ทอท.เร่งโอน 3 สนามบินภูมิภาคในปีนี้ เล็งตั้ง SPV บริหารคล่องตัว ถือหุ้น 60% ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ลุยแก้ ตม.แออัด นำร่อง 15 ธ.ค.ขาออกฝั่งอินเตอร์เริ่มใช้เครื่องอัตโนมัติร่วมกับเจ้าหน้าที่ ตั้งเป้าปี 67 ใช้เครื่องอัตโนมัติ 100% เพิ่มความเร็ว
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการโอนและเข้าบริหารท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง คือ อุดรธานี, บุรีรัมย์, กระบี่ ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า ขณะนี้ทย.ยังอยู่ในขั้นตอนขอใบรับรองสนามบินสาธารณะ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) คาดว่าจะเรียบร้อยภายในปี 2566 ซึ่งคาดว่าหากไม่มีข้อติดขัดจะเริ่มดำเนินการโอนสิทธิ์บริหารสนามบินทั้ง 3 แห่งได้เรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้ ตามนโยบายที่ต้องการลดภาระการลงทุนของภาครัฐโดย ทอท.ได้เตรียมพร้อมเรื่องงบประมาณในการลงทุนเพื่อยกระดับการให้บริการไว้แล้ว
สำหรับรูปแบบในการบริหารล่าสุดที่ทอท.ได้นำเสนอนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม คือจะใช้วิธีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle (SPV)) โดยให้เป็นบริษัทลูกของ ทอท.ถือหุ้นประมาณ 60% ส่วนที่เหลือเป็น กองทุนวายุภักษ์ เข้าถือหุ้น เพื่อไม่ให้เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และใช้อัตราของบุคลากรลดลง สามารถนำทุกท่าอากาศยานของ ทย.เข้ามาบริหารจัดการ และทำให้แบ่งปันทรัพยากรร่วมกันได้ และเชื่อว่าเมื่อ ทอท.เข้าไปบริหารจะสามารถทำกำไรได้
@ปลายปี 67 ปรับ ตม.ขาออก ใช้เครื่องอัตโนมัติ 100% ลดแออัด
นายกีรติกล่าวว่า หลังจากที่ได้เปิดให้บริการแบบ Soft Opening อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปแล้ว และปัจจุบันกำลังเร่งรัดโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) วงเงินลงทุนรวม 21,795.941 ล้านบาท โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 1 ก.ค. 2567 จะส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิ ขยายขีดความสามารถ ในการรองรับผู้โดยสารในเขตการบิน (Air Side) ได้ถึง 80 ล้านคน/ปี
ในขณะที่ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารในส่วนของเขตนอกการบิน (Landside) หรือการบริการภายในอาคารผู้โดยสาร ยังอยู่เท่าเดิม โดยในระหว่างรอส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) ทอท. ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ในการเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร ได้แก่ จุดเช็กอิน, จุดตรวจค้น และจุดตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบ.สตม.) และเห็นร่วมกันในการปรับกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์อัตโนมัติ แทนเจ้าหน้าที่ ตม. โดยจะเริ่มต้นใน วันที่ 15 ธ.ค. 2566 เป็นการใช้ระบบผสม คือ ใช้เจ้าหน้าที่ ตม. และเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ Auto channel ร่วมกันไปก่อน
ทั้งนี้ ทอท.นำเสนอรายละเอียดการจัดหาเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ Auto channel พร้อมกับการเสนอปรับกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองขาออก จากใช้เจ้าหน้าที่ ตม.เป็นเครื่องอัตโนมัติทั้งหมดซึ่ง ทอท.มีระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (Advance Passenger Processing System : APPS) ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ทั้งบุคคลที่มีประวัติอาชญากร, กลุ่มที่อยู่เกินกำหนดระยะเวลาอนุญาต (Over Stay) และกลุ่มที่ต้องห้ามต่างๆ
“ขณะนี้กำลังประเมินว่าควรจะจัดหาเครื่องมือจำนวนเท่าไร เช่น ใช้ 100 ช่องตรวจ จะเพียงพอต่อปริมาณผู้โดยสารหรือไม่ เพื่อกำหนดงบประมาณจัดหา โดยจะของบเร่งด่วนดำเนินการ หากตกลงรายละเอียดร่วมกันได้ภายในปีนี้คาดว่าจะติดตั้งอุปกรณ์แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.ปี 2567 เพื่อรองรับการให้บริการในช่วงตารางบินฤดูหนาวปี 2567” นายกีรติกล่าว
สำหรับช่วงตารางบินฤดูหนาว สนามบินสุวรรณภูมิมียอดจองตารางการบิน (Slot) ประมาณ 95% สายการบินส่วนใหญ่ตอบรับเพิ่มเส้นทางบิน จะมีเพียงจีนที่ยังต่ำกว่าคาดการณ์ แม้จะได้รับผลักดันกระตุ้นการเดินทางจากมาตรการฟรีวีซ่า แต่ยอดจองยังอยู่ในระดับ 60-70% เมื่อเทียบกับปริมาณในปี 2562 ดังนั้นจึงต้องช่วยกันผลักดันมาตรการกับจีนต่อไป
@เปิดประมูลอาคารตะวันออก “สุวรรณภูมิ” มี.ค. 67
สำหรับการโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) มูลค่าลงทุน 8 พันล้านบาทปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบก่อสร้างเพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป จะเพิ่มพื้นที่อีกเกือบ 80,000 ตารางเมตรสำหรับ เป็นพื้นที่เช็กอิน, ตรวจค้น และตรวจคนเข้าเมืองรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน/ปี ทำให้ลดความหนาแน่นบริเวณพื้นที่ให้บริการของอาคารผู้โดยสารหลัก
“คาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแบบฯ แล้วเสร็จเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างในเดือน มี.ค.ปี 2567 ก่อสร้าง 3 ปี สร้างเสร็จ 2570”
ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว อยู่ในขั้นตอนการออกแบบอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ คาดจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. ปี 2567 และเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 ก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2570 เช่นกัน