันส่วนเกินความต้องการใช้ภายในไทยของกลุ่มปตท.ในอนาคต สืบเนื่องจากโรงกลั่นไทยออยล์ลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) เพื่อผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน ต่ำกว่า 10 ppm) ที่ภาครัฐบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยโครงการ CFP เพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันของไทยออยล์จากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน ขึ้นเป็น 4 แสนบาร์เรล/วันด้วย

จากนโยบายรัฐในการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ทำให้ขณะนี้ผู้ค้าน้ำมันรวมถึง OR มีการจัดเก็บสำรองน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 เพื่อเตรียมพร้อมในการจำหน่ายในต้นปีหน้าแล้ว ขณะเดียวกัน OR จะจำหน่ายน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ปั๊ม PTT Station ในกัมพูชาด้วย ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกัมพูชาก็เตรียมบังคับใช้น้ำมันยูโร 5 ในต้นปีหน้าด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันเพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงแสวงหาโอกาสร่วมกับพันธมิตรในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ


5 ปีทุ่มงบลงทุน 6.7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ OR ตั้งงบลงทุน 5 ปี (2567-2571) อยู่ที่ 67,396.3 ล้านบาท แบ่งตามกลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้ กลุ่มธุรกิจ Mobility อยู่ที่ 36,266.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.8% กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ราว 17,944.5 ล้านบาท คิดเป็น 26.6% กลุ่มธุรกิจ Global อยู่ที่ 8,007.4 ล้านบาท คิดเป็น 11.9% และกลุ่มธุรกิจ Innovation & New Business ประมาณ 5,178 ล้านบาท คิดเป็น 7.7% OR ยังตั้งงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ใน 5 ปีอีก 15,942.5 ล้านบาทเพื่อการขยายธุรกิจใหม่ในอนาคต

สำหรับปี 2567 OR วางกรอบลงทุนเป็นวงเงิน 23,186.4 ล้านบาท แม้ว่าจะจัดสรรใช้ในกลุ่มธุรกิจ Global เพียง 2,091.2 ล้านบาท แต่เม็ดเงินก้อนนี้ใช้ลงทุนในบ้านหลังที่สอง คือ กัมพูชาสูงถึง 1,600-1,700 ล้านบาทหรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอน รวมทั้งลงทุนสร้างคลังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ขนาด 2,200 ตัน ใช้งบลงทุนรวม 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และเปิดดำเนินการในปีถัดไป เบื้องต้นจะขาย LPG ให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

OR มั่นใจปี 67 ยอดขายน้ำมันโตต่อเนื่อง

นายดิษทัตคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปี 2567 จะเป็นปีที่ดี โดยยอดขายน้ำมันเติบโตสูงกว่าการเติบโตของ GDP 1% ขณะเดียวกันบริษัทให้ความสำคัญในการบริหารต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจ Food and Beverage (F&B) ต่อเนื่อง พร้อมทั้งหนุนให้พันธมิตรหันใช้ผลิตภัณฑ์ของ OR เพื่อสร้าง Synergy ร่วมกัน และในเร็วๆ นี้ OR จะลงนามสัญญาเอ็มโอยูกับบริษัทเกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อร่วมลงทุนธุรกิจด้านสุขภาพ และความงาม (Health & Wellness) คาดว่าจะเห็นการลงทุนในไตรมาสแรกปี 2567


ดึงดุสิต ฟู้ดส์-โอ้กะจู๋ลงทุนในกัมพูชา

นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ OR กล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศว่า ในแต่ละประเทศมีความเสี่ยงที่ต่างกัน ความพร้อมที่ไม่เท่ากัน และการขยายตัวความเจริญในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันด้วย จึงเป็นความท้าทายในการวางกลยุทธ์ลงทุนในต่างประเทศ แม้ว่า OR มีธุรกิจที่หลากหลายที่พร้อมจะขยายการลงทุนในต่างประเทศ แต่เลือกนำร่องบุกตลาดด้วยสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอน เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องครองมาร์เกตแชร์อันดับ 1 แต่เรามีเป้าหมายเป็น Good Citizen ของประเทศที่เข้าไปลงทุน แม้ว่าจะไม่ทำให้บริษัทโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ก็มุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศโดยจะเพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ เช่น การรุกตลาดก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และยางมะตอย ในประเทศกัมพูชาเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่นับวันเพิ่มสูงขึ้น

รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรไทยในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชัน จำกัด เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซักแบรนด์ Otteri Wash & Dry ที่เริ่มเปิดสาขาแรกในกัมพูชา พบว่าตลาดให้การตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ หรือบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัดที่ OR อยู่ระหว่างการเจรจาให้ดุสิต ฟู้ดส์เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อซัปพอร์ตธุรกิจอาหารและเบเกอรีในร้านคาเฟ่ อเมซอนที่กัมพูชา ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการดึงลูกค้ามารับประทานอาหารกลางวันแล้วจบด้วยการดื่มกาแฟในที่เดียว ยังช่วยเพิ่มยอดขายกาแฟด้วย คาดว่าดุสิต ฟู้ดส์จะเริ่มมาลงทุนในต้นปี 2567

นอกจากนี้ พันธมิตรของ OR อย่าง “โอ้กะจู๋” ก็มาศึกษาตลาดในกัมพูชา ขณะนี้มองหาฟาร์มปลูกผักออร์แกนิก เพราะไม่สามารถนำเข้าผักจากไทยได้ โดยการลงทุนช่วงแรกโอ้กะจู๋จะเน้นสร้างแบรนด์ เปิดร้านแบบ Stand Alone นอกปั๊มน้ำมัน แต่อาจจะป้อนสลัดหรือแซนด์วิชจำหน่ายในร้านคาเฟ่ อเมซอนด้วย

