xs
xsm
sm
md
lg

WeTV วางหมาก OTT ช่องทางเด่น คอนเทนต์ต่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด – ตลาด OTT สุดเดือด คอนเทนต์เพียบ เวลาคนชมจำกัด WeTV วางหมากเด็ด ลุยตลาดปีหน้า ชู 2 กลยุทธ์หลัก เน้นการผลิตคอนเทนต์เองมากขึ้น เพื่อขยายไลเซนส์ในต่างประเทศ ดึง “จ้าวลู่ซือ” เมกะสตาร์ดาวรุ่งจากจีนป็น “โกลบอล แบรนด์แอมบาสเดอร์” หวังขยายฐานตลาด เปิดสถิติผลงานเด็ด


ตลาดรวมของอุตสาหกรรมวิดีโอสตรีมมิง หรือ Over-the-top (OTT) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเซาท์อีสต์เอเชีย (South East Asia /SEA )ถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตที่ดีแต่ก็เป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่รุนแรงเช่นกัน
โดยคาดการณ์กันว่าปี2566นี้ ตลาดรวม OTT ในภูมิภาค SEA นี้จะมีมูลค่าประมาณ 3.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8.59 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 นั่นหมายความว่ามีการเติบโตเฉลี่ย 14% เลยทีเดียว

ด้วยจำนวนประชากรที่มีรวมกันมากกว่า 686 ล้านคน หรือเกือบ 700 ล้านคน พบว่าในปี2565 มีจำนวนผู้ชม OTT มากกว่า 200 ล้านคน มีค่าเฉลี่ยในการใช้บริการชมประมาณ 48.6 ชั่วโมงต่อเดือนต่อคน โดยจำนวนผู้ชมทั้งหมดมีการใช้บริการในการชมคอนเทนต์ประมาณ 97 พันล้านชั่วโมงต่อเดือน

บรรดาผู้ประกอบการหรือผู้เล่นรายหลักๆในตลาดนี้ มีหลายราย แน่นอนว่าย่อมต้องมีค่าย WeTV หรือ วีทีวี อยู่แนวหน้า ทั้่งนี้ วีทีวี มีฐานการตลาดที่แข็งแกร่งอย่างมากในภูมิภาค SEA โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับที่2 มีจำนวนดาวน์โหลดประมาณ 200 ล้านดาวน์โหลด ตลาดหลักๆก็คือ ประเทศไทยกับอินโดนีเซีย
รวมทั้งตลาดOTT ในประเทศไทยด้วยที่ วีทีวี คือผู้นำตลาดในนามบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย ) จำกัด ที่ทำตลาดในไทยมาประมาณ 5 ปีแล้ว


นางสาวกนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานของเทนเซ็นต์ วิดีโอมีการเติบโตสอดคล้องกับ WeTV ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลมาจากภาพรวมของวิดีโอสตรีมมิง หรือ Over-the-top (OTT) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดจากผู้เล่นหลายแบรนด์ในตลาด แต่โอกาสของตลาดก็ยังมีแนวโน้มที่ดีอีกมากเช่นกัน

พร้อมกับย้ำว่า “ตลาดรวมแข่งขันกันสูง การผลิตคอนเทนต์ก็มีเพิ่มมากขึ้นตลอด แต่ขณะที่ผู้ชมก็มีเวลาจำกัด”

ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดนี้ย่อมดุเดือดไม่น้อย กลยุทธ์การทำตลาดที่แตกต่างของแต่ละค่าย ย่อมสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วงชิงเวลาของผู้ชมให้มากที่สุด ด้วยคอนเทนต์เป็นหัวใจหลัก

