xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ต.ค.ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน แนะรัฐกระตุ้น ศก.ส่งท้ายปี-แก้หนี้นอกระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 88.4 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เหตุเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอ่อนแอ ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังคงปรับลดจากความกังวล ศก.โลกและในประเทศ การสู้รบในอิสราเอลและค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น แนะรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้น ศก.ส่งท้ายปี 66 พร้อมเร่งแก้หนี้นอกระบบหลังพบมีการเก็บดบ.รายวันทำปชช.ขาดเงินพุ่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับตัวลดลงจาก 90.0 ในเดือนกันยายนซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 โดยเป็นการปรับลดลงของเกือบทุกองค์ประกอบ เช่น ยอดขาย ปริมาณการผลิต ผลประกอบการและดัชนีคำสั่งซื้อรวม ยกเว้นความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่ปรับดีขึ้นเนื่องจากรัฐออกมาตรการลดค่าไฟฟ้า และน้ำมัน

“ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.ลดลงมาจากปัจจัยลบเศรษฐกิจประเทศที่ยังคงฟื้นตัวช้า เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัว ขณะที่การปรับราคาสินค้ายังทำได้จำกัดและมีการแข่งขันสูงด้านราคา นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในทิศทางขาขึ้นทำให้ภาระหนี้สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ต้นทุนนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัวสะท้อนคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นตะวันออกกลาง รวมถึงอานิสงส์มาตรการวีซ่าฟรีที่สนับสนุนการท่องเที่ยวฟื้นตัวเพิ่มขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว


สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ระดับ 94.4 ปรับตัวลดลงจาก 97.30 ในเดือนกันยายน โดยมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสหากยืดเยื้อและขยายวงกว้างอาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและความผันผวนของราคาพลังงาน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังกังวลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 อาทิ นำโครงการ e-refund มาดำเนินการในช่วง ธ.ค. 66 เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชน

2. เร่งรัดการกำหนดมาตรการในการพักหนี้ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นเวลา 1 ปีตามมติ ครม.เมื่อ 26 ก.ย. 66 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21

3. ขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

เร่งแก้หนี้นอกระบบ

นายเกรียงไกรกล่าวว่า จากปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงถึง90.6%ของจีดีพีรัฐบาลจึงได้เร่งให้มการแก้ไขในการปรับโครงสร้างหนี้แต่สิ่งที่ส.อ.ท.ห่วงคือหนี้นอกระบบที่มีสูงถึง19.6%ที่พบว่ามีอัตราดอกเบี้ยที่แพงมากซึ่งล่าสุดได้รับการร้องเรียนจากโรงงานหลายแห่งที่พบว่าช่วงพักเที่ยงและช่วงเลิกงานตอนเย็นจะมีกลุ่มชายฉกรรจ์มาเก็บอัตราดอกเบี้ยซึ่งเหล่านี้สะท้อนไปยังกำลังแรงซื้อของประชาชนที่ตกต่ำดังนั้นจึงเห็นว่าภาครัฐควรจะเร่งหามาตรการมาแก้หนี้นอกระบบด้วย

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพราะสภาพศก.ที่เปราะบางและความไม่แน่นอน
การปล่อยกู้จึงเป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกันเทคโนโลยีเองก็ต้องปรับปรุงเมื่อไม่มีเข้ามาช่วยทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานท่ามกลางที่ค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น