xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยเทกออฟ! รุกเส้นทางบินทั่วโลก ยุบแบรนด์ "ไทยสมายล์" ลดต้นทุนสร้างกำไรแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ หลังมีปัญหาหนี้สิน และผลประกอบการขาดทุนสะสม รวมทั้งต้องเผชิญกับวิกฤต โควิด-19 เมื่อปี 2563 จนต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูมาตามลำดับ ขณะที่หลังโควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจการบินมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ล่าสุดประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยมีกำไรสุทธิที่ 2,273 ล้านบาท และสามารถทำกำไร 4 ไตรมาสต่อเนื่อง ขณะที่สถานะกระแสเงินสดมีถึง 5.7 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% และมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท พลิกจากปีก่อนที่ขาดทุน 6,457 ล้านบาท นับเป็นสัญญาณดีสำหรับการพลิกฟื้นบริษัท

“ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า ทิศทางของการบินไทยเริ่มดีขึ้นตามลำดับ เป็นผลจากการปรับตัว การปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน มีการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ และลูกค้ายังมีความมั่นใจการที่รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าจะทำให้บริษัทฯ ออกจากแผนฟื้นฟูเร็วกว่าที่คาดประมาณ 1 ไตรมาส และหุ้น THAI จะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในปลายปี 67 จากเดิมซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือน ก.พ. 2568
 
ปัจจัยที่ทำให้ “ซีอีโอ” การบินไทยมั่นใจ ไม่ใช่แค่เพียงผลประกอบการที่ดีขึ้น แต่เป็นแผนงานตามแผนฟื้นฟูที่มีการบริหารจัดการ ปรับโครงสร้างองค์กร วิธีการทำงานต่างๆ ใหม่ เพื่อให้มีความคล่องตัว ลดรายได้ และแน่นอน คือการเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเน้นไปที่การเปิดเส้นทางบินที่มีความต้องการเดินทางสูง และมีความสามารถในการทำกำไร

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บมจ.การบินไทย
@ไฮซีซันปี 66 กางแผนบินสู่ 50 เส้นทางทั่วโลก

“ชาย เอี่ยมศิริ” เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไฮซีซันว่า แนวโน้มไตรมาส 4/66 ดีต่อเนื่อง ดีมานด์มากและยังแข็งแรงอยู่ โดยคาดว่าไตรมาส 4/66 จะมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยกว่า 80% และตลาดที่ยังทำรายได้ดี ได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

การบินไทยมีแผนที่จะทำการบินสู่ 50 เส้นทางทั่วโลก ในตารางการบินฤดูหนาว ปี 2566 และเส้นทางบินในประเทศที่ทำการบินแทนไทยสมายล์ 9 เส้นทาง เริ่มวันที่ 29 ต.ค. 2566-30 มี.ค. 2567 รวมทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางบินยอดนิยม ดังนี้

- ฮ่องกง ทำการบินสัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (1 กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 28 เที่ยวบิน)
- สิงคโปร์ ทำการบินสัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (1 กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 35 เที่ยวบิน)
- ไทเป ทำการบินสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน (1 ธันวาคม 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน)
- โซล ทำการบินสัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน
- โตเกียว (นาริตะ) ทำการบินสัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน
- โตเกียว (ฮาเนดะ) ทำการบินสัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน

@เพิ่มความถี่เส้นทางบินยอดนิยม “ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี”

ตอนนี้การบินไทยกลับไปทำการบินสู่ญี่ปุ่นครบทุกเส้นทางที่เคยบินก่อนหน้านี้แล้ว แต่ความถี่ยังไม่เท่าเดิม เช่น โตเกียว (นาริตะ) เดิมเคยบิน 3 เที่ยวบินต่อวัน ตอนนี้ยัง 2 เที่ยวบินต่อวัน จะกลับไป 3 เที่ยวบินต่อวันปลายปีนี้

