xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน.-ส.อ.ท. จับมือชวนภาคอุตฯ “บริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เป็นประธานเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ “การบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่” บทเวทีเสวนา “Action Together for a Better Thailand : เทิด ด้วย ทำ ประเทศไทย ยั่งยืน” ภายในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมลงนาม

ดร.สุเมธกล่าวว่า สถานการณ์โลกเริ่มจาก Global Warning คือโลกเตือนเรามาก่อนแล้ว ต่อมาคือ Global Warming สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นตามฤดูกาล และปีนี้ทุกคนต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ของโลกที่เป็น Global Boiling ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ได้พระราชทานแนวทางไว้หมดแล้ว ตั้งแต่นภา ผ่านภูผา จนถึงมหานที มีตัวอย่างพื้นที่จริงให้เห็น ฉะนั้นทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ต้องร่วมมือกันดำเนินตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นต่อไป

“จากการน้อมนำแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ ๙ มาปฏิบัติจนเห็นความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และทำให้เกิดพื้นที่ตัวอย่างเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริแล้ว 26 แห่ง นับเป็นความสำเร็จที่ชุมชนดำเนินงานจากล่างขึ้นบน แก้ปัญหาพื้นที่แบบพึ่งตนเอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ จากเขาหัวโล้นเป็นวนเกษตร และปัจจุบันมีน้ำดื่ม น้ำใช้ตลอดปี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ร่วมกับชุมชนกว่า 1,800 หมู่บ้าน บริหารจัดการน้ำ ความสำเร็จนี้ได้เห็นพัฒนาการ ชุมชนเข้มแข็ง มีระบบคิด ระบบงาน ระบบจัดการ ผลที่เกิดขึ้นนี้สำคัญมากกว่าสร้างโครงสร้างต่างๆ เสร็จ วันนี้ผมได้เห็นเครือข่ายความร่วมมือที่จะขยายผล ทำงานตามแนวพระราชดำริให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสำคัญกว่าโครงสร้างที่เราจะร่วมกันสร้างต่อไป” ดร.สุเมธกล่าว


สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำของประเทศในปัจจุบัน ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เกิดเสถียรภาพและมีความมั่นคงต่อความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินงานให้เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน พัฒนา และประยุกต์ใช้คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้บุคลากร เครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจ ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลด้านน้ำให้ครอบคลุมครบถ้วนทุกมิติ รวมไปถึงส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำของ สสน. รวมทั้งดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.

ภายในงานยังมีการนำเสนอการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ Global Boiling โดยผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “Global Boiling ! Changing Management & Resilience” โดย Mr. Marco Toscano-Rivalta, Chief of the Regional Office for Asia and the Pacific จาก United Nations Office for Disaster Risk Reduction (UNDRR) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการร่วมกันดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และ Ms. Caroline Turner, Water Scarcity Programme Manager จาก Food and Agriculture Organization (FAO) ซึ่งได้นำเสนอสถานการณ์ด้านน้ำของประเทศไทย และความสำคัญของการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการทำบัญชีน้ำและการจัดสรรน้ำในประเทศไทย จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “Global Boiling! Working Together 2 Better ESG” โดยมีผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรม ร่วมเสวนา
กำลังโหลดความคิดเห็น