รฟม.เร่งเช็กความพร้อม "สีชมพู" เผย NBM ยันเริ่มเก็บค่าโดยสาร 18 ธ.ค. 66 ชี้เปิดเชิงพาณิชย์ ICE ต้องรับรองความปลอดภัยก่อน ด้าน กทม.มึนสถานีวัดพระศรี จุดเชื่อมต่อกับสีเขียว ไม่มีประตูกั้น เตรียมลงพื้นที่หารือหักเงินกรณีข้ามระบบ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (MRT สายสีชมพู) ระยะทาง 34.5 กม. มีความก้าวหน้า และอยู่ในการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในขั้นตอนสุดท้าย โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีตลอดเส้นทางทั้ง 30 สถานีช่วงปลายเดือน พ.ย. 2566
เมื่อเดือน ต.ค. 2566 คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เห็นชอบร่างข้อบังคับ รฟม.ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู พ.ศ... และได้ส่งไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท
ล่าสุด บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ได้ทำหนังสือถึง รฟม.แจ้งเกี่ยวกับการคำนวณอัตราค่าโดยสาร และยืนยันความพร้อมการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์และจัดเก็บค่าโดยสารในวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ซึ่งจะเป็นการเริ่มนับอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี
การเปิดบริการเชิงพาณิชย์และจัดเก็บค่าโดยสารนั้นจะต้องผ่านการตรวจรับรองความพร้อมและความปลอดภัยในส่วนของงานโยธาและงานระบบรถไฟฟ้าจากวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (ICE) ก่อนด้วย ส่วนจะมีการเลื่อนจัดเก็บค่าโดยสารออกไปหลังปีใหม่เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายกระทรวงคมนาคมที่อาจจะมีการเจรจากับเอกชนได้
@กทม.ลงพื้นที่เคลียร์จุดเชื่อมสีชมพู กับสีเขียว "สถานีวัดพระศรี" ที่ไม่มีประตูกั้นแตะบัตร
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จะเริ่มทดสอบเดินรถเสมือนจริง โดยเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งตลอดสาย 30 สถานี ในวันที่ 21 พ.ย. 2566 ประมาณ 1 เดือนนั้น ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แบบเก็บค่าโดยสารนั้น
พบว่าบริเวณจุดเชื่อมต่อสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู กับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไม่มีประตูกั้นเพื่อแตะบัตรเข้าออกระบบ ทำให้ผู้โดยสารจากสายสีชมพูสามารถเดินผ่านสกายวอล์กเข้าสู่ระบบสายสีเขียวขึ้นรถไฟฟ้าได้ทันที ซึ่งต่างกับ สถานีสำโรง (YL23) ของรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่เชื่อมต่อกับสถานีสำโรง (E15) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่มีการติดตั้งประตูกั้นสำหรับแตะบัตรเข้าออกระบบ
“เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะมีเพียงจุดเดียวที่ไม่มีประตูกั้นจุดเชื่อมต่อข้ามระบบ แบบนี้จะคิดค่าโดยสารอย่างไรเพราะเป็นการนั่งข้ามระบบ”
อย่างไรก็ตาม สายสีชมพู และสายสีเหลืองกำกับดูแลโดย รฟม. ส่วนสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย กทม.กำกับดูแล แม้ว่าบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอสซี ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลือง และผู้รับจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายก็ตาม ดังนั้น จะเตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอข้อมูลแผนการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้า รวมถึงจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจุดเชื่อมต่อดังกล่าว เรื่องนี้ต้องมีความชัดเจนก่อนที่สายสีชมพูจะเปิดให้บริการ
ในส่วนของสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ผู้บริหาร กทม.มีนโยบายที่จะเริ่มเก็บค่าโดยสารแล้วเช่นกัน คาดไม่เกินต้นเดือน ม.ค. 2567
รายงานข่าวระบุว่า สถานีวัดพระศรีมหาธาตุของสายสีชมพู เชื่อมต่อกับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นการเชื่อมต่อประเภท Paid to Paid Area หรือเป็นพื้นที่ส่วนชำระค่าโดยสารแล้วผู้โดยสารสามารถเดินเชื่อมต่อจากสายหนึ่งไปสายหนึ่งได้โดยไม่ต้องแตะบัตรใหม่ ซึ่งคาดว่าบีทีเอส และ NBM จะมีแนวทางในการบริหารจัดการผู้โดยสารที่มีการเชื่อมต่อสีชมพูและสีเขียวให้ได้รับความสะดวก