“สุรพงษ์”เตรียมมอบนโยบายรฟท. เผยต้องเร่งผ่าตัดองค์กรแก้หนี้กว่า 2 แสนล้านบาท เน้นใช้ทางที่มีให้คุ้มค่าลงทุน เพิ่มรายได้ขนส่งสินค้า-เปิดทางให้เอกชนเช่าวิ่ง แนะอุดหนุนค่าโดยสารผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการโดยตรง
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การบริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลนั้น จะดูที่งบดุลผลประกอบการกำไรขาดทุนก่อน ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเริ่มมอบนโยบายการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) เป็นหน่วยงานแรก เพราะมีผลประกอบการขาดทุนและมีภาระหนี้มากที่สุด ซึ่งเบื้องต้นจากที่ได้ดูงบดุล กำไร ขาดทุนของรฟท. เห็นตัวเลขรายได้จากธุรกิจหลัก (Core Business) เท่าไร มีรายจ่ายเท่าไร รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญประมาณ 5,000 ล้านบาท อีกด้วย
@ลุยผ่าตัดองค์กร หยุดเลือด ลดขาดทุน
ส่วนแผนฟื้นฟู รฟท. ที่มีการจ้างศึกษาไว้ ต้องนำมาดูว่า ประเด็นไหนยังเหมาะสมกับสถานการณ์ก็เร่งเดินหน้า ประเด็นไหนที่ล้าสมัยไปแล้วต้องทบทวนใหม่ ซึ่งรฟท.มียอดขาดทุนสะสม 230,000 ล้านบาท โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกู้เงิน 18,000
ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นกระแสเงินสดในปี 2567 ดังนั้น ที่รฟท.ต้องดูคือเรื่องลดค่าใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็น และ เพิ่มรายได้ ยุดเลือดไหลให้เร็ว และเดินหน้าผ่าตัดองค์กรใหม่
สำหรับทรัพย์สินและที่ดินของรฟท.จำนวนมากมูลค่าที่ดินรฟท. ธนารักษ์ประเมินมูลค่า 3-4 แสนล้านบาทแต่หากเป็นราคาซื้อขาย ในตลาด อาจจะถึงล้านล้านบาท แต่ทรัพย์สินและที่ดินเป็น Non-Core ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักของรฟท. ซึ่งหลายคนมองว่า ควรหารายได้เพิ่มได้น้ัน ตนมองว่า ที่ดินเป็นการหารายได้ทางอ้อมขณะที่รฟท.มีเส้นทางรถไฟ ทั่วประเทศที่ยังใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ ควรสร้างรายได้จากธุรกิจหลัก (Core Business) ให้ได้มากที่สุดก่อน แล้วค่อยไปหารายได้จากพื้นที่หากผลประกอบการทางตรง ยังขาดทุนอยู่แสดงว่า ธุรกิจหลักยังทำได้ไม่ดีไม่แข็งแรงเลย
@เน้นสร้างรายได้ขนส่งสินค้า-เปิดทางให้เอกชนเช่าวิ่ง
แนวทางที่เหมาะสมคือ ด้านการโดยสาร การจัดเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนมาก รฟท.ควรกำหนดค่าโดยสารที่เหมาะสม และควรแยกบริการเชิงสังคมออกมาให้ชัดเจนและอุดหนุนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้ถึงผู้มีรายได้น้อยโดยตรง ส่วนการขนส่งสินค้า หลักการ ต้องต่อเส้นทางรถไฟเข้าไปสู่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น ด้านพลังงาน ปตท. SCG เพื่อนำสินค้าหนัก ลงสู่รางให้มากที่สุดและสินค้าน้ำหนักเบาไปขนส่งทางถนน
“รฟท.ลงทุนก่อสร้างทางไปจำนวนมาก แต่มีการใช้ประโยชน์เพียง 20% เท่านั้น หากเพิ่มผู้โดยสารไม่ได้ก็ต้องเพิ่มการขนส่งสินค้าให้มากขึ้น ที่รฟท.ขาดทุนทุกวัน ไม่ได้มาจากการบริการเชิงสังคม หรือราคาตั๋วถูก แต่ขาดทุนจากที่ลงทุนสร้างรางสร้างทางไปเยอะ แต่ใช้งานน้อย ซึ่งควรปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อใช้ประโยชน์ทางที่มีอยู่ให้มากขึ้น เช่น แนวทางการให้เอกชนเข้ามาร่วมใช้ทาง โดยรฟท.เก็บค่าใช้ทาง แบ่ง Slot เดินรถร่วมกันโดยไม่ให้มีการผูกขาด”
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ความต้องการใช้รถไฟเดินทางมีมาก จะเห็นว่า รถไฟไม่มีคู่แข่งแต่ยังขาดทุน รถไฟชั้น 1 ชั้น 2 ไปเชียงใหม่ ตั๋วจองเต็มหมด นักท่องเที่ยวก็มาก ซึ่งเห็นว่าควรประสานกับรถบขส. รถโดยสารอื่น เพื่อเป็นฟีดเดอร์ เชื่อมกับรถไฟ ซึ่งตนกำกับดูแล บขส.ด้วย ดังนั้น น่าจะบูรณาการร่วมกับ ส่วนการจัดหาหัวรถจักร และรถโดยสารเพิ่มเติม ทราบว่ารฟท.มีแผนจัดหาในปี 2567
@เชื่อสหภาพฯรฟท.ไม่ต่อต้าน
รมช.คมนาคมกล่าวว่า คิดว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ (สร.รฟท.) ควรให้ผ่าตัดองค์กรใหม่ เพื่อความยั่งยืนเพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี มีอนาคตที่ดี มีงานเพิ่มขึ้น รถไฟยังบริหารและให้บริการบนเส้นทางรางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างงานไปถึงลูกหลานคนรถไฟในส่วนหนึ่ง น่าจะดีกว่าและไม่มีเหตุผลที่ต่อต้าน เพราะอย่างไรตนทำแน่ๆ โดยไม่มีนโยบายริดรอนสิทธิใดๆ ของพนักงานมีแต่จะหาทางให้เกิดความยั่งยืนในหน้าที่การงานและสร้างงานต่อไปถึงลูกหลาน โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟจบแล้วต้องมีงานทำ รวมไปถึงการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“รัฐบาลยุคนี้หากอยู่ครบวาระ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ รางขนาด 1 เมตรความเร็ว 160 กม./ชม. รถไฟความเร็วสูง ขนาดราง 1.435 เมตร ความเร็ว 250 กม./ชม. จะสร้างเสร็จหมด รวมถึงจะพัฒนาแก้ปัญหาขาดทุนรถไฟให้ได้ด้วยทุกปัญหามีทางออก”นายสุรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ มีกหนดตรวจเยี่ยมและให้นโยบายรฟท.ในวันที่ 11 ต.ค. 2566