ในตารางบินฤดูหนาว 2566 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2566-30 มี.ค. 2567 จะทำการบินสู่ประเทศญี่ปุ่น รวม 6 เส้นทาง พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินรองรับปริมาณนักท่องเที่ยว โดยมียอดจองล่วงหน้าช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. ประมาณ 40-50% แล้ว คาดว่าจะมี Cabin Factor เฉลี่ยในช่วงไฮซีซันที่ 80-85%

โดยมีการเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางญี่ปุ่น ได้แก่ ซัปโปโร จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, ฟุกุโอกะ จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, โตเกียว (นาริตะ / ฮาเนดะ) 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ มีแผนที่จะทำ Charter flight ไปยัง Sendai และ Komatsu ในช่วงสิ้นปีนี้

คาดการณ์ว่าความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปยังต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ Covid ได้คลี่คลายมากขึ้นแล้ว ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดมุ่งหมายอันดับต้นๆ สำหรับชาวญี่ปุ่น เพื่อเดินทางไปพักผ่อนหรือติดต่อเจรจาธุรกิจ ซึ่งการบินไทยมีผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ชาวญี่ปุ่นได้อย่างครบถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นตารางบินที่ครอบคลุม เครื่องบินที่ทันสมัยและสะดวกสบาย การบริการตามแบบฉบับไทยที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้โดยสารจะได้รับ ทั้งจากการบินไทยเองและจากพันธมิตรทางธุรกิจ อีกทั้งการบินไทยยังมีเครือข่ายเส้นทางการบินที่ครอบคลุมจุดมุ่งหมายของชาวญี่ปุ่นต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CLMV อินเดีย ปากีสถาน หรือ แม้กระทั่งยุโรป จึงคาดว่าในปี 2567 การเดินทางของชาวญี่ปุ่นมายังไทยน่าจะมีจำนวนมาก


@เปิดเส้นทางใหม่ อิสตันบูล จุดศูนย์กลางเชื่อมเที่ยวบิน "เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา"

วันที่ 1 ธ.ค. 2566 จะเปิดเส้นทางการบินกรุงเทพฯ-อิสตันบูล หลังจากที่การบินไทยได้ลงนามในเอ็มโอยูความร่วมมือกับสายการบิน Turkish Airlines เมื่อช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยทำการบินด้วยเครื่องแอร์บัส A350-900 จำนวน 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ ซึ่งเส้นทางบินไปตุรกี การบินไทยได้หยุดบินไปตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ประเมินสถานการณ์เหมาะสมที่จะกลับมาเปิดใหม่ เพราะอิสตันบูลเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เป็นจุดให้เชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเที่ยวบิน TG 900 จะออกจากกรุงเทพฯ เวลา 23.45 น. ถึงอิสตันบูลเวลา 06.05 น. (เวลาท้องถิ่น) ในวันถัดไปของทุกวัน

“จะใช้เวลา 3 เดือนในการประเมินเส้นทางการบินนี้ คาดการณ์เบื้องต้นว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 75-80% พอเราเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-อิสตันบูลแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือ ออสโลว์ มิลาน ซิดนีย์ และเพิร์ท” นายชายกล่าว

@หวัง "ฟรีวีซ่า" กระตุ้นผู้โดยสารจีนเพิ่ม

จากการประกาศยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าประเทศไทย มีผลตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 ส่งผลให้ยอดจองใน Travel online platform เช่น Ctrip, Tuniu จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เป็นทิศทางที่ดีต่อการตอบรับการเดินทาง รวมทั้งการเดินทางในช่วงวันชาติจีนที่จะถึง ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวแบบเดินทางคนเดียว (FIT) เพิ่มขึ้น และแนวโน้มจะเป็นผู้โดยสารที่มีอายุน้อยเดินทาง ส่วนนักท่องเที่ยวลักษณะกลุ่มใหญ่ (Charter และ GIT) ที่จะเดินทางมาจากเมืองรองเป็นส่วนใหญ่ต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะ

