xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.แจง ป.ป.ช.จัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค (UV-C) ตามระเบียบ ประสิทธิภาพใช้งานได้ตามเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การรถไฟฯ ชี้แจง ป.ป.ช.พร้อมสาธิตการใช้งานหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค (UV-C) ยันจัดหาดำเนินการตามระเบียบทุกขั้นตอนด้วยความโปร่งใส สามารถใช้ปฏิบัติงานได้จริง ฆ่าเชื้อไวรัสทั้งบนขบวนรถ และสถานี

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมรับฟังข้อมูลและสังเกตการณ์การใช้งานหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ณ โรงซ่อมประจำวัน สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยมีเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ให้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ดังกล่าวของ ป.ป.ช.เป็นการเข้ามาตรวจเยี่ยมเพื่อขอรับทราบข้อมูลและสังเกตการณ์ถึงการใช้งานของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) ซึ่งการรถไฟฯ ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ พร้อมสาธิตการใช้งานของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ ตลอดจนชี้แจงถึงข้อมูล เหตุผลความจำเป็นการดำเนินการจัดหาอย่างละเอียด ทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ ปัจจุบันการรถไฟฯ ยังมีการนำหุ่นยนต์ดังกล่าวออกมาใช้งานฆ่าเชื้อโรค เชื้อไวรัส แบคทีเรียต่างๆ ภายในขบวนรถโดยสาร และสถานีรถไฟอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการดูแลรักษาความสะอาด สร้างความปลอดภัย และเสริมศักยภาพในด้านการให้บริการ โดยนำออกมาใช้งานเวลากลางคืน หรือเวลาที่ไม่มีประชาชนหรือผู้โดยสารอยู่ในพื้นที่แล้ว เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการใช้งาน ซึ่งก่อให้เกิดความสะอาด ปลอดภัย ป้องกันไม่ให้รังสียูวีซี (UV-C) ที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษ กระทบต่อผู้โดยสารและประชาชนผู้ใช้บริการ


สำหรับเหตุผลความจำเป็นของการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) นั้น เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีความรุนแรง แต่ขณะนั้นยังคงมีประชาชนที่มีความจำเป็นในการใช้รถไฟเพื่อเดินทาง ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ได้รับเชื้อและอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง จนส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการ และดูแลความปลอดภัยตามมาตรฐานสาธารณสุขแก่ผู้โดยสาร จึงนำไปสู่แนวทางการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค ซึ่งถือเป็นแนวทางมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

ส่วนสเปกคุณสมบัติของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) ที่การรถไฟฯดำเนินการจัดหา ถือเป็นหุ่นยนต์เทคโนโลยีขั้นสูง สามารถฆ่าเชื้อไวรัส/แบคทีเรียด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดเข้มข้น ประมวลผลการทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองผ่านระบบไวไฟ 5G อีกทั้งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานโดย CE และ TUV Rheinland (UVDR/Ultra Violet Disinfection Robot, AGV/Autonomous Guide Vehicle) มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที จึงมีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคมากกว่าวิธีการฉีดพ่นสารเคมี และการเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งต่ำ ไม่มีสารเคมีตกค้างหลังการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม แม้การรถไฟฯ จะมีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหา แต่การรถไฟฯ ยังคำนึงถึงความโปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล ภายใต้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) และคณะกรรมการดำเนินการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) พร้อมกับเปิดให้มีการเสนอราคาประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีการสอบราคาตามความถูกต้อง ครบถ้วนทุกขั้นตอน

ที่สำคัญ การจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) จำนวน 20 ตัว นอกจากจะเป็นการได้หุ่นยนต์กำจัดเชื้อโรคที่มีเทคโนโลยีทันสมัยแล้ว ยังได้รวมถึงการบำรุงรักษา ซ่อมแซม และรับประกันตลอด 2 ปีเต็ม ตลอดจนการอบรมเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ จำนวน 30 คน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถใช้งานหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อฯ ได้จริง อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ภายหลังการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคมาใช้งานแล้ว การรถไฟฯ ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อแสดงความโปร่งใส และการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพอีกด้วย


ปัจจุบัน การรถไฟฯ มีการนำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) มาใช้งานกับขบวนรถโดยสาร และตามสถานีต้นทาง/ปลายทางต่างๆ ดังนี้
1. สถานีกรุงเทพ จำนวน 4 ตัว
2. สถานีเชียงใหม่ จำนวน 2 ตัว
3. สถานีหนองคาย จำนวน 2 ตัว
4. สถานีอุบลราชธานี จำนวน 2 ตัว
5. สถานีชุมทางหาดใหญ่ จำนวน 2 ตัว
6. สำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติงานของพนักงานการรถไฟฯ จำนวน 2 ตัว
7. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 6 ตัว

สำหรับผลจากการจัดหาและนำหุ่นยนต์มาใช้ฆ่าเชื้อโรคภายในสถานี และบนขบวนรถโดยสาร สามารถได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ สร้างความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน และผู้โดยสารอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อนับจากสถิติการเดินทางของผู้โดยสาร 17 ล้านคน นับตั้งแต่มีการนำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อมาใช้งาน ไม่พบผู้โดยสารติดเชื้อโควิด-19 หรือโรคระบาดต่างๆ จากการเดินทางโดยรถไฟหรือที่สถานีเลย ซึ่งถือเป็นความคุ้มค่าในการช่วยป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาด และลดความสูญเสียของพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี

ท้ายนี้ การรถไฟฯ ขอยืนยันในความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการพัฒนาการให้บริการที่ดี เพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถใช้บริการสะดวกปลอดภัย โดยยึดหลักให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน พร้อมกับคำนึงถึงประโยชน์การให้บริการแก่ผู้โดยสารทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดในการใช้บริการ


กำลังโหลดความคิดเห็น