คมนาคมลุยฟีดเดอร์เชื่อมชุมชน สถานศึกษา ป้อน "สีแดง-สีม่วง" หนุนรถไฟฟ้า 20 บาท สั่ง ขบ. บขส. ขสมก.ทำแผนส่งใน 7 วัน เล็งทิศเหนือ เชื่อมจากตลาดวังน้อย, รังสิต-นครนายก ด้าน รฟม.เสนอผุด "ศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก กทม." อาคารจอดแล้วจร คลองบางไผ่
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการจัดทำฟีดเดอร์รถโดยสารสาธารณะเพื่อส่งเสริมการเดินระบบราง ภายใต้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 ว่า ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เบื้องต้นพบว่าปริมาณผู้โดยสารหลังดำเนินนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สายสีแดงเพิ่มขึ้นกว่า 20% สายสีม่วงเพิ่มประมาณ 5% แต่อาจจะยังประเมินผลได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นและยังปิดเทอมอยู่
ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำเส้นทางรถโดยสารสาธารณะเป็นระบบฟีดเดอร์ เชื่อมแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย แหล่งการค้า สถานศึกษา ที่มีความต้องการเดินทางจำนวนมาก เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และสีม่วง โดยให้มีความสะดวก และมีความถี่ที่เหมาะสม และเสนอกลับมาภายใน 7 วัน ซึ่งจะมีการประชุมติดตามอีกครั้งในวันที่ 3 พ.ย. 2566
"จากที่มีการทดลองวิ่งรถฟีดเดอร์เส้นทางจากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีสถานศึกษาและหมู่บ้านเมืองเอก เป็นชุมชนหลักไปยังสถานีหลักหก ของสายสีแดง พบว่าทำให้ ผู้โดยสารที่สถานีหลักหกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,000 คน/วัน เป็น 1,500 คน/วัน หรือเพิ่มขึ้น 50% จะเห็นว่าฟีดเดอร์มีผล และตอบโจทย์ จึงมีนโยบายให้พิจารณามีฟีดเดอร์เชื่อมกับทุกสถานีรถไฟฟ้า" นายสรพงษ์กล่าว
กรณีสายสีแดง ที่ประชุมเห็นว่าโซนด้านเหนือมีแหล่งชุมชน เช่น บริเวณตลาดวังน้อย หรือถนนรังสิต-นครนายก, ย่านเซียร์ รังสิต เป็นแหล่งชุมชน ที่ความต้องการเดินทางจำนวนมาก สามารถใช้รถ บขส.และรถ ขสมก. รวมถึงรถร่วมฯเอกชน เป็นฟีดเดอร์วิ่งเชื่อมเข้าสู่สถานีรังสิตได้ ส่วนโซนตะวันตก อาจจะมีการจัดรถวิ่งวนจากถนนบรมราชชนนี-สถานีบางบำหรุ, ศาลายา-สถานีตลิ่งชัน เป็นต้น โดยสามารถที่จะปรับความถี่ในการเดินรถโดยสารให้ลดลง เช่นจาก 30 นาทีเป็นทุก 10 นาที เพราะระยะทางวิ่งจะสั้นลงเมื่อปรับเป็นฟีดเดอร์เชื่อมสถานีกับรถไฟฟ้า
@เล็งผุด "ศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก กทม." อาคารจอดแล้วจร คลองบางไผ่
ส่วนสายสีม่วง รฟม.นำเสนอแผนใช้พื้นที่ อาคารจอดแล้วจร สถานีคลองบางไผ่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สามารถรองรับรถได้กว่า 1,000 คัน โดยจัดตั้งเป็น "ศูนย์การคมนาคมขนส่งด้านตะวันตก กทม." ถือเป็นจุดที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นจุดต่อรถในเมือง และรถระหว่างเมือง โดยมี บขส., รถร่วม บขส.ที่เดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม (บางเลน) สุพรรณบุรี และชัยนาท อยุธยา ผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่ ในอัตรา 20 บาทตลอดสายได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าเมืองได้
ทั้งนี้ บขส. ขสมก.จะกลับไปพิจารณา นำเสนอเส้นทางใหม่ หรือปรับ/ตัดเส้นทางเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และสีม่วงอย่างไรก็ตาม ที่ประชุมให้พิจารณาประเด็นทางกฎหมายด้วยว่าการปรับเส้นทางหรือจัดทำเส้นทางใหม่จะมีผลกระทบต่อผู้ให้บริการเดินรถเดิมหรือไม่อย่างไร อาทิ รถหมวด 4