จับตา! ส่อปิดร้านคาเฟ่ อเมซอนที่จีน

นายรชากล่าวอีกว่า นอกเหนือจากขยายการลงทุนในกัมพูชาแล้ว OR ยังคงมองโอกาสเติบโตในประเทศอื่นๆ ที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งเมียนมา เป็นประเทศที่บริษัทให้ความสนใจ แต่คงต้องชะลอการลงทุนไปก่อน เนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศยังไม่นิ่ง ส่วน สปป.ลาว ขณะนี้การทำธุรกิจสถานีบริการ PTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอนเป็นไปตามปกติ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้เข้าสู่ธุรกิจต้นน้ำเพื่อซัปพลายเมล็ดกาแฟพันธุ์อะราบิกา ซึ่งเป็นการต่อยอด Value Chain ให้กับ OR

ขณะที่เวียดนาม OR จับมือกับ CRG ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งบริษัทร่วมทุน ORC Coffee Passion Group Joint Stock Company หรือ ORCG เพื่อเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอนในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันเปิดแล้ว 24 สาขา รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ LPG เริ่มจากเทรดดิ้ง หลังจากนั้นจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน LNG/LPG ในอนาคต ส่วนของการเปิดสถานีบริการน้ำมัน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะนโยบายเวียดนามยังไม่เปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน

สำหรับฟิลิปปินส์ยังคงเดินหน้าทำตลาดน้ำมันเครื่องบิน โดยคงธุรกิจ PTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอนอยู่ ส่วนประเทศโอมาน จะมีการขยายร้านคาเฟ่ อเมซอนเพิ่มเติม เช่นเดียวกับที่มาเลเซีย ส่วนจีนจะทบทวนการลงทุนร้านคาเฟ่ อเมซอนที่เปิดอยู่ 10 แห่ง เนื่องจากตลาดกาแฟในจีนมีขนาดใหญ่และมีการแข่งขันสูงมาก


จ่อผุดคลังน้ำมันแห่งที่ 8

นายณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.(กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) กล่าวว่า
ในปี 2567 งบลงทุนในกัมพูชาที่ตั้งไว้ราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้สำหรับขยายสถานีบริการ PTT Station เพิ่มอีก 20 แห่ง จากปัจจุบันมี 172 แห่ง แบ่งบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารเอง (COCO) 12 แห่งหรือราว 7% และดีลเลอร์เป็นเจ้าของและบริหารเอง (DODO) 160 แห่ง คิดเป็นราว 93% โดยปัจจุบันสถานีบริการ PTT Station ในกัมพูชามีมาร์เกตแชร์ 17.3% ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก TELA ซึ่งเป็นบริษัทค้าน้ำมันท้องถิ่นของกัมพูชาที่มีมาร์เกตแชร์ 39.3% ฉีกหนีคู่แข่งแบรนด์ต่างชาติจาก Total และ Caltex ที่มีส่วนแบ่งตลาด 13.3% 6.2% ตามลำดับ

การขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน ในปีหน้าจะเพิ่มอีก 31 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 231 แห่ง แบ่งเป็น COCO 20 แห่งหรือราว 9% และ DODO 211 แห่งหรือราว 91% มีมาร์เกตแชร์คิดเป็น 23% อันดับ 1 ของกัมพูชา ซึ่งในอนาคต PTTCL จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสถานีบริการน้ำมัน และร้านคาเฟ่ อเมซอน มากขึ้นเพื่อให้มีสัดส่วนขยับขึ้นมาเป็น 20% เพื่อรักษาอำนาจการต่อรอง รวมทั้งเตรียมปรับพอร์ตโฟลิโอของร้านคาเฟ่ อเมซอน เพื่อรับการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยจะปิดบางสาขาที่ยอดขายไม่ดีแต่เปิดสาขาที่มีทำเลดีกว่าแทน


ส่วนร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-อีเลฟเว่น ในกัมพูชาปัจจุบันมีอยู่ 49 แห่ง เป็น COCO 35 แห่ง ที่เหลือเป็น DODO 14 แห่ง และร้านสะดวกซื้อ แบรนด์จิฟฟี่มี 12 แห่ง ซึ่งร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่จะไม่มีการขยายสาขาเพิ่มเติมอีกในกัมพูชา แต่จะเน้นให้ดีลเลอร์เปิดร้านสะดวกซื้อแบรนด์ 7-อีเลฟเว่น แทน

ส่วนแผนขยายคลังเก็บน้ำมันเพิ่มเติม จากปัจจุบันมี 7 คลัง แบ่งเป็น 4 คลังเก็บน้ำมัน และ 2 คลังเก็บน้ำมันอากาศยาน ความจุรวมทั้งสิ้น 38.5 ล้านลิตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาทำเลที่ตั้งคลังน้ำมันอยู่ที่เมืองสีหนุวิลล์

สำหรับผลประกอบการ PTTCL 9 เดือนแรกปีนี้บริษัทมีรายได้ 382 ล้านเหรียญสหรัฐ และมี EBITDA 25.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 460 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดขายน้ำมันในปีนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากราว 30%

การเร่งขยายการลงทุนในต่างประเทศของ OR เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ของกลุ่มธุรกิจ Global จากเดิม 7.6% เป็น 15% ในปี 2570


กำลังโหลดความคิดเห็น