xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เผยข้อเสนอขยาย "สีเหลือง" ไปรัชโยธินจบแล้ว แผนแม่บทเชื่อมสีน้ำเงินที่ลาดพร้าวเดินทางไม่กระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.เผยต่อขยายสีเหลือง "ลาดพร้าว-รัชโยธิน" จบแล้ว ชี้เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมยืนเจรจาแค่เปิดเดินรถ ยันแผนแม่บทโครงข่ายสีเหลืองเชื่อมสีน้ำเงินเดินทางไม่กระทบ ส่วนสีชมพูกำลังทดสอบระบบ งานโยธาต้องเร่งติดตั้งบันไดขึ้น-ลงอีก 3 สถานี คาดเปิดต้นปี 67

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า นับจากโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 2566 ทำให้ข้อเสนอการขอต่อขยายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทางประมาณ 2.6 กม. ของบริษัทอีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานสายสีเหลืองที่ยื่นเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมในการประมูลสิ้นสุดไปด้วย โดยทางเอกชนยืนระยะเวลาข้อเสนอจนถึงการเปิดเดินรถ

ที่ผ่านมา รฟม.และ EBM ได้มีหนังสือหารือกันหลายครั้ง ล่าสุดจากที่ รฟม.ได้มีการติดต่อทางหนังสือไปทางเอกชนนิ่งเฉย จนกระทั่งเปิดเดินรถสายสีเหลือง จึงเท่ากับหมดระยะเวลาของข้อเสนอดังกล่าวไปตามเงื่อนไข

สำหรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเหลือง จากลาดพร้าว-รัชโยธินนั้นเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชน ไม่ได้อยู่ในแผนแม่บทเดิม หรือ M Map ที่วางโครงข่ายสายสีเหลือง สิ้นสุดปลายทางที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว โดยให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ประชาชนสามารถเดินทางต่อเชื่อมได้ ไม่มีผลกระทบและเป็นโครงข่ายระบบรางตามแผนแม่บทที่มีการศึกษาไว้ครบถ้วน

ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีปริมาณผู้โดยสารในวันธรรมดาเฉลี่ย 4 หมื่นคน-เที่ยว/วัน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ย 2.8 หมื่นคน-เที่ยว/วัน ซึ่งลดลงจากช่วงที่เปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรีที่มีกว่า 7 หมื่นคน-เที่ยว/วัน โดย ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นต้องใช้เวลาเพื่อให้ประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง โดยเฉลี่ยผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะเติบโตปีละประมาณ 10% ซึ่งประเมินว่าผู้โดยสารในระดับ 1 แสนคน-เที่ยว/วันจึงจะคุ้มทุน

“รฟม.ได้จ่ายเงินสนับสนุนงานโยธา ปีแรกจำนวน 2,505 ล้านบาทเรียบร้อยแล้วตามเงื่อนไข หลังจากเอกชนเปิดเดินรถเป็นทางการเต็มรูปแบบ (Full Operation) เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะชำระเท่ากันเป็นเวลา 10 ปี ขณะที่ รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เมื่อ EIRR โครงการอยู่ที่ 10% ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าจะเป็นปีที่เท่าไร โดยโครงการมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี


@สีชมพูทดสอบระบบแล้ว คาดเปิดต้นปี 67

ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. รฟม.เร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อให้เปิดเดินรถเร็วที่สุด แต่ต้องมั่นใจว่างานโยธาต้องเสร็จสมบูรณ์ และงานระบบเดินรถผ่านการทดสอบตามมาตรฐานเกณฑ์ความปลอดภัย

ทั้งนี้ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานสายสีชมพู แจ้ง รฟม.เบื้องต้นว่าพร้อมเปิดเดินรถปลายปี 2566 ซึ่งต้องตรวจสอบงานโยธา งานระบบไฟฟ้า และทดสอบเดินรถจนมั่นใจเรื่องความปลอดภัย 100% และวิศวกรอิสระ (ICE) ให้การรับรอง จึงจะให้เปิดเดินรถทางการได้ คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2567 ทั้งนี้ หากเอกชนสามารถเร่งรัดการก่อสร้างและทดสอบระบบจนผ่านเกณฑ์ประเมินความปลอดภัยอาจจะเปิดได้เร็วขึ้นได้

“เอกชนอยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดของงานสถาปัตยกรรมและเตรียมความพร้อมของงานระบบไฟฟ้าในแต่ละสถานี และมีการทดสอบระบบรวมช่วงสุดท้าย
และเริ่มทดสอบเสมือนจริงช่วงแรกแล้ว ส่วนการให้ประชาชนร่วมทดสอบระบบ อยู่ในขั้นตอนการทดสอบเสมือนจริงช่วงสุดท้าย ซึ่งที่ปรึกษาต้องประเมินอีกครั้งว่าเป็นเมื่อใด”

@ ยืดสัญญาโยธาถึง มิ.ย. 66 เร่งติดตั้งบันไดขึ้น-ลง อีก 3 สถานี

นายภคพงษ์กล่าวว่า ล่าสุดมีการขยายสัญญาโยธาสายสีชมพูไปถึง มิ.ย. 2567 ใช้สิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ยังมีงานของสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) ที่ต้องรอ กฟน.เดินสายไฟฟ้าใต้ดินเสร็จก่อน ล่าสุดได้ตัดเปลี่ยนย้ายวงจรการจ่ายไฟฟ้าไปใช้ระบบสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเตรียมรื้อสายไฟฟ้าด้านบน ทางผู้รับเหมาสายสีชมพูจะเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างบันไดทางขึ้น-ลงสถานี ทั้งบันไดเดินเท้า บันไดเลื่อน ลิฟต์

กรณีทางขึ้น-ลง 3 สถานียังไม่เสร็จ แต่ภาพรวมการทดสอบระบบเดินรถทั้งหมด มีความปลอดภัย แล้วเอกชนสามารถเปิดเดินรถให้บริการเป็นบางช่วง และเก็บค่าโดยสารได้ โดยสายสีชมพูจะได้รับจ่ายเงินสนับสนุนค่างานโยธา 2,250 ล้านบาท/ปี โดย รฟม.จะเริ่มจ่ายเมื่อเปิดบริการครบทุกสถานีเต็มรูปแบบ (Full Operation) แล้ว โดยตั้งงบประมาณในปี 2567


กำลังโหลดความคิดเห็น