WeTV ประเทศไทย จึงวางแผนรุกในปีหน้า(2567) จะมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงอีโคซิสเต็ม โดยจะมีสองกลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. กลยุทธ์ด้านออริจินัลคอนเทนต์ หรือ WeTV ORIGINAL
และ 2.กลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ ให้กับผู้ใช้งาน เพื่อเชื่อมบริการจากโลกออนไลน์สู่โลกออฟไลน์แบบครบวงจร และสร้างคอมมูนิตี้ให้แข็งแกร่ง


ทั้งสองกลยุทธ์หลักนี้อยู่ภายใต้การขับเคลื่อนตามแนวคิดที่ว่า กลยุทธ์การสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวของวีทีวี นั่นคือ

สิ่งที่จะทำมากขึ้นคือ การผลิตคอนเทนต์วีทีวีออริจินัล การผลิตวายซีรี่ย์ การผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ และการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในด้านศิลปิน

ขณะที่ สิ่งที่จะทำน้อยลงก็คือ การซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์หรือไลเซ่นส์ การทำแมสซีรี่ย์

“คอนเทนต์ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เราต้องมองหาโมเดลที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและเหมาะสมมากขึ้น” บอสใหญ่ วีทีวีประเทศไทย ย้ำ


แนวทางของกลยุทธ์ คือ 1. กลยุทธ์ด้านออริจินัลคอนเทนต์ หรือ WeTV ORIGINAL นำโดยคอนเทนต์กลุ่มซีรีส์วาย และรายการไอดอลเซอร์ไววัล CHUANG ASIA ที่เป็นเรือธงในการทำตลาด รวมถึงการนำเสนอออริจินัล คอนเทนต์ที่มีความหลากหลายส่งตรงจากเทนเซ็นต์ วิดีโอ สำหรับปี 2023 WeTV จะส่งท้ายปี ด้วยการส่งซีรีส์ “เด็กฝึกหน้าใส เติมหัวใจนายหญิง (Intern in My Heart)” ผลิตโดย บราโว่ สตูดิโอส์ ในเครือ จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์อินเตอร์เนชั่นแนล ไปออกอากาศพร้อมกันกับประเทศจีน

ในปีหน้า WeTV เตรียมผลิตซีรีส์วายที่เป็น WeTV ORIGINAL 6-8 เรื่อง ร่วมกับผู้ผลิตชั้นนำ อาทิ Kongthup Production, Dee Hup House และ Mandeework ฯลฯ

พร้อมกันนี้ WeTV เดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ความบันเทิงครั้งใหญ่ ด้วยการแต่งตั้ง “จ้าวลู่ซือ” เมกะสตาร์ดาวรุ่งจากจีนที่มีผลงานโดดเด่น และมีฐานแฟนคลับทั่วโลกขึ้นเป็น “โกลบอล แบรนด์แอมบาสเดอร์” ซึ่งจะมาช่วยสร้างการรับรู้ของแบรนด์ WeTV ไปยังผู้บริโภคในวงกว้างยิ่งขึ้น อีกทั้งกระแสความนิยมของคอนเทนต์จีนและศิลปินจีนกำลังได้รับความนิยมจากกลุ่ม Gen X, Y และ Z ที่เพิ่มขึ้น

วีทีวี ในวันนี้ เป็นผู้นำในตลาดคอนเทนต์จากเอเชีย ซึ่งมีงานทั้งซีรีส์ อนิเมะ รายการวาไรตี้ จากจีน ไทย เกาหลี และญี่ปุ่น บนแพลตฟอร์มของ WeTV ที่ให้บริการในไทยนั้นมีจำนวนคอนเทนต์รวมกว่า 1,200 คอนเทนต์ ที่มากที่สุดคือ คอนเทนต์จีนที่มากถึง 50% ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ซีรีส์จีนย้อนยุค (60%) และโมเดิร์นดราม่า (40%)


ขณะที่คอนเทนต์ของไทยก็มาแรง ไม่แพ้กัน ที่ผ่านมาสร้างชื่อสร้างฐานตลาดได้มากพอสมควร

