xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้ว! จ่าย 20 บาท "สีแดงต่อสีม่วง" ด้วยบัตร EMV เชื่อมที่บางซ่อน "สุรพงษ์" ย้ำรัฐขาดทุนแต่ช่วยลดภาระ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุรพงษ์” คิกออฟรถไฟฟ้า 20 บาทเดินทางเชื่อมต่อ "สีแดง-สีม่วง" ด้วยบัตร EMV คาดผู้โดยสารสถานีบางซ่อนเพิ่ม 1 เท่าตัว แจง 20 บาททำขาดทุนเพิ่ม แต่ช่วยลดภาระประชาชนต้องดูผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่าตัวเลขทางบัญชี ขณะที่จุดคุ้มทุนผู้โดยสารต้อง 1 แสนต่อวัน

วันที่ 30 พ.ย. 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจการดำเนินมาตรการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทต่อเที่ยว ที่
สถานีบางซ่อน ซึ่งเริ่มใช้วันแรกกับผู้ที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟชานเมืองสายสีแดงกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีบางซ่อน ภายใต้เงื่อนไข ชำระค่าโดยสารผ่านทางบัตร EMV (Europay, MasterCard, VISA) หรือบัตรเครดิต และบัตรเดบิตที่เข้าร่วม หลังจากที่ก่อนหน้าดำเนินมาตรการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง
ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีรังสิต และช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีตลิ่งชัน และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่ -เตาปูน สูงสุดสายละ 20 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566


นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า การเตรียมพร้อมระบบให้บริการเป็นไปด้วยดี ซึ่งรัฐบาลต้องการลดภาระค่าครองชีพแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน และรณรงค์ให้ประชาชน มาใช้ระบบรางในการเดินทางเพื่อลดมลพิษทางรถยนต์ วันนี้เริ่มใช้ค่าโดยสาร 20 บาท ใช้ 2 สายต่อกันได้แลัว หลังจากนี้จะขยายนโยบายต่อไปในสายอื่นๆ โดยยังไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดนโยบาย

หลักการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ต้องใช้ บัตร EMV Contactless โดยระบบจะตัดเงินก่อน แล้วทำการให้ส่วนลดคืนใน 3 วัน ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการใช้บริการเพื่อนำมาปรับปรุงให้เหมาะสม

ปัจจุบันสถานีบางซ่อนมีผู้โดยสารใช้เดินทางข้ามสายระหว่างสายสีแดงกับสายสีม่วงอยู่ประมาณ 400-500 คนต่อวัน คาดว่าเมื่อใช้ 20 บาทเดินทางเชื่อม 2 สายผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 1,000 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว

ทั้งนี้ จากการให้บริการมาตรการลดค่าโดยสาร 20 บาทในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยรถไฟสายสีแดงผู้โดยสารก่อนมาตรการ 20 บาทช่วงวันที่ 1-15 ตุลาคม 2566 มีจำนวนเฉลี่ย 21,632 คนต่อวัน หลังมาตรการ 20 บาทช่วงวันที่ 16 ตุลาคม-27 พฤศจิกายน 2566 มีจำนวนเฉลี่ย 26,097 คนต่อวันเพิ่มขึ้น 20.64%

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงผู้โดยสารก่อนมาตรการ 20 บาทช่วงวันที่ 1-15 ตุลาคม 2566 มีจำนวนเฉลี่ย 56,979 คนต่อวัน หลังมาตรการ 20 บาทช่วงวันที่ 16 ตุลาคม-27 พฤศจิกายน 2566 มีจำนวนเฉลี่ย 64,803 คนต่อวันเพิ่มขึ้น 13.73%

ซึ่งหากจำนวนผู้โดยสารขึ้นไปอยู่ในระดับเฉลี่ย 100,000 คนต่อวันจะถือเป็นจุดคุ้มทุนค่าใช้จ่ายที่รัฐไม่ต้องชดเชย และหากจำนวนผู้โดยสารเลย มากกว่า 100,000 คนขึ้นไปก็จะเป็นส่วนที่โครงการมีกำไรได้


ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทของรัฐบาล รายได้ลดลงและทำให้ขาดทุนเพิ่ม รมช.คมนาคมกล่าวว่า บริการ สาธารณะเป้าหมายไม่ได้มุ่งหวังกำไร แต่อยากให้ดูกำไรทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ การลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน สามารถนำเงินไปใช้จ่ายในด้านอื่นได้มากขึ้น

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริหารการเดินรถ ปัจจุบันวงเงิน 2,700 ล้านบาทต่อปี โดยมีรายได้ก่อนมาตรการ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 1.33 ล้านบาท และมีรายได้หลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 8.3 แสนบาท


ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ้างบริษัทลูก คือ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เดินรถไฟฟ้าสายสีแดงมีค่าใช้จ่าย ประมาณ 480 ล้านบาทต่อปี โดยมีรายได้ก่อนมาตรการ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 6.61 แสนบาท และมีรายได้หลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 5.14 แสนบาท


สำหรับรายละเอียดของการคิดอัตราค่าโดยสารและการใช้บัตร ดังนี้

1. อัตราค่าโดยสาร กรณีเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท เริ่มให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น.

2. ผู้โดยสารที่เดินทางข้ามสายผ่านระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ต้องใช้ Gate EMV ด้วยบัตรเครดิตMaster Card และ Visa Card ของทุกธนาคาร หรือบัตรเดบิต Master Card และ Visa Card ของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี โดยไม่รับเงินสด หรือระบบตั๋วโดยสารที่ไม่ใช่ ระบบ Gate EMV

3. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง กับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงจะต้องเปลี่ยนสถานีที่ สถานีบางซ่อน เท่านั้น

4. ผู้โดยสารที่เดินทางข้ามสายระหว่างระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง กับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะต้องเดินทางข้ามระบบภายใน 30 นาที และใช้บัตรใบเดียวกัน หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด จะคิดตามอัตราค่าโดยสารสูงสุดคือ 42 บาท

ทั้งนี้ ผู้โดยสารควรมีเงินสำรองภายในบัตร ไม่ต่ำกว่า 40 บาท เพื่อรองรับการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless จากทางธนาคาร โดยหากการเดินทางเข้าเงื่อนไขตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ธนาคารจะดำเนินการ Cash Back กลับเข้าบัตรให้ภายใน 3 วัน

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางแก่ประชาชนได้เป็นอย่างมาก จากเดิมจะเสียค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดถึงสายละ 42 บาท อีกทั้งต้องเสียค่าแรกเข้าเมื่อมีการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ แต่เมื่อมีการเชื่อมต่อการเดินทางของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายเข้าด้วยกัน จะคิดค่าโดยสารรวมกันสูงสุดที่ 20 บาทเท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น