xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำขอ "คมนาคม" งบปี 67 ทะลุ 5.56 แสนล้านบาท อัดลงทุนทุกโหมด 'บูมเมืองท่องเที่ยว-กระตุ้นเศรษฐกิจ'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาล "เศรษฐา" ได้วางกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ พร้อมทั้งแนวทางการจัดทำงบประมาณและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งกรอบงบฯ ใหม่วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มจากกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เดิม ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ชุดที่แล้วเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (กรอบวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท )

กระบวนการหลังจาก ครม.เห็นชอบ ทุกกระทรวงต้องจัดทำคำของบประมาณมายังสำนักงบประมาณในวันที่ 6 ต.ค. 2566 จากนั้นสำนักงบประมาณจะใช้เวลาพิจารณา 35 วัน คาดจะเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียด และเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2566 และเสนอที่ประชุมสภาฯ พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำขึ้นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 17 เม.ย. 2567


@เปิดคำขอ "คมนาคม" งบปี 67 (รอบทบทวน) กว่า 5.56 แสนล้านบาท

กระทรวงคมนาคม ซึ่งจัดเป็นกระทรวงเกรดเอ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เป็นอันดับ 5 นั้น ได้เสนอคำของบประมาณรายจ่ายปี 2567 (รอบทบทวน) กรอบรวมที่วงเงิน 556,836.1983 ล้านบาท (แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 48,649.0403 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 508,187.1580 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ที่เสนอวงเงิน 531,026.2983 ล้านบาท จำนวน 25,809.90 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.86%) และเพิ่มขึ้นจากคำของบปี 2566 ที่เสนอ 549,312.5664 ล้านบาท จำนวน 7,523.6319 ล้านบาท (1.37%)

โดยแบ่งเป็นงบคำขอ ส่วนราชการ 9 หน่วยงาน รวมจำนวน 454,985.0431 ล้านบาท (แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 16,193.7472 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 438,791.2959 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ที่เสนอวงเงิน 426,402.3199 ล้านบาท จำนวน 28,582.7273 ล้านบาท (6.70%) และเพิ่มขึ้นจากคำของบปี 2566 ที่เสนอ 420,099.5629 ล้านบาท จำนวน 34,885.4802 ล้านบาท (8.30%)

งบคำขอ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง รวมจำนวน 101,851.1552 ล้านบาท (แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 32,455.291 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 69,95.8621 ล้านบาท) ซึ่งลดลงจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ที่เสนอวงเงิน 104,623.9784 ล้านบาท จำนวน 2,772.8232 ล้านบาท (2.65%) และลดลงจากคำของบปี 2566 ที่เสนอ 129,213.005 ล้านบาท จำนวน 27,361.8483 ล้านบาท (21.18 %)

@กรอบแนวคิด "คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน"

กระทรวงคมนาคมมีภารกิจหลัก คือ การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทั้ง ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ดังนั้น ในการจัดทำกรอบงบประมาณจึงเน้นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยนำนโยบายและกรอบการจัดทำงบประมาณ 5 ข้อ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย มาดำเนินการจัดทำคำของบประมาณ รวมถึงหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณปี 2567 ของสำนักงบประมาณ และให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงความพร้อมของโครงการ ที่จะต้องสามารถดำเนินการได้ทันทีที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากระยะเวลาของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะมีน้อยกว่าปีงบประมาณปกติ

ทั้งนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และ รมช.คมนาคมมี แนวคิด “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” หมายถึงความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ ด้านความปลอดภัย ด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

มีแนวทางพัฒนามุ่งเป้าหมาย เปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อการเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ลดอุบัติเหตุทางถนน เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดต้นทุนในการเดินทาง ให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” (Green Transport) โดยลดสัดส่วนปริมาณการใช้เชื้อเพลิงภาคคมนาคมขนส่งต่อการใช้พลังงานลงจาก 35% ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในระบบการเดินทางและขนส่ง


@จัดเต็ม! โครงสร้างพื้นฐานครบโหมด "ถนน-น้ำ-ราง อากาศ"

สำหรับกรอบคำของบประมาณรายจ่ายปี 2567 ของส่วนราชการ 9 แห่งจำนวน 454,985.0431 ล้านบาทนั้น กรมทางหลวง (ทล.) เสนอมากที่สุด วงเงิน 338,418.3181 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 7,434.3673 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 330,983.9508 ล้านบาท)

เพิ่มขึ้นจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ที่เสนอวงเงิน 300,534.7443 ล้านบาท จำนวน 37,883.5738 ล้านบาท (12.61%) และเพิ่มจากคำขอปี 2566 ที่เสนอวงเงิน 295,559.5252 ล้านบาท จำนวน 42,858.7929 (14.50%)

รองลงมาคือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เสนอวงเงิน 91,910.2098 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 1,711.0005 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 90,199.2093 ล้านบาท)

ลดลงจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ที่เสนอวงเงิน 99,498.772 ล้านบาท จำนวน 7,588.5625 ล้านบาท (7.63%) และลดลงจากคำขอปี 2566 ที่เสนอวงเงิน 95,334.131 ล้านบาท จำนวน 3,423.9215 (3.59%)

ส่วนอีก 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เสนอคำขอวงเงิน 993.3800 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 744.4932 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 254.8868 ล้านบาท) ลดลงจากจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 จำนวน 54.6802 ล้านบาท (5.19%)

กรมเจ้าท่า (จท.) เสนอคำขอวงเงิน 9,163.9573 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 1,486.2338 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 7,677.7235 ล้านบาท) ลดลงจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 จำนวน 1,043.8270 ล้านบาท (10.23%)

กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เสนอคำขอ วงเงิน 4,648.9525 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 3,325.6538 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 1,323.2987 ล้านบาท) ลดลงจากจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 จำนวน 268.4687 ล้านบาท (5.46 %)

กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เสนอคำขอ วงเงิน 8,841.1699 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 1,058.2520 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 7,782.9179 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น จากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 จำนวน 6.4098 ล้านบาท (0.07%)

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอคำขอวงเงิน 368.6059 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 205.4057 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 163.2002 ล้านบาท) ลดลงจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 จำนวน 69.1566 ล้านบาท (15.80%)

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เสนอคำขอ วงเงิน 147.0546 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 113.9219 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 33.1327 ล้านบาท) ลดลงจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 จำนวน 76.0803 ล้านบาท (34.10 %)

สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เสนอคำขอ วงเงิน 487.3950 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 114.4190 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 372.9760 ล้านบาท) ลดลงจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. 2566 จำนวน 206.4851 ล้านบาท (29.76%)

ส่วน 6 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเสนอคำขอรวมจำนวน 101,851.1552 ล้านบาทนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอคำขอมากที่สุด วงเงิน 54,488.8001 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 15,006.3421 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 39,482.4580 ล้านบาท) ลดลงจากคำขอเดิม เมื่อเดือน ม.ค. 2566 จำนวน 2,690.0760 ล้านบาท (4.70%)

รองลงมาคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอคำขอ วงเงิน 30,927.4500 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 6,303.6400 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 24,623.8100 ล้านบาท) เท่ากับคำขอเมื่อเดือน ม.ค. 2566

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เสนอคำขอ วงเงิน 9,439.5534 ล้านบาท (รายจ่ายประจำทั้งหมด) เท่ากับคำขอเมื่อเดือน ม.ค. 2566,การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เสนอคำขอ วงเงิน 5,179.6432 ล้านบาท (เป็นรายจ่ายลงทุน) เท่ากับคำขอเมื่อเดือน ม.ค. 2566, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เสนอคำขอ วงเงิน 1,511.6610 ล้านบาท (เป็นรายจ่ายประจำทั้งหมด) เท่ากับคำขอเมื่อเดือน ม.ค. 2566 และ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เสนอคำขอ วงเงิน 304.0475 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 194.0966 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 109.9509 ล้านบาท) ลดลงจากคำขอเดิม เมื่อเดือน ม.ค. 2566 จำนวน 82.7472 ล้านบาท (21.39%)


@ผ่างบ 2 กรมใหญ่ “ทล.-ทช.” รวมคำขอกว่า 4.3 แสนล้านบาท

หากพิจารณาภาพรวมคำของบประมาณปี 2567 ของกระทรวงคมนาคมที่เพิ่มขึ้นจากคำขอเดิมเมื่อเดือน ม.ค. จำนวน 25,809.90 ล้านบาทนั้น หลักๆ มาจาก กรมทางหลวง หน่วยงานเดียวที่มีคำของบเพิ่มถึง 37,883 ล้านบาท จนทำให้มีหลายหน่วยงานต้องปรับลดงบลง

กรมทางหลวงเสนอคำขอ วงเงิน 338,418.3181 ล้านบาท แยกเป็น 1. แผนบุคลากรภาครัฐ 5,687.5667 ล้านบาท 2.  แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 4,531.4260 ล้านบาท 3. แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ 124,975.7447 ล้านบาท 4. แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ 199,088.1550 ล้านบาท 5. แผนการบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 4,135.4257 ล้านบาท

โดยมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สำคัญ 5 ลำดับแรก ได้แก่

1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 835.74 ล้านบาท (ตั้งงบปี 67 จำนวน 172.84 ล้านบาท)

2. โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สายแยกทางหลวงหมายเลข 9 (บ.บางเตย) - บรรจบทางหลวงหมายเลข 3214 (บ.พร้าว) วงเงิน 6,450 ล้านบาท (ตั้งงบปี 67 จำนวน 1,290 ล้านบาท)

3. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 103 สาย อ.ร้องกวาง-อ.ง้าว ตอน บ.วังดิน-บ.แม่ตีบหลวง วงเงิน 1,800 ล้านบาท (ตั้งงบปี 67 จำนวน 360 ล้านบาท)

4. โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 และทางหลวงหมายเลข 410 (แยกตะลุโป๊ะ) วงเงิน 900 ล้านบาท (ตั้งงบปี 67 จำนวน 180 ล้านบาท)

5. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สายโพนพิสัย-บึงกาฬ ตอนปากคาด- บ.สมประสงค์ วงเงิน 800 ล้านบาท (ตั้งงบปี 67 จำนวน 160 ล้านบาท)


@ลัดคิวงบ ถม "ภูเก็ต" เร่งขยายถนนหนุนท่องที่ยวสนองนโยบาย "เศรษฐา"

ขณะที่มีแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด โดยเร่งรัดให้ดำเนินการ 2 โครงการเร่งด่วน ได้แก่ 1.  การพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมืองภูเก็ต หรือทางหลวงหมายเลข 4027 ตอน บ.พารา-บ.เมืองใหม่ ช่วง กม.14+300-กม. 18+850 ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร (กม.) ค่าก่อสร้าง 510 ล้านบาท ซึ่งให้กรมทางหลวงเร่งรัดแผนดำเนินการเดิมในปี 2569 เป็นเสนอตั้งงบประมาณปี 2567 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 สถานะ ออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว รายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ในพื้นที่คุ้มครอง จ.ภูเก็ตแล้วเมื่อ 16 ส.ค. 2564

และโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 (อุโมงค์ท่าเรือ) ที่ กม.34+680 (ทล.402 ) ค่าก่อสร้าง 2,380 ล้านบาท ค่าเวนคืน 45.81 ล้านบาท สถานะ ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่าง แก้ไขรายงานตามข้อคิดเห็น คชก. คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบเดือน ธ.ค. 2566 จะเสนอตั้งงบประมาณก่อสร้างปี 2567 และเปิดให้บริการปี 2570

@ทช.ลุยงานหลัก "ซ่อม-สร้าง" ถนนผังเมือง, สะพาน

ด้ายกรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 กว่า 91,910 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ 47,000 ล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่จำนวน 14 โครงการ และโครงการขนาดเล็กกว่า 3,000 โครงการ เป็นการก่อสร้าง บำรุงรักษาอำนวยความปลอดภัยของถนนและสะพานทั่วประเทศ รองรับการเดินทางของประชาชนและสนับสนุนการขนส่งสินค้า มีโครงการสำคัญ เช่น

1. โครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (แห่งที่ 2) ระยะทาง 43.485 กม. 2. โครงการก่อสร้างถนนสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ระยะทาง 3.510 กม. 3. โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.11-ทล.1 อ.เมือง จ.ลำปาง (ตอนที่ 1) ระยะทาง 5.4 กม. เป็นต้น


“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม ยอมรับว่าคำของบประมาณปี 2567 จะถูกตัดลดลง ซึ่งกระทรวงฯ จะพิจารณาจัดลำดับความสำคัญโครงการให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ โดยเฉพาะโครงการที่เป็นนโยบายของ "นายกฯ เศรษฐา" เช่น การขยายถนนที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนโครงการที่ไม่ได้งบปี 2567 ก็ให้จัดของบปี 2568

ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ( PPP ) นั้นก็ยังเดินหน้าไปตามกระบวนการ และไทม์ไลน์ ทั้งโครงการมอเตอร์เวย์, รถไฟฟ้า, ทางด่วน ฯลฯ เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่กระทบต่อภาระงบประมาณภาครัฐมากนัก แต่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก ....อย่างไรก็ตาม คาดว่ากว่าจะได้เบิกจ่ายงบปี 2567 ได้คงเข้าไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ เท่ากับเหลือเวลาใช้จ่ายงบประมาณไม่เกิน 6 เดือน การประมูลโครงการก่อสร้างทั้งเล็กและใหญ่พร้อมๆ กัน อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาฟันราคา แย่งชิงงาน และยังน่ากังวลเรื่องคุณภาพของงาน กรณีเร่งการก่อสร้างหลายๆ โครงการเพราะต้องเร่งเบิกจ่ายงบ ภายในเวลาอันจำกัดอีกด้วย!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น