ส.อ.ท.กังวลงบประมาณปี 2567 ล่าช้ากระทบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจัดสรรงบประมาณอาจไม่ตอบโจทย์การลงทุนสร้างศก.ในระยะยาวได้ แนะให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างศก.ระยะยาวเช่น ส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การลงทุนบริหารจัดการน้ำ
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 34 ในเดือนตุลาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “เรื่องใดที่ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นในแผนการใช้งบประมาณปี 2567” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลต่อผลกระทบของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ล่าช้าและอาจส่งผลกระทบต่อการนำงบประมาณไปดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวแล้ว จากการประเมินของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. GDP ไตรมาสที่ 2/2566 ที่ผ่านมา ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่ 1/2566 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ด้วยข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาและเงื่อนไขต่างๆ อาจทำให้การจัดสรรงบประมาณฯ ไม่สามารถตอบโจทย์ในการลงทุนสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวได้
จากผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ คาดหวังให้รัฐบาลให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณใช้จ่ายที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว อาทิ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมแบบมุ่งเป้าทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้ง การลงทุนด้านการจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้งและอุทกภัยในระยะยาว ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
เมื่อถามถึงสิ่งที่ภาครัฐควรปรับการจัดทำงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณในระยะยาว พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. แนะนำให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบูรณาการวางแผนงบประมาณเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน มีการพัฒนาและนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการติดตามวัดผลประสิทธิภาพของการใช้จ่ายงบประมาณควบคู่กับการเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น รวมถึงเร่งพัฒนากลไกการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ เช่น ปรับโครงสร้างภาษี, สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเข้ามาในระบบภาษี (E-Tax Invoice, E-Withholding TAX) เป็นต้น