ในส่วนการบินไทยมีเส้นทางสู่ประเทศจีน หลายเมือง แต่ขณะนี้ปริมาณการจองตั๋วล่วงหน้า (Booking) เส้นทางจีนยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยอดจองล่วงหน้ายังไม่เต็ม คือยังต่ำกว่า 80% ดังนั้นจึงยังประเมินยากว่าการบินไทยจะมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน โดยคาดว่าจะมี Cabin Factor เฉลี่ยในช่วงไตรมาส 4 ที่ 70-75%

ทั้งนี้ คงต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงปลายเดือน ก.ย.ต่อเนื่องเดือน ต.ค. 2566 อีกครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวของจีน หรือ Golden Week ที่จะมีการเดินทางของคนจีนมากที่สุดว่าจะมียอดตั๋วเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนและผ่านพ้นช่วงโกลเดนวีกไปแล้ว ปริมาณการเดินทางยังคงมีจำนวนมากต่อไปหรือไม่ หากปริมาณการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนลดลงก็อาจจะมองได้ว่าไม่กระตุ้นมากนัก

สำหรับการแข่งขัน การบินไทย เป็นแบรนด์ที่ดี และแข็งแรงสำหรับคนจีน เพราะตอนนี้เองสายการบินจีนก็ยังมีการบินมาไทยน้อยอยู่ อาจมองว่าทั้งตลาดยังไม่ขยายเหมือนกันตอนนี้ สายการบินของจีนเองก็ยังไม่ทำการบินมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศจีนมีการชะลอตัวด้วย รวมถึงยังไม่มีการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ

ปัจจุบันการบินไทยทำการบินสู่ประเทศจีน 5 เส้นทาง จากเดิม 7 เส้นทาง โดยจะเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางบินจีน ได้แก่ ปักกิ่ง จาก 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, คุนหมิง จาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, เฉิงตู จาก 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยยังไม่บินเมืองเซี่ยเหมิน และฉงชิ่ง, ฉางซา, (ไทยสมายล์เคยบิน) เนื่องจากเครื่องบินมีจำกัด จึงต้องเลือกบินเส้นทางที่มีการตอบรับดีที่สุด


ภาพรวมประมาณการผู้โดยสารในเส้นทางญี่ปุ่น และภาพรวมเส้นทางอื่นๆ ในช่วงไฮซีซันนี้ คือ 1. ญี่ปุ่น Cabin factor 85% 2. จีน Cabin factor 88% 3. ยุโรป Cabin factor 90% 4. ออสเตรเลีย Cabin factor 92% 5. Southern Cabin factor 80% และ 6. Western Cabin factor 82%

“ปัจจุบันการบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดเล็กเกินไปในประเทศไทยที่ 28% (รวมไทยสมายล์) จากก่อนหน้านี้ (ไม่มีสายการบินโลว์คอสต์) การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 30% อย่างไรก็ดี การจะขยายส่วนแบ่งตลาดจำเป็นต้องเพิ่ม Capacity ซึ่งปัจจุบันการบินไทยใช้เครื่องบินเต็มประสิทธิภาพแล้ว” นายชายกล่าว

@ยุบแบรนด์ "ไทยสมายล์" ตัดหนี้กว่า 1 หมื่นล้านลุยฟื้นธุรกิจ

ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจของการบินไทยโดยรวมไทยสมายล์เข้ามานั้น คาดว่าจะเสร็จและโอนเครื่องบินครบ 20 ลำในเดือน ม.ค. 2567 ขณะนี้ได้โอนฝูงบินแอร์บัส A320 ของไทยสมายล์มาแล้ว 4 ลำ เหลืออีก 16 ลำ และทยอยโอนนักบินและลูกเรือและจุดบินมาด้วย โดยที่เริ่มทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศไปแล้ว ได้แก่ ย่างกุ้ง ธากา เวียงจันทน์ และพนมเปญ อาห์เมดาบัด เกาสง ปีนัง และกัลกัตตา เหลือเส้นทางเวียดนาม ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ และเชียงใหม่ จะเริ่มทำการบิน 29 ต.ค. และกาฐมาณฑุ เริ่มทำการบิน 1 ธ.ค. 2566

