ACE เผยเซ็นสัญญา PPA 8 โรงไฟฟ้าชีวมวลกับ กฟภ. คิดเป็นกำลังการผลิตเสนอขายรวม 64 เมกะวัตต์ พร้อมเดินหน้าก่อสร้างเต็มสูบ หนุนรายได้เพิ่มอีกปีละ 2,400 ล้านบาท
นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ทำการคืนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP ที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา จำนวน 8 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 79.2 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 64.0 เมกะวัตต์ ให้กับบริษัทย่อยต่างๆ ในกลุ่ม ACE ที่เป็นเจ้าของโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ที่มีคำพิพากษาให้ กฟภ. ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่มีก่อนหน้านี้
“การได้คืนมาซึ่ง PPA ของโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP ทั้ง 8 โครงการ โดยเป็นสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ถือเป็นสัญญาณที่ดีในด้านการเพิ่มกำลังการผลิตรวมของบริษัทฯ ที่จะส่งผลต่อการสร้างรายได้เพิ่มในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าหากเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ครบทั้ง 8 โครงการในกลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับ ACE อีกประมาณ 2,400 ล้านบาทต่อปี และช่วยเพิ่ม EBITDA ได้อีกประมาณปีละ 1,200-1,300 ล้านบาท สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาโครงการเพื่อให้สามารถเปิด COD ได้ทันตามแผนที่วางไว้ต่อไป”
นายธนะชัยกล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ ACE เหล่านี้ นอกจากก่อให้เกิดประโยชน์ในมิติเศรษฐกิจต่อ ACE แล้ว ยังช่วยสร้างประโยชน์ในมิติสิ่งแวดล้อมและมิติสังคมควบคู่กันด้วย ซึ่งครบทั้ง 3 มิติ E, S และ G ตามหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยทั้ง 8 โครงการนี้ เมื่อ COD ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลที่เป็นพลังงานหมุนเวียนแทนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว คาดว่าจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละประมาณ 270,000 ตัน ขณะที่การรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้ากลุ่มนี้ก็ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแห่งอื่นๆ ที่เปิด COD ก่อนหน้าแล้วนั้นจะทำให้กลุ่มโรงไฟฟ้าทั้งหมดของ ACE สามารถช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้รวมกันปีละประมาณ 660,000 ตัน สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรได้ปีละกว่า 2,600 ล้านบาท ทั้งช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 ด้วยการลดพื้นที่เผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งปีละประมาณ 3 ล้านไร่ไปได้พร้อมกัน รวมถึงรายได้เพิ่มที่ตกสู่มือเกษตรกรโดยตรงยังช่วยก่อให้เกิดการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจได้ปีละประมาณ 18,000-21,000 ล้านบาท สอดรับตามกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัทที่จะเป็นองค์กรที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050