ผู้จัดการรายวัน 360 – กลุ่มลุฟท์ฮันซ่า เดินหน้าแผนรุกตลาดการบินรองรับตลาดกลับมาฟื้นตัว ล่าสุด ลุฟท์ฮันซ่า เปิดตัว แอร์บัสA380 กลับมาบริการอีกครั้ง ด้วยเส้นทาง กรุงเทพ-มิวนิก ประเทศเดียวในเอเชียแปซิฟิก พร้อมแผนทุ่ม 2,500 ล้านยูโร ในช่วง 10 ปีนี้ เพิ่มฝูงบินอีก 200 ลำ
นางสาวอันลี โค ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทสไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กลุ่มบริษัทลุฟท์ฮันซ่า กล่าวว่า ล่าสุดลุฟท์ฮันซ่า ได้นำเครื่องบินแอร์บัสรุ่น A380 กลับมาให้่บริการอีกครั้งในเที่ยวบิน กรุงเทพ-มิวนิก เยอรมัน โดยได้เพิ่มเที่ยวบินให้บริการเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯและ มิวนิก เมืองหลวงของรัฐบาวาเรีย เยอรมัน
โดยเป็นเครื่องบินเชิงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยชั้นหนึ่ง 8 ที่นั่ง,ที่นั่งชั้นธุรกิจ 78 ที่นั่ง, ที่นั่งชั้นประหยัดพรีเมียม 52 ทั่นั้ง และที่นั่งชั้นประหยัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 371 ที่นั่ง โดยให้บริการในช่วงไฮซีซั่นหรือหน้าหนาวนี้ ก่อนที่จะพิจารณาขยายการบินเพิ่ม โดยต้องดูความต้องการของตลาดอีกครั้ง เริ่มบริการวันที่ 29 ตุลาคม 2566 นี้ มีเที่ยวบินทุกวัน
นอกจากนั้นด้วยเครือข่ายของสายการบินของลุฟท์ฮันซ่าด้วยกันเอง และสายการบินสวิสอินเตอร์เนชั่นแนล สายการบินออสเตรียน จะทำให้เที่ยวบิน LH773 เพิ่มการให้บริการระหว่างประเทศยุโรป โดยมีเที่ยวบินให้บริการ 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อเชื่อมต่อโดยตรงกับเมืองสำคัญในยุโรป คือ ซูริค เวียนนา และมิวนิก
นางสาวเอลิเซ่ เบกเกอร์ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า เปิดเผยว่า สาเหตุที่กลุ่มลุฟท์ฮันซ่า เลือกไทยเป็นประเทศเดียวในการให้บริการ A380 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ เพราะมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของกรุงเทพ ประเทศไทย และตลาดของนักเดินทางที่มีความต้องการสูง ประกอบกับโครงสร้างทางการเดินทางที่มีอยู่ของไทย การจัดสรรจำนวนลูกเรือที่มาบริการA380ได้ และการที่ไทยมีภาคีเครือข่ายการบินที่ดีมาก ทำให้สามารถเป็นฮับที่ดีนการต่อเชื่อมไปยังจุดหมายปลายทางอื่นได้อีกมาก
ลุฟท์ฮันซ่ามีความมั่นใจและเชื่อมั่นในแอร์บัส A380 อย่างมาก ที่จะมารองรับตลาดการเดินทางที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ฟื้นตัวจากโควิดได้เร็ว ส่วนเอเชียแฟซิฟิกยังไม่เต็มร้อย
อย่างไรก็ตามความท้าทายหรือปัญหาต่ออุตสาหกรรมการบินขณะนี้ก็ยังมีอยู่ เขช่น เรื่องของซัพพลายเชนที่ยังไม่สมบูรณ์แบบตั้งแต่หลังโควิด ที่แม้ว่าจะต้องเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น เพิ่มเส้นทางบินให้กลับมาเท่าเดิม แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องของบุคลากร และเครื่องบินที่ยังไม่สามารถรองรับได้ทัน เพราะต้องใช้เวลาอีกมาก รวมไปถึงเรื่องของความยั่งยืนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งธุรกิจการบินก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเช่นกัน ทำให้ทุกสายการบินต้องปรับตัวและมีแผนเรื่องความยั่งยืนด้วยอย่างชัดเจน ซึ่งลุฟท์ฮันซ่ามีแผนงานเรื่องนี้อยู่แล้วและปฎิบัติอย่างเข้มงวด
นางสาวซาบริน่า วินเทอร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกของกลุ่มบริษัทลุฟท์ฮันซ่า กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ใช้งบประมาณกว่า 2,500 ล้านยูโร ในช่วง 10 ปีจากนี้ เพื่อทำการซื้อเครื่องบินใหม่เข้ามาประจำการเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 200 ลำ เพื่อรองรับการขยายตัวของการเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วโลก
นอกจากนั้นมีแผนที่จะขยายโครงการตั๋วร่วมหรือตั๋วใบเดียวที่สามารถใช้เดินทางเชื่อมต่อได้หลายรูปแบบในเครือข่ายการบริการของเรา ซึ่งปัจจุบันใช้บริการได้ใน 56 แห่ง ในหลายประเทศในยุโรปคือ เยอรมัน สวิส ออสเตรีย เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้เริ่มให้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์2566 นี้ ปัจจุบันสามารถจำหน่ายตั๋วดังกล่าวได้แล้วกว่า 450,000 ใบ และได้เริ่มขยายมายังเอเชียเริ่มที่เกาหลีใต้ ที่ใช้ได้กับรถไฟใน 8 เมืองใหญ่ในเกาหลีใต้ และไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศเป้าหมายที่จะขยายการบริการดังกล่าวเข้ามาด้วยในอนาคต