สำหรับเส้นทางภายในประเทศ การบินไทยจะทยอยทำการบินเส้นทางในประเทศรวม 9 เส้นทาง ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ต.เป็นต้นไป ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี กระบี่ หาดใหญ่ นราธิวาส และภูเก็ต (ซึ่งจะมีเส้นทางภูเก็ต 1 เที่ยวบิน ที่เริ่มทำการบินตั้งแต่ 1 ต.ค. 66 เป็นต้นไป ด้วยโบอิ้ง 777-200ER ที่เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวจากนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล)

“ยุติสายการบินไทยสมายล์ให้เหลือเพียงการบินไทยเพียงแบรนด์เดียว เพื่อให้การดำเนินงานในภาพรวมเดินไปภายใต้ยุทธศาสตร์และทีมบริหารชุดเดียวกัน ส่วนหนี้ไทยสมายล์ที่ค้างอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาทก่อนหน้านี้ได้ตั้งสำรองหนี้สูญไว้แล้ว ซึ่งเมื่อไทยสมายล์ไม่มีความสามารถชำระหนี้ ก็จะตัดเป็นหนี้สูญคาดว่างบปี 67 หนี้ก้อนนี้จะหายไป”


นอกจากนี้ ยังมีแผนการชำระหนี้ให้แก่กลุ่มผู้โดยสารให้ได้รับชำระหนี้ตามมูลค่าบัตรโดยสารที่บันทึกไว้ โดยเริ่มชำระได้ตั้งแต่วันที่ศาลเห็นชอบด้วยแต่ขณะนี้ยังมีหนี้ค้างที่ติดดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้ ราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนฟื้นฟูต้องคืนเจ้าหนี้ตั๋วโดยสารให้เสร็จใน มี.ค. 2567 หลังจากนั้น หากยังคืนไม่หมดการบินไทยต้องนำหลักทรัพย์ไปวางไว้ที่ศาลตามขั้นตอน

“อยากให้ผู้ซื้อบัตรโดยสารเดิมกลับมาเดินทางตามสิทธิ์เพราะราคาตั๋วปัจจุบันสูงกว่าเมื่อก่อน ดังนั้น อยากให้ผู้โดยสารมาใช้ตั๋วเดินทางเพราะคุ้มกว่า และยังคงได้รับสิทธิ์เต็มที่ตามปกติ”

ปัจจุบันมีฝูงบินจำนวน 76 ลำ (เดิม 45 ลำ /จัดหาใหม่ 11 ลำ/โอนจากไทยสมายล์ 20 ลำ) และเป้าหมายฝูงบิน ในปี 2570 มีจำนวน 90 ลำ (จัดหาเพิ่ม 14 ลำ) ขณะเดียวกันเตรียมแผนจัดหาเครื่องบินใน 10 ปีข้างหน้าคาดต้องมีฝูงบิน 100 ลำขึ้นไป

การบินไทยดำเนินการได้ดีตามแผนฟื้นฟู ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร การปรับโครงสร้างทางการเงิน แต่สิ่งสำคัญคือ การหารายได้เพิ่ม การเปิดเส้นทางบินหรือเพิ่มความถี่ในตลาดที่ดี ขณะที่ยังมีฝูงบินเครื่องบินไม่เพียงพอ แม้ทุกสายการบินจะเผชิญปัญหานี้เหมือนกัน แต่หากใครแก้ปัญหาได้เร็วก็จะมีโอกาสทองในการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ !!!


กำลังโหลดความคิดเห็น