"มนพร" รับมอบงานวิจัยเชิงปฏิบัติการลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน คาดหวังนำข้อมูลใช้ประโยชน์ ใน 7 จังหวัดอีสาน อุดรธานี สกลนคร เลย นครพนม หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ที่มีประชากรกว่า 5 ล้านคน
วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับมอบงานวิจัยเชิงปฏิบัติการลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยมี นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก พร้อมด้วย รศ.ดร.เอกพร รักความสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายแพทย์ ชาญวิทย์ ทระเทพ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย หัวหน้าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการทุกภาคส่วน และกรรมการผู้ร่วมการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ร่วมประชุมและรับฟังงานวิจัย
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอุบัติเหตุทางการสัญจรบนท้องถนนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และเป็นปัญหามายาวนานจำเป็นต้องมีการแก้ไข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้ความสำคัญและทำการวิจัยเพื่อหาทางออกและรักษาชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งงานวิจัยเชิงปฏิบัติการลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต สอดคล้องกับแผนแม่บท ฉบับที่ 5 และที่สำคัญอัตราการเสียชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 32.2 คน ต่อประชากร 1 แสนคน จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกถือว่าสูงมาก
ที่สำคัญ กว่าร้อยละ 50 เสียชีวิตใกล้บ้านรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร และส่วนใหญ่เป็นเส้นทางประจำ โดยส่วนใหญ่เป็นช่วงวัยทำงาน ร้อยละ 50 วัยเรียนเยาวชน ร้อยละ 29 สูงวัย ร้อยละ 21 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนมากเป็นจักรยานยนต์ และผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตในการขับขี่
การวิจัยดังกล่าวเพื่อต้องการลดการสูญเสียจำนวนการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ซึ่งปรับให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บท ฉบับที่ 5
ในโอกาสนี้ได้นำเสนอโครงการมายังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นข้อมูลโดยดำเนินการวิจัยในลักษณะ Action Research ในเขตสุขภาพที่ 8 รวม 7 จังหวัด คือ จังหวัดอุดรธานี สกลนคร เลย นครพนม หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ซึ่งมีประชากรมากกว่า 5 ล้านคน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวขอบคุณคณะทำงานทุกคนที่ทำการวิจัยและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ จะนำเสนองานวิจัยดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และที่สำคัญสามารถลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ต่อไป