xs
xsm
sm
md
lg

ยุบ "ตำรวจรถไฟ" รฟท.-สตช.ตั้ง "ศูนย์รักษาความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ" รับช่วงต่อดูแลผู้โดยสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.ผนึก "ตำรวจ" ตั้ง "ศูนย์รักษาความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ" รับช่วงต่อหลังยุบ "ตำรวจรถไฟ" บทบาทหน้าที่ อำนาจจับกุมเหมือนเดิม ด้านบอร์ด รฟท.เคาะงบ 34 ล้านบาทจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมือนทุกปี เร่งส่งคืนบ้านพัก รถยนต์ เพื่อจัดสรรให้พนักงานรถไฟต่อไป

หลังจากที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดยุบเลิก กองบังคับการตำรวจรถไฟ ซึ่งมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมาโดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยพลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟ เพื่อดูแลยกระดับความปลอดภัย ป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทุกพื้นที่ทั่วประเทศระยะเวลา 3 ปีแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) 
รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบจ่ายเบี้ยเลี้ยงเดินทาง เบี้ยเลี้ยงทำขบวนแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าปฏิบัติหน้าที่รักษาดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟวงเงิน 34 ล้านบาท ในช่วงเดือน ต.ค. 66-ต.ค. 67


นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าฯรฟท.เปิดเผยว่า รฟท.ได้เตรียมความพร้อมแนวทางในการดำเนินงานหลังยุบตำรวจรถไฟ โดยขณะนี้ทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) จะมีการจัดตั้ง "ศูนย์รักษาความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ" โดยมีทีมงานสังกัดประมาณ 200 นาย ซึ่งขณะนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการด้านเอกสาร

และเมื่อได้รายชื่อตำรวจที่จะสังกัด ศูนย์รักษาความปลอดภัยบนขบวนรถไฟชัดเจนแล้ว การรถไฟฯ จะได้แต่งตั้งเป็นคณะทำงานปฏิบัติงานบนขบวนรถไฟ โดยมีการกำหนดตารางเวลาปฏิบัติงานความรับผิดชอบในแต่ละเดือนเพื่อทำรายงานการขอเบิกเบี้ยเลี้ยงขบวนรถและค่าที่พักไปตามแนวทางเดิม กรอบวงเงินประมาณ 34 ล้านบาท ตามที่ได้รับอนุมัติจากบอร์ด รฟท. ซึ่งเป็นกรอบวงเงินเดิมที่รฟท.จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ตำรวจรถไฟที่ผ่านมาทุกปี

โดยศูนย์รักษาความปลอดภัยบนขบวนรถไฟฯ จะรวบรวมรายนามและ ตรวจสอบมิให้เบิกซ้ำซ้อนกับเวลาปฏิบัติราชการของตำรวจส่งมาให้การรถไฟฯ ตรวจสอบตั้งเบิกต่อไป


สำหรับขอบเขตดำเนินการบนขบวนรถไฟและแนวทางปฏิบัติงานยังเป็นไปเช่นเดิม เหมือนที่เคยมีกองบังคับการตำรวจรถไฟอยู่เดิม โดยประจำการบนขบวนรถไฟประมาณ 30 ขบวน ขบวนละ 2-3 นาย มีอำนาจดำเนินการจับกุมตามปกติ 

ส่วนกรณีบ้านพักและที่ทำการตำรวจรถไฟเดิมฯ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น รถยนต์ ที่ตำรวจรถไฟเคยใช้ ต้องส่งคืนการรถไฟฯ ทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างการทยอยส่งคืน และตรวจสอบตรวจรับตามระเบียบ โดยการรถไฟฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อตรวจรับและตรวจสอบการรับมอบส่งคืนบ้านพัก ที่ทำการ และเครื่องมือเครื่องใช้ และตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรบ้านพักให้แก่พนักงานการรถไฟฯ ต่อไป 


นายอวิรุทธ์กล่าวว่า แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเรื่องหน่วยงาน แต่การดูแลรักษาความปลอดภัยให้ผู้โดยสารรถไฟยังคงเป็นไปตามปกติ รวมถึงเจ้าหน้าที่รถไฟได้เพิ่มความเข้มงวดอีกด้วย โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบรางมีระยะทางเพิ่มขึ้น มีขบวนรถเพิ่มขึ้น และมีระบบรถไฟความเร็วสูงบริการ อีกทั้งสถานีรถไฟในอนาคตจะเป็นรูปแบบสถานีปิด ซึ่งจะมีระบบตรวจสอบความปลอดภัยการเข้าออกของบุคคลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการคัดกรองในระดับหนึ่ง คาดว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติน่าจะมีการยกระดับ ส่วนงานที่จะดูแลด้านขนส่งทางราง ในอนาคตต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น