“เราจะผลิตคอนเทนต์ไทยมากขึ้นในปีหน้า เนื่องจากผู้ชมคอนเทนต์ไทยเติบโตมากถึง 2.5 เท่า ปีหน้าคาดว่าจะผลิตซีรีส์วายประมาณ 6-8 เรื่อง ที่หลากหลายเพื่อกระจายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ซึ่งแนวทางก็มีทั้งการร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการผลิต การลงทุนร่วมกันในด้านศิลปิน และการให้อินเซนทีฟแบบพิเศษกับพันธมิตรที่ทำคอนเทนต์ที่มีผลตอบรับดี ซึ่งการผลิตคอนเทนต์เองทำให้ราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถทำตลาดได้หลากหลาย เอาไปต่อยอดในต่างประเทศได้หลายช่องทาง ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เหมือนในอดีต ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเราผลิตคอนเทน์ออริจินัลมากถึง 56 เรื่องแล้ว” นางสาวกนกพร กล่าว 

อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของ WeTV ในปี2567 คือ การเปิดตัวเมกะโปรเจกต์เพื่อบุกเบิกรายการไอดอลเซอร์ไววัลระดับเอเชียครั้งแรกจากประเทศไทยกับรายการ CHUANG ASIA รายการไอดอลเซอร์ไววัลชื่อดังจาก Tencent Video เฟ้นหาศิลปินอินเตอร์เนชันแนลไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มแรกที่จะแจ้งเกิดจากประเทศไทย และเปิดเซอร์ไพร์สในการร่วมงานครั้งแรกกับ “แจ็คสัน หวัง” ในบทบาท “Lead Mentor” อีกทั้งยังได้ค่าย RYCE Entertainment มารับหน้าที่ดูแลการเดบิวต์เกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มแรกจากรายการ

นอกจากนี้ CHUANG ASIA ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ Have Fun Media, RYCE Entertainment, one31, GMMTV, และ 411 Entertainment ที่เข้าร่วมเสริมความแข็งแกร่งในด้านการผลิตรายการ และการพัฒนาศักยภาพศิลปินที่ได้เดบิวต์ภายใต้มาตรฐานระดับโลก โดยรายการ CHAUNG ASIA จะเริ่มออกอากาศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 รับชมพร้อมกันทั่วโลกได้ทาง WeTV และออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านช่อง one31 รวมทั้งยังเตรียมออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย”


2.กลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ อาทิ การเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ “Bubble” ที่เปิดให้แฟนๆ สามารถแชทพูดคุยกับศิลปินและดาราที่ชื่นชอบอย่างใกล้ชิด เชื่อมโยงประสบการณ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ และฟีเจอร์สำหรับนักโฆษณาอย่าง New VDO Splash Screen ที่จะช่วยเพิ่ม CTR ได้ถึง 100% เป็นต้น
หากมองดูถึงผลการดำเนินงานของวีทีวีในไทยปี2566 นี้จะพบว่า WeTV ประเทศไทยมีรายได้จากการสมัครสมาชิกแบบ Subscription เติบโตขึ้นถึง 62% มียอดการดาวน์โหลด 45 ล้านครั้ง จำนวนผู้ใช้งาน MAU 13.5 ล้านคน ส่งผลให้เป็นผู้นำอันดับหนึ่งของแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานแบบรับชมโฆษณา (Advertising Video On Demand - AVOD) และผู้นำอันดับสองในส่วนผู้ใช้งานแบบสมัครสมาชิก (Subscription Video On Demand - SVOD)

