xs
xsm
sm
md
lg

อมตะจับมือ9 พันธมิตร ร่วมพัฒนาชุมชน จัดการน้ำ-ขยะยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อมตะ ลงนามความร่วมมือ 9 พันธมิตร พัฒนาชุมชนด้านการจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืน เป็นโครงการต่อเนื่อง ระยะที่ 3 มุ่งหวังเป็นต้นแบบให้ชุมชนพื้นที่อื่นๆ นำไปปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในแผนการสร้างชุมชนด้านการบริหารจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืนในอนาคต 

บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาชุมชนด้านการจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืน ระยะที่ 3 ร่วมกับ 9 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อ, เทศบาลตำบลหนองไม้แดง, เทศบาลตำบลนาป่า, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), บริษัท อมตะ ยู จำกัด, บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ๑ จำกัด, บริษัท อาควา นิชิฮาร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อร่วมกันดูแลฟื้นฟูและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ณ เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อ

นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรมและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในระยะที่ 3 และจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 – 2568 เพื่อดูแลรักษาและฟื้นฟูคุณภาพของสิ่งแวดล้อม บริเวณชุมชนในพื้นที่โดยรอบของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยคัดเลือกพื้นที่คลองรับน้ำ “ คลองสันตะไพร” ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อและเทศบาลตำบลหนองไม้แดง มีต้นน้ำส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่เทศบาลตำบลนาป่า รวมทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ราชการส่วนท้องถิ่น ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน และชุมชนโดยรอบ

สำหรับโครงการนี้มีการดำเนินการไปแล้วในระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการในปี 2561 – 2563 ในพื้นที่คลองรับน้ำ-คลองตำหรุ ของเทศบาลตำบลหนองไม้แดง เป็นพื้นที่กลางน้ำซึ่งเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม และระยะที่ 2 เริ่มดำเนินในปี 2565 – 2566 ในพื้นที่คลองรับน้ำ-คลองหัวทองหลาง ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลคลองตำหรุเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 เป็นพื้นที่ปลายน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล

การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ อมตะมุ่งหวังว่าจะก่อให้เกิดความร่วมมือ จากทุกภาคีเพื่อร่วมพัฒนาโครงการ และมุ่งหวังเป็นต้นแบบให้ชุมชนพื้นที่อื่นๆ สามารถศึกษาและนำไปปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในแผนการสร้างชุมชนด้านการบริหารจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืนในอนาคต 


กำลังโหลดความคิดเห็น