นอกจากนี้คนไทยนิยมรับชมคอนเทนต์ของ WeTV ผ่านอุปกรณ์ Home Entertainment มากขึ้น โดยมีสัดส่วนเติบโตขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยกลุ่มผู้ใช้งาน เป็นผู้หญิงมากถึง 70% เป็นผู้ชาย 30% โดยกลุ่มอายุหลักคือ ช่วงอายุ 18-44 ปี รองลงมาคืออายุ 45 -54 ปี สัดส่วน 11% อายุ 55-64 ปี สัดส่วน 6% และอายุ 65 ปีขึ้นไป สัดส่วน 4%
การเข้าถึงของผู้ใช้งาน จะใช้บริการผ่าน โมบายแอป 80% มากที่สุด รองลงมาคือ ผ่านแอปทีวี 14% ซึ่งเป็นช่องทางที่เติบโตมากที่สุดถึง 30% เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนผ่านช่องทางสุดท้ายคือ เว๊บไซต์ น้อยที่สุด 6% กลุ่มผู้ใช้งานแบบวีไอพีMAU (Monthly-active user)เติบโต 100% และการเติบโตของรายได้จากการให้บริการสมาชิกแบบ Subscription ในไทย เติบโต 62%

สัดส่วนของผู้ใช้งานแบบวีไอพี ในแต่ละวันมีสัดส่วนประมาณ 25% ซึ่งวางเป้าหมายที่จะผลักดันตัวเลขไง 50% จากกลยุทธ์การตั้งแพคเกจหลายแบบเพื่อให้สามารถเจาะเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นราคา แพคเกจ 129 บาทต่อเดือน, ราคา 339 บาทต่อ 3 เดือน หรือ ราคา 1,200 บาทต่อปี ก็ตาม
ส่วนคอนเทนต์นั้น หากเป็นคอนเทนต์อานิเมะ ที่มีสัดส่วน 21% จากคอนเทนต์ทั้งหมด จะเป็นกลุ่มผู้ชายอายุ 18-34 ปี ชมมากที่สุดสัดส่วน 50% , ส่วนคอนเทนต์จีน ที่มีจำนวนมากถึง 55% จากคอนเทนต์ทั้งหมด จะเป็นกลุ่มผู้หญิงอายุ25-44 ปี ชมมากที่สุดด้วนสัดส่วน 80% ขณะที่ซีรีส์ไทย ที่มีสัดส่วน 24% จากคอนเทนต์ทั้งหมด จะเป็นกลุ่มผู้หญิง อายุ 18-34 ปี ชมมากที่สุดสัดส่วน 90%

ขณะที่ในตลาด SEA ของ WeTV มีจำนวนผู้ใช้งาน MAU (Monthly-active user) เพิ่มขึ้นกว่า 20% และมีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการสมาชิกแบบ Subscription เพิ่มขึ้น 40%

จากแผนกลยุทธ์ทั้งการผลิตออริจินัล คอนเทนต์กับพันธมิตรผู้ผลิตชั้นนำ รวมถึงการเฟ้นหาศิลปิ และนักแสดงมาร่วมงานในโปรเจกต์ของ WeTV โดยจะร่วมมือกับ “เฮดไลเนอร์ ไทยแลนด์” (HEADLINER THAILAND) ธุรกิจบริหารจัดการและพัฒนานักแสดง-ศิลปินแบบ
ครบวงจรที่เปิดโอกาสให้เป็นศิลปินทำงานในวงการบันเทิงไทยและต่างประเทศ ทั้งหมดนี้จะทำให้ WeTV มีอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง อีกทั้งการสร้างประสบการณ์ให้กลุ่มผู้ใช้งาน เรามั่นใจว่าจะสามารถทำให้จำนวนผู้ชมคอนเทนต์ไทยเติบโต
ขึ้น 2.5 เท่าภายในปี 2567

“ขณะเดียวกัน WeTV จะเดินหน้ารักษาการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงที่สุดความบันเทิงคุณภาพแห่งเอเชียอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสานต่อพันธกิจในการผลักดันคอนเทนต์ไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์สู่เวทีโลก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ตลอดจนเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดได้ครบวงจร 360 องศา ให้กับลูกค้า นักการตลาด และมีเดียเอเยนซีชั้นนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางสาวกนกพร กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น